logo

 

มาทำความรู้จัก HITAP

โครงการประเมินเทคโนโลยีและนโยบายด้านสุขภาพ (Health Intervention and Technology Assessment Program) หรือ HITAP (ไฮแทป) ก่อตั้งขึ้นเมื่อปี พ.ศ. 2550 เป็นองค์กรวิจัย กึ่งอิสระ ภายใต้สำนักงานพัฒนานโยบายสุขภาพระหว่างประเทศ สำนักงานปลัดกระทรวงสาธารณสุข และเป็นส่วนหนึ่งของโครงการเมธีวิจัยอาวุโส สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.) มีพันธกิจหลัก คือ ศึกษาผลกระทบทั้งบวกและลบที่เกิดจากการใช้เทคโนโลยีหรือนโยบายด้านสุขภาพ และนำข้อมูลดังกล่าวไปนำเสนอเพื่อใช้ในการตัดสินใจด้านนโยบายของภาครัฐ เช่น คณะอนุกรรมการพัฒนาบัญชียาหลักแห่งชาติ สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติและหน่วยงานต่างๆ ภายใต้กระทรวงสาธารณสุข นอกจากนี้ HITAP ยังทำงานในระดับนานาชาติ โดยเฉพาะในประเทศกำลังพัฒนา โดยเน้นการเข้าไปสนับสนุนการพัฒนาศักยภาพให้ประเทศเหล่านั้นสามารถทำประเมินเทคโนโลยีด้านสุขภาพด้วยตนเอง

การประเมินเทคโนโลยีด้านสุขภาพคืออะไร

การประเมินเทคโนโลยีและนโยบายด้านสุขภาพ หรือ Health Technology Assessment (HTA) หมายถึงการศึกษาผลกระทบด้านบวกและลบที่เกิดขึ้นหรืออาจเกิดขึ้นจากการใช้เทคโนโลยีหรือนโยบายทั้งในปัจจุบันและอนาคต ซึ่งผลกระทบที่พิจารณาอาจรวมถึงผลกระทบด้านสุขภาพ เศรษฐกิจ สังคมและจริยธรรม ข้อมูลเหล่านี้จะช่วยผู้บริหารประกอบการตัดสินใจสำหรับลงทุนหรือจัดสรรทรัพยากรในระบบสุขภาพให้วางอยู่บนหลักฐานข้อมูลเชิงประจักษ์  ซึ่งจะส่งเสริมให้ประชาชนและกลุ่มผลประโยชน์ต่าง ๆ ในสังคมสามารถตรวจสอบ และวิพากษ์การบริหารทรัพยากรสาธารณะได้อย่างถูกต้อง เกิดความโปร่งใส

ทำไมต้องประเมินเทคโนโลยีและนโยบายด้านสุขภาพ

เทคโนโลยีและนโยบายนับเป็นองค์ประกอบสำคัญของระบบสุขภาพ อย่างไรก็ตามเทคโนโลยีและนโยบายด้านสุขภาพมีความหลากหลาย มีการพัฒนาและเปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลา เทคโนโลยีหรือนโยบายที่ใช้ได้ผลดีในสถานที่หนึ่งอาจไม่เหมาะสำหรับอีกสถานที่หนึ่ง ประกอบกับทรัพยากรในระบบสุขภาพมีจำกัดจึงต้องพิจารณาเลือกใช้เฉพาะเทคโนโลยีและนโยบายที่เหมาะสม

ทิศทางการดำเนินงานของ HITAP

จุดมุ่งหมายสูงสุดในการดำเนินงานของ HITAP ได้แก่ การที่สังคมไทย ‘มี’ ‘เข้าถึง’ และ ‘ใช้’ เทคโนโลยีด้านสุขภาพที่เหมาะสม การที่จะบรรลุจุดมุ่งหมายดังกล่าวได้นั้น จำเป็นต้องมีระบบ กระบวนการและหลักเกณฑ์สำหรับการประเมินเทคโนโลยีอย่างมีประสิทธิภาพและโปร่งใสโดยใช้ระเบียบวิจัยที่มีคุณภาพมาตรฐานระดับสากล นอกจากนี้ ยังต้องมีการเผยแพร่ผลการประเมินไปสู่ผู้มีส่วนได้ส่วนเสียกลุ่มต่าง ๆ รวมทั้งผู้กำหนดนโยบาย ผู้ประกอบวิชาชีพ/บุคลากรด้านสุขภาพ และประชาชนทั่วไป เพื่อให้นำผลการประเมินไปใช้ประกอบการตัดสินใจ โดยเฉพาะอย่างยิ่งหน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้ใช้ประโยชน์จากข้อมูลและหลักฐานที่ได้จากการประเมิน เช่น ประสิทธิผล ความปลอดภัย คุณภาพ ประสิทธิภาพและความจำเป็นของการมีและใช้เทคโนโลยีแต่ละชนิด ทั้งนี้ จะต้องมีการพัฒนาระบบและกลไกการประเมินเพื่อสนับสนุนให้เกิดการคัดเลือก จัดหา และบริหารจัดการเทคโนโลยี รวมถึงการกำหนดนโยบายด้านสุขภาพอย่างเหมาะสม

