logo

รหัสโครงการ

61353041R1024F0

คณะผู้วิจัย

นักวิจัยหลัก

นักวิจัยร่วม

สุรเดช ดวงทิพย์สิริกุล

ศุภวรรธน์ เพิ่มผลสุข

รายละเอียดโครงการ

สถานะงานวิจัย

ตรวจสอบผลวิจัย - 97%

จำนวนผู้เข้าชม: 5608 คน

วันที่เผยแพร่ 12 ตุลาคม 2561 11:06

เกี่ยวกับโครงการ

คณะกรรมการแห่งชาติว่าด้วยการป้องกันและแก้ไขปัญหาเอดส์ประกาศใช้แผนปฏิบัติการเร่งรัดการยุติเอดส์ ประเทศไทย พ.ศ. 2558-2562 (Thailand National Operational Plan Accelerating Ending AIDS 2015-2019) ซึ่งได้บูรณาการงานป้องกัน ควบคุม และรักษาโรคเข้าด้วยกัน โดยกำหนดกรอบการทำงานให้อยู่ในรูปแบบของชุดบริการ RRTTPR ซึ่งประกอบด้วย การเข้าถึงกลุ่มประชากรหลัก (Reach – R) การทำให้กลุ่มประชากรหลักเข้าสู่บริการ (Recruit – R) การตรวจหาการติดเชื้อเอชไอวีในกลุ่มประชากรหลัก (Test – T) การรักษาการติดเชื้อเอชไอวีในกลุ่มประชากรหลัก (Treat – T) การทำให้กลุ่มประชากรหลักมีพฤติกรรมป้องกันการติดเชื้อเอชไอวี (Prevent – P) และการทำให้กลุ่มประชากรหลังคงอยู่ในระบบบริการ (Retain – R) ซึ่งกลุ่มประชากรหลัก (key populations) ได้แก่ ชายที่มีเพศสัมพันธ์กับชาย (men who have sex with men – MSM) พนักงานบริการชายและหญิง (male and female sex worker – MSW and FSW) สาวประเภทสอง (transgender- TG) ผู้ใช้สารเสพติดด้วยวิธีฉีด (people who inject drugs- PWID) ผู้ที่อาศัยอยู่กับผู้ติดเชื้อเอชไอวีและผู้ป่วยเอดส์ (people living with HIV - PLHIV) คนต่างด้าว (migrant workers - MWs) และผู้ต้องขัง (prisoners)

 

ที่ผ่านมาองค์กรชุมชน (Community based organizations หรือ CBOs) ในประเทศไทย มีบทบาทสำคัญในการดำเนินการตามกรอบการทำงาน RRTTPR ซึ่งรับเงินสนับสนุนการดำเนินงานจากแหล่งทุนต่างประเทศ ในปัจจุบันสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) ได้เริ่มระบบสนับสนุนการดำเนินงานการตามกรอบข้างต้นให้แก่องค์กรเหล่านี้ แต่พบว่าระบบเบิกจ่ายดังกล่าวไม่เพียงพอและต่ำกว่าต้นทุนการให้บริการต่อครั้งที่เกิดขึ้นจริง อีกทั้งข้อมูลต้นทุนการให้บริการตามกรอบการทำงาน RRTTPR ในกลุ่มประชากรหลักยังไม่มีความแน่ชัด ดังนั้นจึงมีความจำเป็นที่ต้องทำการวิเคราะห์ต้นทุนของมาตรการเหล่านี้เพื่อเป็นข้อมูลประกอบการตัดสินใจเชิงนโยบายในการจัดทำแผนงบประมาณแห่งชาติที่เกี่ยวข้องกับการให้บริการเอชไอวีต่อไป

 

โครงการนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาต้นทุนทางบัญชีละต้นทุนทางเศรษฐศาสตร์ของการจัดบริการเพื่อยุติเอชไอวีตามกรอบการทำงาน RRTTPR ในกลุ่มประชากรหลักในประเทศไทย โดยมาตรการที่กำลังดำเนินการในปัจจุบันสามารถแบ่งได้เป็น 3 รูปแบบหลัก ได้แก่ 1) การให้บริการในโรงพยาบาลรัฐ (Hospital-based model) 2) การดำเนินการร่วมกันระหว่างโรงพยาบาลรัฐและองค์กรไม่แสวงหากำไร เพื่อเพิ่มการเข้าถึงกลุ่มเป้าหมายและทำให้กลุ่มเป้าหมายเข้าสู่บริการ และการจัดคลินิกเคลื่อนที่ (NGOs reach-recruit to hospitals และ Mobile testing service) และ 3) การให้บริการสุขภาพที่มีชุมชนเป็นผู้นำในการขับเคลื่อน (key population-led health services หรือ KPLHS) การศึกษานี้ใช้การเก็บข้อมูลต้นทุนย้อนหลัง (retrospective study) ผ่านมุมมองของผู้ให้บริการ  (Provider perspective) โดยใช้วิธีวิเคราะห์แบบบนลงล่าง (Top-Down Approach) เพื่อวิเคราะห์ต้นทุนต่อหน่วยกิจกรรม (unit cost) การให้บริการตามกรอบ RRTTPR ในหน่วยงาน/สถานพยาบาลที่ให้บริการด้านเอชไอวีจำนวน 13 หน่วยบริการ โดยจะเน้นการวิเคราะห์ต้นทุนทางการเงิน (Financial cost) และต้นทุนทางเศรษฐศาสตร์ (Economic cost) ของการให้บริการในกลุ่มประชากรหลัก

ที่ปรึกษาโครงการ : รศ.ดร.ภก. อาทร ริ้วไพบูลย์ (Arthorn Riewpaiboon)

คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล

[email protected]