logo

รหัสโครงการ

62331048R1027F0

คณะผู้วิจัย

นักวิจัยหลัก

นักวิจัยร่วม

ภญ.เสริมสิริ แสงรุ่งเรืองศรี

ภญ.จุฑามาศ พราวแจ้ง

รายละเอียดโครงการ

สถานะงานวิจัย

อยู่ระหว่างการทำวิจัย - 45%

จำนวนผู้เข้าชม: 2157 คน

วันที่เผยแพร่ 11 มิถุนายน 2563 12:56

เกี่ยวกับโครงการ

ในประเทศไทย มะเร็งปากมดลูกเป็นสาเหตุการเสียชีวิตที่พบได้มากเป็นอันดับ 2 ในสตรีรองจากมะเร็งเต้านม สาเหตุหลักของโรคมะเร็งปากมดลูก คือ การติดเชื้อไวรัสแปปปิโลมา (Human Papillomavirus: HPV) หรือเชื้อเอชพีวี องค์การอนามัยโลกได้แนะนำให้ประเทศสมาชิกมีนโยบายการสร้างเสริมภูมิคุ้มกันโรค ด้วยวัคซีนเอชพีวี ในการป้องกันและควบคุมมะเร็งปากมดลูก โดยเฉพาะประเทศกำลังพัฒนาที่ความสามารถในการตรวจคัดกรองมะเร็งปากมดลูกที่จำกัดหรือมีอัตราความครอบคลุมในการคัดกรองมะเร็งปากมดลูกที่ต่ำ อย่างไรก็ตาม ทั่วโลกประสบปัญหาการขาดแคลนวัคซีนเอชพีวี ซึ่งเกิดจากการลดอัตราการผลิตวัคซีนชั่วคราวจากบริษัทผู้ผลิตและการเปลี่ยนนโยบายการสร้างภูมิคุ้มกันในทั้งเพศหญิงและเพศชายในบางประเทศ สำหรับประเทศไทยเด็กนักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 5 (ป.5) ที่ได้รับการฉีดวัคซีนเข็มแรก ในช่วงของการเริ่มฉีดวัคซีนเมื่อปี พ.ศ. 2560 ไม่ได้รับวัคซีนเข็มที่สองภายในระยะเวลา 6 เดือน ซึ่งปัญหาดังกล่าวส่งผลมายังกลุ่มที่ได้รับวัคซีนเมื่อปีการศึกษา 2561 ที่ได้รับเพียง 1 เข็ม และจะส่งผลกระทบเป็นวงกว้างต่อไปอีกเป็นระยะเวลาหนึ่ง ทำให้องค์กรนานาชาติพิจารณาถึงประสิทธิภาพและความคุ้มค่าของนโยบาย single dose คือ การฉีดวัคซีนเอชพีวีเพียง 1 เข็ม โดยไม่ฉีดเข็มกระตุ้น สำหรับประเทศไทยมีการศึกษาประสิทธิผลของวัคซีนเอชพีวี เรื่อง “A community intervention effectiveness study: single dose or two doses of Bivalent HPV Vaccine (CERVARIX) in female school students in Thailand” (NCT03747770) ซึ่งอยู่ระหว่างการทดสอบประสิทธิภาพ (effectiveness) จากการศึกษาทางคลินิกในประเทศไทยซึ่งเป็นการทดลองแบบเปิด (open label) ใน 2 จังหวัด คือ จังหวัดอุดรธานี ซึ่งนักเรียนชั้น ม. 2 จะได้รับวัคซีนเอชพีวีจำนวน 1 เข็ม และจังหวัดบุรีรัมย์ ซึ่งนักเรียนชั้น ม. 2 จะได้รับวัคซีนเอชพีวีจำนวน 2 เข็ม ในอดีตมีการศึกษาความคุ้มค่าของนโยบายการป้องกันโรคมะเร็งปากมดลูกในประเทศไทย อย่างไรก็ตามการศึกษาดังกล่าวเก็บข้อมูลต้นทุนในปี พ.ศ. 2549-2550 ซึ่งต้นทุนทางเศรษฐศาสตร์และคุณภาพชีวิตของผู้ป่วยมะเร็งที่ใช้ในการศึกษาสะท้อนแนวทางการรักษาโรคมะเร็งปากมดลูกในอดีต ซึ่งอาจจะไม่สอดคล้องกับแนวทางการรักษาโรคนี้ในปัจจุบัน อีกทั้ง ยังไม่มีการวิเคราะห์ต้นทุน (cost analysis) ที่เกี่ยวข้องกับกิจกรรมทั้งหมดในโครงการฉีดวัคซีนและการตรวจคัดกรองมะเร็งปากมดลูกด้วยแนวทางใหม่ภายใต้นโยบายระดับชาติดังกล่าว ดังนั้นเพื่อให้การตัดสินใจเชิงนโยบายของประเทศไทย เกิดจากการใช้หลักฐานเชิงประจักษ์และอยู่บนบริบทของไทย จึงเกิดการศึกษาเรื่องการประเมินต้นทุนอรรถประโยชน์ของนโยบายการฉีดวัคซีนเอชพีวี 1 เข็ม โดยการสนับสนุนงบประมาณจาก International Vaccine Institute (IVI) การศึกษานี้ประกอบด้วย 3 ส่วนตามวัตถุประสงค์หลัก ได้แก่ 1) การศึกษาต้นทุนของโครงการสร้างเสริมภูมิคุ้มกันด้วยวัคซีนเอชพีวี และโครงการตรวจคัดกรองมะเร็งปากมดลูก 2) การศึกษาต้นทุนความเจ็บป่วยและคุณภาพชีวิตของผู้ป่วยโรคมะเร็งปากมดลูก และ 3) การประเมินต้นทุนอรรถประโยชน์ของนโยบายการสร้างเสริมภูมิคุ้มกันด้วยวัคซีนเอชพีวี 1 เข็ม การศึกษานี้มีการเก็บรวบรวมข้อมูลหลายวิธี ได้แก่ 1) การสัมภาษณ์ตามแบบสอบถาม การใช้แบบเก็บสอบถามชนิดตอบด้วยตนเอง และการใช้ข้อมูลจากฐานข้อมูลและเอกสารของหน่วยงาน เพื่อให้ทราบต้นทุนของการให้บริการฉีดวัคซีนเอชพีวี และการตรวจคัดกรองโรคมะเร็งปากมดลูก 2) การสัมภาษณ์ผู้ป่วยและการทบทวนเวชระเบียนของผู้ป่วยโรคมะเร็งปากมดลูก เพื่อให้ทราบข้อมูลต้นทุนทางตรงทางการแพทย์ ต้นทุนทางตรงที่ไม่เกี่ยวข้องกับทางการแพทย์ ตลอดจนข้อมูลคุณภาพชีวิตของผู้ป่วย นอกจากนี้ยังมีการรวบรวมข้อมูลโดยการวิเคราะห์ข้อมูลทุติยภูมิ และการทบทวนเอกสารวิชาการและวรรณกรรมอีกด้วย   ที่ปรึกษาโครงการ ดร. ภญ.นัยนา ประดิษฐ์สิทธิกร, รศ.ดร.ภก. อาทร ริ้วไพบูลย์, รศ. ดร. ภญ.อุษา ฉายเกล็ดแก้ว และ รศ. ดร. ภญ.มนทรัตม์ ถาวรเจริญทรัพย์