logo

รหัสโครงการ

35-3-114-2560

คณะผู้วิจัย

นักวิจัยหลัก

นักวิจัยร่วม

สุรเดช ดวงทิพย์สิริกุล

ดนัย ชินคำ

รายละเอียดโครงการ

สถานะงานวิจัย

งานวิจัยเสร็จสิ้น - 100%

จำนวนผู้เข้าชม: 4443 คน

วันที่เผยแพร่ 29 มีนาคม 2560 11:30

เกี่ยวกับโครงการ

ประเทศไทยได้เข้าสู่สังคมสูงอายุ (aging society) มาตั้งแต่ปี พ.ศ. 2548 โดยในปัจจุบันมีประชากรอายุ 60 ปีขึ้นไปประมาณ 11 ล้านคนหรือคิดเป็นร้อยละ 17 ของประชากรทั้งประเทศ เมื่อเปรียบเทียบจำนวนผู้สูงอายุในกลุ่มประเทศอาเซียน พบว่า ประเทศไทยมีจำนวนผู้สูงอายุมากเป็นอันดับที่ 2 รองจากประเทศสิงคโปร์ และคาดการณ์ว่าในอีกไม่เกิน 5 ปีข้างหน้าหรือราว พ.ศ. 2564 ประเทศไทยจะกลายเป็นสังคมสูงอายุอย่างสมบูรณ์ (complete-aged society) คือมีประชากรสูงอายุร้อยละ 20 และประมาณปี พ.ศ. 2578 จะเป็นสังคมสูงอายุระดับสุดยอด (super-aged society) ซึ่งหมายถึงการมีสัดส่วนประชากรผู้สูงอายุ 60 ปีขึ้นไปมากกว่าร้อยละ 30 ของประชากรทั้งหมด จากแนวโน้มการเพิ่มขึ้นของจำนวนผู้สูงอายุอย่างรวดเร็ว ส่งผลให้ในหลายประเทศเริ่มให้ความสำคัญกับนโยบายต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องกับผู้สูงอายุ โดยเฉพาะด้านสุขภาพเนื่องจากผู้สูงอายุเป็นวัยที่มีความเสื่อมถอยของร่างกาย อวัยวะต่าง ๆ สูญเสียหน้าที่ ก่อให้เกิดความเจ็บป่วย และความผิดปกติมากขึ้นทำให้มีความต้องการการดูแลรักษาด้านสุขภาพเพิ่มขึ้น รวมถึงความต้องการในการใช้บริการการแพทย์ฉุกเฉิน (Emergency Medical Service; EMS) บริการการแพทย์ฉุกเฉินเป็นการให้บริการทางการแพทย์และสาธารณสุข เพื่อให้ผู้ที่มีภาวะเจ็บป่วยเฉียบพลันจากเหตุฉุกเฉินพ้นภาวะวิกฤติ ป้องกันไม่ให้เกิดการความพิการ ภาวะแทรกซ้อน และการสูญเสียชีวิต โดยการจัดการให้ผู้ป่วยฉุกเฉินได้รับการปฏิบัติการฉุกเฉินจนพ้นภาวะฉุกเฉินหรือได้รับการบำบัดรักษาเฉพาะ (definitive care) อย่างทันเวลา และเหมาะสม เริ่มตั้งแต่การดูแลก่อนไปถึงโรงพยาบาล (pre-hospital care) ในขณะที่อยู่ในโรงพยาบาล (in hospital care) และการดูแลระหว่างการส่งต่อไปยังโรงพยาบาลอื่น (inter hospital care) ทั้งในภาวะปกติ และภาวะภัยพิบัติ ปัจจุบันประเทศไทยมีสถาบันการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติ (สพฉ.) เป็นหน่วยรับผิดชอบการบริหารจัดการ ประสานงานระหว่างหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้งภาครัฐและเอกชน รวมถึงส่งเสริมการปกครองส่วนท้องถิ่นให้เข้ามามีบทบาทในการบริหารจัดการการแพทย์ฉุกเฉิน เพื่อให้ผู้ป่วยฉุกเฉินได้รับการคุ้มครองสิทธิในการเข้าถึงระบบการแพทย์ฉุกเฉินอย่างทั่วถึง เท่าเทียม มีคุณภาพมาตรฐาน ตามพระราชบัญญัติ (พรบ.) การแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติ พ.ศ. 2551 จากการศึกษาในต่างประเทศแสดงให้เห็นถึงการใช้บริการการแพทย์ฉุกเฉินของกลุ่มผู้สูงอายุสูงกว่าวัยอื่น ๆ เช่น การศึกษาของ Lowthian JA et al. ในประเทศออสเตรเลีย พบว่า ในปี ค.