logo

ตัวอย่างงานที่สร้างผลกระทบต่อสังคมและประเทศชาติ รวมถึงระดับนานาชาติ

hpv-vaccination-charts.jpg

การพัฒนายุทธศาสตร์และนโยบายสำหรับการป้องกันและควบคุมโรคมะเร็งปากมดลูก

ผลวิจัยพบ การตรวจคัดกรองมะเร็งปากมดลูกคุ้มค่ากว่าการฉีดวัคซีน HPV ผู้กำหนดนโยบายสามารถใช้ผลวิจัยต่อรองราคาวัคซีน และขยายระบบบริการคัดกรองมะเร็งปากมดลูกใครครอบคลุมมากขึ้น

การประเมินต้นทุนทางสังคม สุขภาพ และเศรษฐกิจของการบริโภคเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ในประเทศไทย

ผลวิจัยพบว่าประเทศไทยสูญเสียงบประมาณ 1 แสน 5 หมื่นล้านบาทต่อปี จากปัญหาการดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ หน่วยงานด้านการสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ ใช้ข้อค้นพบจากงานวิจัยในการดำเนินนโยบายป้องกันการดื่มแอลกอฮอล์

cl_thai.png

การประเมินผลกระทบจากมาตรการใช้สิทธิตามสิทธิบัตรยาในประเทศไทย ระหว่างปี 2549 2551

จากการดำเนินนโยบายหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าในปี พ.ศ. 2554 ประกอบกับการดำเนินนโยบายให้ผู้ติดเชื้อเอชไอวีทุกรายในประเทศไทยสามารถเข้าถึงยาต้านไวรัสฟรี ทำให้งบประมาณด้านสุขภาพของประเทศเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง รัฐบาลไทยจึงพิจารณาหามาตรการเพื่อควบคุมการเพิ่มขึ้นของค่าใช้จ่ายด้านสุขภาพ หนึ่งในนั้นคือ มาตรการใช้สิทธิบัตรสำหรับยา 7 รายการที่ประกาศใช้ในปี พ.ศ. 2549-2551 สำหรับการบำบัดโรคมะเร็ง ยาต้านไวรัสเอชไอวี และยารักษาโรคหลอดเลือดหัวใจ ซึ่งก่อให้เกิดข้อโต้แย้งต่าง ๆ มากมาย HITAP จึงทำการศึกษาผลกระทบที่เกิดจากการใช้สิทธิตามสิทธิบัตรยาในด้านสุขภาพ เศรษฐกิจ และสังคมจิตวิทยา เพื่อให้เกิดความชัดเจนในข้อโต้แย้งต่าง ๆ เพื่อใช้เป็นข้อมูลประกอบการพิจารณาสำหรับผู้มีส่วนได้ส่วนเสียจากมาตรการนี้ การศึกษานี้นําไปใช้เป็นเอกสารประกอบการประชุมคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติและนําเสนอต่อคณะอนุกรรมาธิการศึกษาวิเคราะห์ปัญหาการดำเนินการบังคับใช้สิทธิเหนือสิทธิบัตรยา

การประเมินความคุ้มค่าและความเป็นไปได้ของการใช้ยาต้านไวรัสสูตรยา 3 ตัว เป็นสูตรมาตรฐานของการป้องกันการถ่ายทอดเชื้อเอชไอวี จากแม่สู่ลูก

การศึกษาแสดงให้เห็นว่าการใช้ยาต้านไวรัสสูตรยา 3 ตัว ช่วยประหยัดค่าใช้จ่ายในการดูแลรักษาเด็กที่ติดเชื้อเนื่องจากอัตราการถ่ายทอดเชื้อลดลง ส่งผลให้คณะอนุกรรมการพัฒนาระบบการให้บริการผู้ติดเชื้อเอชไอวีหรือเอดส์ สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ มีมติให้ใช้ยาต้านไวรัสสูตรยา 3 ตัวแทนสูตรยา 2 ตัว ในการป้องกันการถ่ายทอดเชื้อเอชไอวีจากแม่สู่ลูกทั่วประเทศ

