คณะมีวิจัยได้สำรวจการรับรู้ของประชาชนหลังถ่ายโอนโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพระดับตำบล (รพ.สต.) จากกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) ไปองค์การบริหารส่วนจังหวัด (อบจ.) เปรียบเทียบระหว่าง 3 เดือน กับ 9 เดือน พบว่า ประชาชน ‘รับรู้มากขึ้น’ ว่า รพ.สต. ไม่ได้อยู่ภายใต้สังกัด สธ. แล้ว โดยประชาชนในพื้นที่รับรู้ว่า รพ.สต. ถ่ายโอนไปยัง อบจ. ร้อยละ 28 ซึ่งเพิ่มมากขึ้นกว่าช่วง 3 เดือนแรกหลังถ่ายโอนฯ มากถึง 2.45 เท่า ซึ่งถือว่ามีนัยสำคัญทางสถิติ
ผลการสำรวจยังพบอีกว่า ประชาชนผู้รับบริการมีทัศนคติเชิงบวกมากขึ้นในด้าน ‘ความเพียงพอของบุคลากร’ ที่สอดคล้องกับความเห็นของผู้ให้บริการ อย่างไรก็ดี ความต้องการที่จะแนะนำให้ญาติหรือคนรู้จักเข้ามาใช้บริการที่ รพ.สต. ตลอดจนความพึงพอใจต่อบริการที่ได้รับนั้น แม้ว่าจะมีความเห็นเป็นเชิงบวก แต่ก็พบว่า ‘ลดลง’ อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ
สำหรับการให้บริการ 1. คลินิกเบาหวาน-ความดันโลหิตสูง 2. เยี่ยมบ้านติดเตียง ยังมีแพทย์-บุคลากรจากโรงพยาบาลสังกัด สธ. มาให้บริการ จึงยังไม่มีผลกระทบ ส่วน ‘ทันตกรรม’ เช่น การถอนฟันหรืออุดฟัน การให้บริการในบางพื้นที่ ‘ลดลง’ ส่วนหนึ่งมาจากบุคลากรที่ยังมีปัญหา