logo

รหัสโครงการ

301-355-2554

คณะผู้วิจัย

นักวิจัยหลัก

นักวิจัยร่วม

ธีระ ศิริสมุด

สุทธิษา สมนา

ดร.รุ่งนภา คำผาง

รายละเอียดโครงการ

ยุทธศาสตร์
เทคโนโลยีที่เกี่ยวข้อง
หน่วยงานสนับสนุน
Country

ระยะเวลาโครงการ

เริ่ม: 8 พฤศจิกายน 2559
สิ้นสุด: 8 พฤศจิกายน 2563

ติดต่อ

สถานะงานวิจัย

งานวิจัยเสร็จสิ้น - 100%

จำนวนผู้เข้าชม: 3804 คน

วันที่เผยแพร่ 10 ธันวาคม 2554 17:37

เกี่ยวกับโครงการ

๑. หลักการและเหตุผลของโครงการพัฒนามาตรการเพื่อการป้องกันการฆ่าตัวตาย

            การฆ่าตัวตายและการพยายามฆ่าตัวตายเป็นปัญหาสาธารณสุขที่สำคัญของประเทศไทย จากรายงานของกรมสุขภาพจิตพบว่า ในปี ๒๕๕๒ มีผู้ฆ่าตัวตายสำเร็จรวมทั้งสิ้น ๓,๖๓๔ คน คิดเป็น ๕.๗๒ ต่อประชากร ๑๐๐,๐๐๐ คน  [๑] กลุ่มอายุที่มีอัตราการฆ่าตัวตายมากที่สุดคือช่วงอายุ ๓๐-๔๐ ปี [๒] ซึ่งถือเป็นวัยแรงงานที่สำคัญของประเทศ ส่งผลให้เกิดความสูญเสียทางเศรษฐกิจเป็นอย่างมาก [๓, ๔]

            กรมสุขภาพจิต กระทรวงสาธารณสุขได้ดำเนินการป้องกันและแก้ไขปัญหาดังกล่าวมาอย่างต่อเนื่อง โดยมีกลยุทธ์ที่สำคัญซึ่งประกอบด้วย การพัฒนาระบบบริการดูแลผู้ที่เสี่ยงต่อการฆ่าตัวตาย การพัฒนาบุคลากรสาธารณสุขด้านการอบรมให้คำปรึกษาเชิงลึก การพัฒนาระบบฐานข้อมูลสำหรับการเฝ้าระวังภาวะซึมเศร้าและการฆ่าตัวตาย รวมทั้งมีการศึกษาวิจัยด้านระบาดวิทยาของการทำร้ายตนเองเพื่อการติดตามเฝ้าระวังสถานการณ์ [๕] ซึ่งทั้งหมดนี้ได้ส่งผลให้อัตราการฆ่าตัวตายสำเร็จทั่วประเทศระหว่างปี ๒๕๔๔ ถึง ๒๕๕๒ มีแนวโน้มลดลง อย่างไรก็ตามหากพิจารณาในระดับพื้นที่พบว่าบางแห่งยังมีอัตราการฆ่าตัวตายสูง

            ตั้งแต่ปีงบประมาณ ๒๕๕๑ เป็นต้นมา กรมสุขภาพจิตได้ดำเนินกิจกรรมการให้ความรู้และข้อมูลข่าวสารแก่ประชาชนเพื่อส่งเสริมความรู้ความเข้าใจในเรื่องสุขภาพจิต และป้องกันปัญหาการฆ่าตัวตาย โดยเฉพาะอย่างยิ่งเรื่องที่เกี่ยวกับวิธีการดูแลและเฝ้าระวังผู้มีภาวะซึมเศร้าและเสี่ยงต่อการฆ่าตัวตาย โดยใช้สื่อหลายรูปแบบ เช่น หนังสือ แผ่นพับ โปสเตอร์ หนังสือการ์ตูน และวีซีดีให้ความรู้ในรูปภาพยนตร์สั้น เป็นต้น อย่างไรก็ตามยังไม่มีมาตรการให้ความรู้สู่ประชาชนอย่างเป็นระบบเกี่ยวกับสัญญาณเตือนก่อนการฆ่าตัวตาย รวมถึงแนวทางปฏิบัติเมื่อพบบุคคลใกล้ชิดมีสัญญาณเตือนก่อนการฆ่าตัวตาย

กรมสุขภาพจิตได้ให้ความสำคัญต่อการวิจัยประเมินมาตรการต่างๆ ที่มีวัตถุประสงค์เพื่อป้องกันการฆ่าตัวตาย ซึ่งผลการวิจัยนอกจากจะเป็นประโยชน์ในการกำหนดนโยบายในเรื่องดังกล่าวแล้ว การประเมินมาตรการสามารถแสดงให้เห็นถึงประสิทธิผลของมาตรการ โดยเฉพาะมาตรการสื่อสารซึ่งเป็นมาตรการที่ใช้งบประมาณจำนวนมากแต่ยังขาดหลักฐานที่ชัดเจนว่ามีประสิทธิภาพในการลดปัญหาการฆ่าตัวตาย ซึ่งหากการวิจัยนี้สามารถชี้ให้เห็นหลักฐานดังกล่าวจะสามารถนำไปสู่การปฎิบัติอย่างเหมาะสมและมีประสิทธิภาพ