การประเมินต้นทุนอรรถประโยชน์ของการปลูกถ่ายเซลล์ต้นกำเนิดเม็ดเลือดในการรักษาผู้ป่วยโลหิตจางธาลัสซีเมียชนิดรุนแรง

พบว่าการปลูกถ่ายเซลล์ต้นกำเนิดเม็ดเลือดจากผู้บริจาคซึ่งเป็นพี่-น้องจะมีประสิทธิผลและคุ้มค่ามากกว่าการรักษาแบบอื่น ขณะนี้คณะอนุกรรมการฯ มีมติเห็นชอบในหลักการที่จะบรรจุการรักษาด้วยวิธีดังกล่าวในชุดสิทธิประโยชน์ฯ แต่ให้ศึกษาเพิ่มเติมถึงความเป็นไปได้ในการให้บริการ

การพัฒนาข้อเสนอเชิงนโยบายด้านการสร้างเสริมสุขภาพและป้องกันโรคในกลุ่มเด็กอายุ 0-5 ปี

คณะวิจัยโครงการพัฒนานโยบายสร้างเสริมสุขภาพและป้องกันโรคในเด็กอายุ 0-5 ปี ซึ่งประกอบด้วย ราชวิทยาลัยกุมารแพทย์แห่งประเทศไทย กรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข โครงการพัฒนาการดำเนินการจัดทำเครื่องชี้วัดภาระโรคและปัจจัยเสี่ยงของประเทศไทย และ HITAP ได้รวบรวมและวิเคราะห์ปัญหาสุขภาวะของเด็กไทย พบปัญหาสุขภาวะของเด็กไทย 6 เรื่องสำคัญ ได้แก่ การตั้งครรภ์ที่ไม่พร้อม ภาวะความผิดปกติแต่กำเนิด (ได้แก่ กลุ่มอาการดาวน์ ธาลัสซีเมีย และภาวะพร่องไทรอยด์ฮอร์โมน) พัฒนาการผิดปกติ ภาวะพร่องโภชนาการและภาวะโภชนาการเกิน ภาวะผิดปกติทางสายตาและการได้ยิน และการขาดคุณภาพของศูนย์พัฒนาเด็กเล็ก รัฐบาลนำผลการศึกษาดังกล่าวไปดำเนินโครงการ อนาคตไทย เพื่อการสร้างเสริมสุขภาวะเด็กอายุ 0-5 ปี

glasses1

การพัฒนาระบบคัดกรองภาวะสายตาผิดปกติและประกอบแว่นสายตาสำหรับเด็กวัยก่อนประถมศึกษาและประถมศึกษาในประเทศไทย

ผลจากงานวิจัยพบว่า 1 ใน 10 ของเด็กไทยอายุ 3-12 ปี มีปัญหาการมองเห็นไม่ชัด ยิ่งไปกว่านั้นยังไม่ได้รับการตรวจคัดกรองความผิดปกติทางสายตาและให้การรักษา ด้วยข้อจำกัดของจำนวนบุคลากรทางการแพทย์ (จักษุแพทย์เด็ก) ไม่สามารถตรวจสายตาเด็กไทยทุกคนได้ HITAP จึงร่วมกับราชวิทยาลัยกุมารแพทย์ และราชวิทยาลัยจักษุประเมินความเป็นไปได้ของการให้ครูประจำชั้นเป็นผู้ตรวจคัดกรองสายตาเด็กในเบื้องต้นก่อนส่งให้จักษุแพทย์วินิจฉัยและรักษา ผลจากการวิจัยพบว่ารูปแบบการดำเนินการดังกล่าวจะทำให้เด็กสามารถเข้าถึงการตรวจคัดกรองและได้รับแว่นตาในรายที่จำเป็น กระทรวงสาธารณสุขนำผลวิจัยดังกล่าวไปใช้ในการดำเนินโครงการชัดแจ๋ว ตรวจตาเด็ก เตรียมอนาคตไทย