ความเป็นมาของ HITAP

  • พ.ศ. 2550: HITAP ก่อตั้งอย่างเป็นทางการ ภายใต้ชื่อ “โครงการประเมินเทคโนโลยีและนโยบายด้านสุขภาพ” ซึ่งเป็นโครงการพิเศษภายใต้สำนักนโยบายและยุทธศาสตร์ กระทรวงสาธารณสุข
  • พ.ศ. 2551: HITAP สนับสนุนให้มีการพัฒนาเครื่องมือวัดคุณภาพชีวิตสำหรับประเทศไทย ซึ่งเป็นเครื่องมือที่จำเป็นต่อการประเมินเทคโนโลยีด้านสุขภาพ
  • พ.ศ. 2551: HITAP สนับสนุนให้มีการจัดทำรายการต้นทุนมาตรฐาน เพื่อให้นักวิชาการ นักวิจัย และผู้ที่สนใจการวิเคราะห์ต้นทุน ได้มีข้อมูลต้นทุนสำหรับการศึกษาวิจัยต่างๆ
  • พ.ศ. 2552: คณะกรรมการพัฒนาระบบยาแห่งชาติ มอบหมายคณะอนุกรรมการพัฒนาบัญชียาหลักแห่งชาติ ปรับปรุงบัญชียาหลักแห่งชาติ นอกเหนือจากการพิจารณาประสิทธิผลและความปลอดภัยของยา ได้เพิ่มการพิจารณาการประเมินต้นทุน-ประสิทธิผล (Cost-effectiveness) ในการบรรจุยาในบัญชียาหลักแห่งชาติ โดยโครงการประเมินเทคโนโลยีและนโยบายด้านสุขภาพ (HITAP) ทำหน้าที่ในฐานะคณะทำงานด้านเศรษฐศาสตร์สาธารณสุข
  • พ.ศ. 2552: คณะอนุกรรมการพัฒนาสิทธิประโยชน์และระบบบริการ สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) มอบหมายให้ สำนักงานพัฒนานโยบายสุขภาพระหว่างประเทศ (IHPP) และ โครงการประเมินเทคโนโลยีและนโยบายด้านสุขภาพ (HITAP) ในฐานะฝ่ายเลขานุการฯ ดำเนินการศึกษาวิจัยด้วยระเบียบวิธีที่เหมาะสมตามหลักวิชาการเพื่อให้การพัฒนาชุดสิทธิประโยชน์ภายใต้ระบบหลักประกันสุขภาพถ้วน
  • พ.ศ. 2552: HITAP ร่วมกับนักวิชาการด้านการประเมินเทคโนโลยีด้านสุขภาพในประเทศไทย จัดทำคู่มือการประเมินเทคโนโลยีด้านสุขภาพสำหรับประเทศไทย ซึ่งรับรองโดยคณะอนุกรรมการพัฒนาบัญชียาหลักแห่งชาติ ให้ใช้เป็นแนวทางและมาตรฐานการประเมินฯ ของประเทศ
  • พ.ศ. 2553: HITAP ร่วมกับกลุ่มสถาบันแพทยศาสตร์แห่งประเทศไทย (กสพท.) เพื่อส่งเสริมการใช้เทคโนโลยีด้านสุขภาพอย่างสมเหตุผล
  • พ.ศ. 2553: HITAP ร่วมกับหน่วยงานด้านการประเมินเทคโนโลยีด้านสุขภาพประเทศเกาหลี ไต้หวัน และมาเลเซีย ก่อตั้งเครือข่ายเพื่อการประเมินเทคโนโลยีด้านสุขภาพแห่งภูมิภาคเอเชีย (HTAsiaLink)
  • พ.ศ. 2553: มีการก่อตั้งมูลนิธิเพื่อการประเมินเทคโนโลยีและนโยบายด้านสุขภาพ (HITAP Foundation) เพื่อสนับสนุนการทำงานของโครงการประเมินเทคโนโลยีและนโยบายด้านสุขภาพ
  • พ.ศ. 2554: HITAP จัดทำแนวทางการดำเนินงานวิจัยด้านการประเมินเทคโนโลยีด้านสุขภาพ
  • พ.ศ. 2556: HITAP ร่วมสนับสนุนการร่างมติสมัชชาสุขภาพระดับภูมิภาค Resolution of the WHO regional committee for South-East Asia on Health Intervention and Technology Assessment in Support of Universal Health Coverage
  • พ.ศ. 2557: ตั้ง HITAP International Unit (HIU) เพื่อสนับสนุนให้ประเทศต่าง ๆ โดยเฉพาะประเทศกำลังพัฒนา สามารถทำและสร้างระบบประเมินเทคโนโลยีด้านสุขภาพด้วยตนเอง
  • พ.ศ. 2557: HITAP ร่วมสนับสนุนการร่างมติสมัชชาสุขภาพโลก World Health Assembly resolution (WHA67.23) on Health intervention and technology assessment in support of universal health coverage
  • พ.ศ. 2557: HITAP ปรับปรุงเครื่องมือวัดคุณภาพชีวิตและคู่มือการประเมินเทคโนโลยีด้านสุขภาพสำหรับประเทศไทย ฉบับที่ 2 ปีพ.ศ. 2556
  • พ.ศ. 2557: HITAP ในฐานะเลขานุการเพื่อการร่างมติสมัชชาสุขภาพแห่งชาติ เรื่องการพัฒนากระบวนการประเมินและการตัดสินใจการใช้เทคโนโลยีด้านสุขภาพ