๒. การวิจัยในระยะที่ ๑

กรมสุขภาพจิตจึงร่วมมือกับโครงการประเมินเทคโนโลยีและนโยบายด้านสุขภาพ (HITAP) โดยการสนับสนุนจากสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) เริ่มดำเนินโครงการพัฒนาและประเมินประสิทธิผลของมาตรการป้องกันการฆ่าตัวตายในประเทศไทยในปี ๒๕๕๓ ในอำเภอป่าซาง จังหวัดลำพูน เพื่อทำความเข้าใจสภาพปัญหา ปัจจัยที่เกี่ยวข้องกับการทำร้ายตนเองในระดับชุมชนและบุคคล สัญญาณเตือนก่อนการฆ่าตัวตาย และระบบบริการสุขภาพ รวมถึงความคิดเห็นของผู้เกี่ยวข้องในชุมชนเกี่ยวกับการป้องกันการฆ่าตัวตาย ซึ่งพบว่าทั้งประชาชน ผู้นำชุมชน และอาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน (อสม.) ขาดความตระหนักถึงความสำคัญของปัญหาการฆ่าตัวตายและการป้องกันแก้ไขปัญหานี้ ตลอดจนขาดทักษะในการเฝ้าระวังและช่วยเหลือ โดยเฉพาะอย่างยิ่งประชาชนไม่ทราบถึงบริการสายด่วนสุขภาพจิตซึ่งเป็นมาตรการที่ได้เริ่มดำเนินการมาระยะหนึ่ง

๓. การวิจัยในระยะที่ ๒

ข้อค้นพบจากการศึกษาข้างต้นได้นำมาซึ่งข้อเสนอแนะในการพัฒนามาตรการเพื่อการป้องกันการฆ่าตัวตายในชุมชนดังนี้ (๑) พัฒนามาตรการสื่อสาร เช่น เสียงตามสาย วิทยุชุมชน หรือการใช้ช่องทางการสื่อสารอื่นๆ ที่เหมาะสมกับบริบทอย่างมียุทธศาสตร์เพื่อให้ความรู้เรื่องสัญญาณเตือนก่อนการฆ่าตัวตาย (รวมถึงควรทำอย่างไรหากพบผู้ที่มีอาการซึมเศร้า หรือความคิดอยากฆ่าตัวตาย) ให้ข้อมูลเกี่ยวกับสายด่วนสุขภาพจิต และแนวทางการปฏิบัติตนเพื่อให้มีสุขภาพจิตที่ดี (๒) พัฒนาเครื่องมือ เช่น คู่มือ/แนวทางปฏิบัติสำหรับผู้นำชุมชนและ อสม. ที่มีความสอดคล้องกับบริการด้านสุขภาพจิตของภาครัฐในพื้นที่ รวมทั้งสอดคล้องกับบริบทของชุมชน และตอบสนองต่อความจำเป็นที่แตกต่างของผู้รับบริการ และ (๓) พัฒนาระบบการให้คำปรึกษาทางโทรศัพท์สายด่วน (hotline) ให้เป็นที่รู้จักของประชาชนและเหมาะสมกับบริบทของพื้นที่ ทั้งนี้ จะดำเนินการในลักษณะของโครงการทดลอง (pilot project) ในพื้นที่จังหวัดเชียงใหม่และลำพูนรวม ๑๘ อำเภอ โดยมีกิจกรรมครอบคลุมการพัฒนามาตรการ การนำมาตรการไปสู่การปฏิบัติ และการประเมินมาตรการทั้ง ระหว่าง และหลังดำเนินมาตรการเพื่อวัดผลลัพธ์ เช่น การรับรู้ ความตระหนัก จนถึงอัตราการฆ่าตัวตาย เปรียบเทียบกับข้อมูลพื้นฐานที่สำรวจก่อนดำเนินมาตรการ

๔. การดำเนินงานในขั้นต่อไป

ในเบื้องต้น HITAP ซึ่งเป็นผู้รับผิดชอบมาตรการที่เกี่ยวข้องกับการสื่อสาร จึงวางแผนจัดประชุมระหว่างผู้เชี่ยวชาญด้านการสื่อสารเพื่อระดมความคิดและข้อเสนอแนะจากผู้มีประสบการณ์เพื่อนำมาออกแบบมาตรการสื่อสาร รวมทั้งวางแผนสำหรับการจัดอบรมบุคลากรในพื้นที่เพื่อปรับมาตรการให้เหมาะสมกับพื้นที่ รวมถึงการวางแผนการนำมาตรการสื่อสารที่พัฒนาแล้วไปสู่การปฏิบัติ

เอกสารเพิ่มเติม

กิจกรรมและความเคลื่อนไหว