การศึกษาเพื่อพัฒนาชุดสิทธิประโยชน์ด้านการคัดกรองทางสุขภาพระดับประชากรในประเทศไทย

คนไทยใช้จ่ายเงินจากกระเป๋าตนเองในการตรวจคัดกรองสุขภาพ คิดเป็นมูลค่ารวมกันสูงถึง 2,200 ล้านบาท แต่ยังไม่เคยมีการศึกษาอย่างเป็นระบบว่าชุดตรวจสุขภาพที่เหมาะสมของคนแต่ละวัยควรตรวจ หรือไม่ควรตรวจอะไรบ้าง อีกทั้งระบบประกันสุขภาพถ้วนหน้า และระบบประกันสังคมไม่รวมการให้สิทธิประโยชน์การตรวจสุขภาพไว้ในระบบ HITAP ทำการศึกษาเพื่อพัฒนาชุดสิทธิประโยชน์การตรวจคัดกรองสุขภาพที่เหมาะสมสำหรับคนไทย เพื่อนำเสนอแก่สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติใช้เป็นข้อมูลสนับสนุนการตัดสินใจการพัฒนาชุดสิทธิประโยชน์การตรวจสุขภาพของประชากรไทยในอนาคต

การประเมินความคุ้มค่าและผลกระทบด้านงบประมาณของการรักษาผู้ป่วยโกเช่ร์ด้วยเอนไซม์อิมิกลูเซอเรส

ผลการศึกษาพบว่าการให้การรักษาผู้ป่วยโกเช่ร์ทุกรายด้วยเอนไซม์อิมิกลูเซอเรสยังไม่คุ้มค่าในบริบทประเทศไทย อย่างไรก็ตามยาดังกล่าวเป็นยาเพียงตัวเดียวที่จะใช้รักษาโรคนี้ได้ อีกทั้งเป็นยาราคาแพงที่ก่อให้เกิดภาระต่อครัวเรือนสูงจนอาจล้มละลายได้ คณะอนุกรรมการพัฒนาบัญชียาหลักแห่งชาติ นำผลวิจัยที่ได้ ไปใช้สนับสนุนการพัฒนาระบบร่วมจ่ายระหว่างภาครัฐและเอกชน เพื่อให้ผู้ป่วยสามารถเข้าถึงยาดังกล่าว

ยา peg interferon 2a และ peg interferon 2b สำหรับการรักษาไวรัสตับอักสบซีเรื้อรังชนิดสายพันธุ์ 2 และ 3

ภายหลังการศึกษา มีการนำผลวิจัยไปใช้ประกอบการตัดสินใจบรรจุยา peg interferon 2a และ peg interferon 2b ในบัญชียาหลักแห่งชาติ สำหรับข้อบ่งชี้ในการรักษาโรคไวรัสตับอักเสบซี ชนิดเรื้อรังสายพันธุ์ 2 และ 3 และขณะนี้กำลังอยู่ระหว่างการพิจารณาในข้อบ่งชี้สำหรับสายพันธุ์ 1 และ 6 และสำหรับผู้ติดเชื้อเอชไอวี

การประเมินความปลอดภัยและประสิทธิผลของการฉีด bevacizumab และ ranibizumab เข้าวุ้นตาในการรักษาผู้ป่วยโรคจอตา

