logo

รหัสโครงการ

67183058RM017L0

คณะผู้วิจัย

นักวิจัยหลัก

นักวิจัยร่วม

รายละเอียดโครงการ

สถานะงานวิจัย

อยู่ระหว่างการทำวิจัย - 40%

จำนวนผู้เข้าชม: 320 คน

วันที่เผยแพร่ 4 กรกฎาคม 2567 03:00

เกี่ยวกับโครงการ

ความเจ็บป่วยทางจิตใจ (mental illness) ถือเป็นปัญหาสำคัญด้านสาธารณสุขที่เกิดขึ้นทั่วโลก และยังส่งผลเพิ่มภาระทางเศรษฐกิจโดยเฉพาะกลุ่มประเทศรายได้น้อยถึงปานกลาง (low – moderate income countries) ปัญหาการระบาดของโรคโควิด-19 ส่งผลให้ปัญหาสุขภาพจิตรุนแรงขึ้น โดยเฉพาะในชุมชนและผู้ป่วยกลุ่มเปราะบาง พบการเพิ่มขึ้นของความชุกของโรคซึมเศร้า ความวิตกกังวล และการใช้สารเสพติด การประเมินสุขภาพจิตเด็กและเยาวชนในประเทศไทยพบร้อยละ 28 ของประชากรวัยเด็กและเยาวชนมีความเครียดสูง และพบถึงร้อยละ 32 เสี่ยงเป็นโรคซึมเศร้า และร้อยละ 22 มีความเสี่ยงต่อการฆ่าตัวตาย ในขณะที่ประเทศไทยมีจิตแพทย์เฉพาะทางสุขภาพจิตเด็กและวัยรุ่นเพียง 200 คนสำหรับประชากรเด็กและวัยรุ่นจำนวน 15 ล้านคน และนโยบายการเว้นระยะห่างทางสังคมทำให้เกิดข้อจำกัดของการรับบริการ จึงส่งผลให้เกิดช่องว่างการเข้าถึงการรักษาเพิ่มมากขึ้น

การบริการการแพทย์ทางไกล (telehealth) มีบทบาทเพิ่มขึ้นอย่างมากในช่วงการระบาดของโควิด-19 การใช้งานเทคโนโลยีระบบบริการด้านจิตวิทยาทางไกล (telepsychology) และการบริการตรวจรักษาจิตเวชทางไกล (telepsychiatry) ช่วยลดข้อจำกัดที่เกิดจากนโยบายการเว้นระยะห่างทางสังคมและช่วยให้ผู้ป่วยเข้าถึงการรักษาได้มากขึ้น แม้ประเทศไทยมีการใช้บริการตรวจรักษาจิตเวชทางไกลเพิ่มขึ้นอย่างมากในปัจจุบัน แต่ยังคงมีข้อจำกัดของโครงสร้างพื้นฐานและบุคลากร ข้อจำกัดทางภูมิศาสตร์ที่ส่งผลการเข้าถึงบริการ ข้อจำกัดด้านงบประมาณจากภาครัฐสำหรับการเสริมสร้างบริการสุขภาพจิต ดังนั้น การพัฒนาและดำเนินกลยุทธ์การป้องกันโรคและส่งเสริมการบริการด้านสุขภาพจิตสาธารณะจึงเป็นสิ่งสำคัญ เพื่อตอบสนองความต้องการในวงกว้างด้านเข้าถึงการบริการตรวจรักษาทางจิตเวชอย่างเท่าเทียม

ทั้งนี้ โครงการประเมินเทคโนโลยีและนโยบายด้านสุขภาพ (HITAP) ได้รับการสนับสนุนทุนวิจัยจากสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (สกสว.) ให้ดำเนินงานวิจัยนี้ โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อประเมินความคุ้มค่าทางเศรษฐศาสตร์ และวิเคราะห์ผลกระทบด้านงบประมาณของการให้บริการตรวจรักษาจิตเวชทางไกล เพื่อเป็นข้อมูลในการพิจารณาจัดสรรงบประมาณและขยายการให้บริการของผู้กำหนดนโยบายและกองทุนหลักประกันสุขภาพ

การศึกษานี้วิเคราะห์ต้นทุนอรรถประโยชน์ของการตรวจรักษาจิตเวชทางไกล ด้วยแบบจำลองทางเศรษฐศาสตร์ในมุมมองทางสังคม และวิเคราะห์ผลกระทบด้านงบประมาณของการตรวจรักษาจิตเวชทางไกลในมุมมองของผู้จ่าย โดยคณะผู้วิจัยจะทำการประกันคุณภาพการศึกษาโดยสอบทานข้อมูลร่วมกับผู้ที่เกี่ยวข้องจากการประชุมผู้เชี่ยวชาญและผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย โดยอ้างอิงจากคู่มือการประเมินเทคโนโลยีด้านสุขภาพสำหรับประเทศไทยฉบับปรับปรุง ปี 2564