logo
ต้องการข้อมูลเพิ่มเติม ติดต่อฝ่ายสื่อสารองค์กร HITAP
เจาะลึกต้นทุนขับเคลื่อนนโยบายสร้างเสริมสุขภาพและป้องกันโรค “ต้นทุนต่างกันมาจากปัจจัยที่แตกต่าง”

นโยบายสร้างเสริมสุขภาพและป้องกันโรคถือเป็นอีกก้าวสำคัญของงานสาธารณสุขไทย ข้อมูลต้นทุนสำหรับหน่วยงานเพื่อบริหารให้เกิดนโยบายดังกล่าวจึงเป็นสิ่งสำคัญ

คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดลร่วมกับสำนักงานกลางสารสนเทศบริการสุขภาพ โรงพยาบาลพระทองคำเฉลิมพระเกียรติ ๘๐ พรรษา จังหวัดนครราชสีมา โรงพยาบาลบ้านหมอ จังหวัดสระบุรี โรงพยาบาลลำปาง และสถาบันพระบรมราชชนก กระทรวงสาธารณสุข ดำเนินการจัดทำรายงานวิจัยโครงการ “การวิเคราะห์ต้นทุนการบริการสร้างเสริมสุขภาพและป้องกันโรค” ได้รับการสนับสนุนจากสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) และสำนักงานปลัด กระทรวงสาธาณสุข มีวัตถุประสงค์เพื่อจัดทำข้อมูลต้นทุนการบริการสร้างเสริมสุขภาพและป้องกันโรคที่ดำเนินการโดยโรงพยาบาลชุมชนและโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล สำหรับคณะกรรมการควบคุมคุณภาพและมาตรฐานใช้ในการกำหนดราคากลางในการจัดสรรงบประมาณ

การศึกษาครั้งนี้เป็นการประเมินต้นทุนทางเศรษฐศาสตร์ด้วยแนวคิดการประเมินต้นทุนอิงการปฏิบัติงานจริง (Empirical costing approach) โดยต้นทุนที่ศึกษาประกอบด้วย ค่าแรง (เงินเดือน และค่าตอบแทนอื่น ๆ) ค่าวัสดุ (ค่าวัคซีน ยา และอื่น ๆ ) และค่าการใช้ทรัพย์สินถาวรหรือค่าลงทุน (ครุภัณฑ์ ยานพาหนะ อาคาร สิ่งก่อสร้าง) ทั้งต้นทุนทางตรงที่ใช้โดยหน่วยที่ให้บริการ และต้นทุนทางอ้อมที่จัดสรรมาจากหน่วยที่ให้การสนับสนุน ครอบคลุมแหล่งที่มาของงบประมาณที่สปสช. กำหนดรายการค่าใช้จ่ายการบริการสร้างเสริมสุขภาพและป้องกันโรคทั้งหมด

ผลการศึกษาพบว่า ค่าต้นทุนต่อหน่วยของกิจกรรมเดียวกันที่ดำเนินการโดยโรงพยาบาลชุมชน จะมีค่าสูงกว่าที่ดำเนินการโดยโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล และที่ดำเนินการโดยโรงพยาบาลประเภทเดียวกับบางรายการจะมีค่าต้นทุนที่แตกต่างกันมาก เนื่องจากบริบทที่แตกต่างกันและงานส่งเสริมสุขภาพและป้องกันโรคจำเป็นต้องปรับตามบริบท ซึ่งส่งผลให้มีลักษณะการปฏิบัติงานและการใช้ทรัพยากรที่แตกต่างกัน รวมทั้งปัจจัยพื้นที่ เช่น จำนวนเจ้าหน้าที่ และอายุการการทำงานที่ส่งผลต่อเงินเดือนก็แตกต่างกัน

สามารถติดตามอ่านงานวิจัยเพิ่มเติมได้ที่นี่ https://www.hitap.net/documents/173387

28 ธันวาคม 2561

Next post > HITAP ยินดีที่ได้มีส่วนช่วย "ประเทศเคนยา" พัฒนาหลักประกันสุขภาพ

< Previous post HITAP วิจัยพบหลัง “หลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า” คนไทยจ่ายค่ารักษาพยาบาลลดลง แต่ซื้อ “อาหารเสริม ยาบำรุง วิตามิน” เพิ่มกว่า 10 เท่า! แนะรัฐต้องจับตา

Related Posts