ศ. 1995 - 2015 ผู้สูงอายุใช้บริการรถฉุกเฉิน (ambulance) มากกว่าวัยอื่น ๆ สูงถึง 8 เท่า และจากการศึกษาของ Keskinoglu P et al. พบผู้สูงอายุมีอัตราการใช้บริการการแพทย์ฉุกเฉินก่อนถึงโรงพยาบาลสูงเป็น 4 เท่าของกลุ่มวัยอื่น นอกจากนี้รายงานของประเทศสวีเดน พบว่า ผู้ที่มาด้วยหน่วยปฏิบัติการฉุกเฉินร้อยละ 52 เป็นกลุ่มผู้สูงอายุที่มีอายุมากกว่าหรือเท่ากับ 65 ปี และมีอีกหลายการศึกษาที่แสดงให้เห็นชัดเจนว่า ผู้สูงอายุเป็นกลุ่มที่มารับบริการรักษาพยาบาลที่แผนกอุบัติเหตุและฉุกเฉินของโรงพยาบาลด้วยหน่วยปฏิบัติการฉุกเฉินมากกว่ากลุ่มผู้ใหญ่วัยแรงงานอย่างมีนัยสำคัญ ด้านสาเหตุของการใช้บริการการแพทย์ฉุกเฉิน จากรายงานวิจัยทั้งในและต่างประเทศพบว่า สาเหตุหลักหรือกลุ่มอาการนำที่ผู้สูงอายุใช้บริการการแพทย์ฉุกเฉิน คือ การหกล้ม (fall) อาการสับสนเฉียบพลัน (delirium หรือ acute confusional state) อาการกำเริบของโรคประจำตัวที่เป็นอยู่เดิม (exacerbation) การติดเชื้อของระบบต่าง ๆ โรคที่เกี่ยวกับหลอดเลือดและระบบไหลเวียนโลหิต ความเจ็บปวด การกระทำรุนแรงต่อผู้สูงอายุ โรคหัวใจ ความผิดปกติของระบบประสาท และความผิดปกติของระบบหายใจ ทั้งนี้สาเหตุหรือกลุ่มอาการนำต่าง ๆ เหล่านี้ล้วนเป็นสาเหตุการเสียชีวิตลำดับต้น ๆและทุพลภาพในผู้สูงอายุ จากการวิเคราะห์ฐานข้อมูลการให้บริการการแพทย์ฉุกเฉินของ สพฉ. ในปี พ.ศ. 2556 – 2559 พบสาเหตุอาการนำลำดับแรกของผู้สูงอายุป่วยฉุกเฉินทั่วไป (Non-trauma) และผู้สูงอายุอุบัติเหตุและบาดเจ็บ (Trauma) คือ ป่วย/อ่อนเพลีย/อัมพาตเรื้อรัง (กลุ่มอาการนำที่ 17) และพลัดตกหกล้ม/อุบัติเหตุ/เจ็บปวด (กลุ่มอาการนำที่ 24) ตามลำดับ โดยกลุ่มอาการนำทั้งสองเป็นปัญหาที่สำคัญที่ทำให้ผู้สูงอายุไม่สามารถช่วยเหลือตนเองได้ ทำให้คุณภาพชีวิตของผู้สูงอายุลดลง จากสถานการณ์แนวโน้มผู้สูงอายุที่เพิ่มมากขึ้น และการเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุระดับสุดยอดประกอบกับงานวิจัยต่าง ๆ ที่แสดงให้เห็นถึงการใช้บริการการแพทย์ฉุกเฉินของกลุ่มผู้สูงอายุมากกว่ากลุ่มวัยอื่น ๆ ดังนั้นหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับการให้บริการการแพทย์ฉุกเฉินต้องมีการเตรียมความพร้อมกับสถานการณ์ดังกล่าว นอกจากนี้กลุ่มผู้สูงอายุเป็นกลุ่มเปราะบาง และอาจมีสาเหตุหรือกลุ่มอาการนำที่ใช้บริการการแพทย์ฉุกเฉินต่างจากกลุ่มวัยอื่น ๆ จึงอาจมีความจำเป็นที่ต้องมีการจัดบริการการแพทย์ฉุกเฉินสำหรับผู้สูงอายุโดยเฉพาะนอกเหนือจากการให้บริการที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน ดังนั้นจึงควรมีการศึกษาเพื่อให้ได้ข้อเสนอหรือแนวทางในการพัฒนาระบบการแพทย์ฉุกเฉินที่เหมาะสมสำหรับผู้สูงอายุในประเทศไทย

เอกสารเพิ่มเติม

กิจกรรมและความเคลื่อนไหว