ในอดีต จักษุแพทย์นำยา bevacizumab ซึ่งเป็นยาที่จดทะเบียนในข้อบ่งใช้สําหรับรักษาโรคมะเร็ง ไปฉีดเข้าวุ้นตาเพื่อรักษาโรคจุดภาพชัดจอตาเสื่อม เนื่องจากเป็นยาที่มีคุณสมบัติยับยั้งการสร้างสารที่กระตุ้นให้เกิดเส้นเลือดที่งอกผิดปกติ มีลักษณะการออกฤทธิ์ที่คล้ายคลึงกับยา ranibizumab ที่คราสูงกว่าถึง 40 เท่า อย่างไรก็ดีในปี พ.ศ.2555 HITAP ประเมินพบว่ายา bevacizumab มีประสิทธิภาพในการรักษาโรคจุดภาพชัดจอตาเสื่อมไม่ต่างจากการใช้ ranibizumab อีกทั้งมีราคาต่ำกว่า ส่งผลให้คณะกรรมการหลักประกันสุขภาพ (สปสช.) มีมติเห็นชอบเพิ่มรายการยา bevacizumab ในบัญชียา จ (2) ทำให้ผู้ป่วยสามารถเข้าถึงยาได้ ปัจจุบัน HITAP ทำการติดตามการรักษาต่อ เพื่อประเมินความปลอดภัยและประสิทธิภาพของยา คาดว่าผลการศึกษาจะเสร็จสิ้นในปี พ.ศ. 2559

ข่าวเดือน ม.ค. 58-03-01

Asia Pacific Observatory Policy Brief: Conducive factors to the development of Health Technology Assessment in Asia

กลุ่มประเทศรายได้ต่ำ-ปานกลางหลายประเทศกำลังพัฒนาระบบประกันสุขภาพถ้วนหน้าของตนเอง เพื่อให้ประชาชนสามารถเข้าถึงระบบบริการสุขภาพพื้นฐาน อย่างไรก็ดีการนำระบบประกันสุขภาพถ้วนหน้ามาใช้ หมายถึงการเพิ่มขึ้นของค่าใช้จ่ายด้านสุขภาพที่ประเทศต้องแบกรับ เพื่อให้ประเทศมีระบบประกันสุขภาพถ้วนหน้าที่ยั่งยืน แนวคิดการประเมินเทคโนโลยีด้านสุขภาพถูกนำมาใช้เพื่อเป็นเครื่องมือในการจัดลำดับความสำคัญและจัดสรรทรัพยากรสุขภาพอย่างโปร่งใส และเป็นธรรม โครงการวิจัยนี้มีขึ้นเพื่อจัดทำเอกสารข้อเสนอแนะระดับนโยบาย (Policy Brief) ถึงปัจจัยสนับสนุนและอุปสรรคของการพัฒนากระบวนการประเมินเทคโนโลยีด้านสุขภาพ โดยอาศัยข้อมูลจากการประสบการณ์ของ 6 ประเทศในเอเชีย

ข่าวเดือน ม.ค. 58-03-03

International Decision Support Initiative (IDSI):

iDSI เป็นเครือข่ายความร่วมมือระดับนานาชาติ ระหว่างหน่วยงานชั้นนำจากภาครัฐ มหาวิทยาลัย และ กลุ่ม Think Tank ด้านการจัดลำดับความสำคัญของระบบสุขภาพในประเทศต่าง ๆ iDSI เป็นกลุ่มความร่วมมือที่เน้นการทำงานจริงในระดับพื้นที่ เพื่อแลกเปลี่ยนข้อมูลและให้การสนับสนุนให้ประเทศสามารถสร้างสถาบันด้านการจัดลำดับความสำคัญและการประเมินเทคโนโลยีด้านสุขภาพของตนเอง เพื่อท้ายที่สุดประเทศสามารถมีระบบประกันสุขภาพถ้วนหน้าที่ยั่งยืน และมีระบบการตัดสินใจลงทุนด้านสุขภาพที่เหมาะสม  ทั้งนี้ประเทศที่ HITAP ไปร่วมทำงานด้วยได้แก่ อินโดนีเซีย เวียดนาม  ฟิลิปปินส์ เนปาล ศรีลังกา และพม่า เป็นต้น