เพดานความคุ้มค่าในการพัฒนาบัญชียาหลักแห่งชาติ: จากผลการวิจัยสู่ทิศทางที่เป็นไปได้ในอนาคต

ในวันที่ 22 มกราคม พ.ศ. 2568 มูลนิธิเพื่อการประเมินเทคโนโลยีและนโยบายด้านสุขภาพ (HITAP Foundation) ได้จัดการประชุมผู้เชี่ยวชาญและผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย เพื่อนำเสนอผลจากโครงการวิจัยที่ทำการศึกษาเกี่ยวกับเพดานความคุ้มค่าของประเทศไทยในแง่มุมต่าง ๆ ประกอบด้วย 3 โครงการ ได้แก่ 1) โครงการ “ผลกระทบของการเพิ่มเพดานความคุ้มค่าที่มีต่อราคายา การตัดสินใจคัดเลือกยาเข้าบัญชียาหลักแห่งชาติ และภาระงบประมาณของกองทุนประกันสุขภาพต่าง ๆ ในประเทศไทย” 2) โครงการ “การศึกษาเชิงคุณภาพของการกำหนด การใช้ และการเปลี่ยนแปลงเพดานความคุ้มค่าสำหรับพัฒนาบัญชียาหลักแห่งชาติ” และ 3) โครงการ “การประเมินส่วนแบ่งผลได้ทางสุขภาพระหว่างระบบสุขภาพและภาคอุตสาหกรรมของยาราคาแพงในประเทศไทย” พร้อมรับฟังข้อคิดเห็นต่อผลการศึกษาเบื้องต้น โดยมี ดร. นพ.วิโรจน์ ตั้งเจริญเสถียร รองประธานมูลนิธิเพื่อการพัฒนานโยบายสุขภาพระหว่างประเทศ (IHPF) และประธานคณะอนุกรรมการกำหนดประเภทและขอบเขตในการให้บริการสาธารณสุข ให้เกียรติเป็นประธานการประชุมในครั้งนี้ พร้อมด้วยตัวแทนจากหน่วยงานจากภาครัฐและเอกชน ได้แก่ ชมรมผู้ป่วยโรคเลือดออกง่ายฮีโมฟีเลียแห่งประเทศไทย มูลนิธิโรคพันธุกรรมแอลเอสดี สมาคมเพื่อนโรคไตแห่งประเทศไทย สมาคมผู้วิจัยและผลิตเภสัชภัณฑ์ (PReMA) สมาคมการค้ายูโรเปียนเพื่อธุรกิจและการพาณิชย์ (EABC) กรมบัญชีกลาง สำนักงานประกันสังคม กองนโยบายแห่งชาติด้านยา สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ สถาบันวัคซีนแห่งชาติและกรมควบคุมโรค
เพดานความคุ้มค่า เครื่องมือสำคัญในการขับเคลื่อนนโยบายสาธารณสุข
เพดานความคุ้มค่า (Cost-effectiveness threshold: CET) เป็นเครื่องมือที่ใช้ประกอบการตัดสินใจในระดับนโยบายเพื่อพิจารณาบรรจุรายการยาในบัญชียาหลักแห่งชาติและชุดสิทธิประโยชน์ในระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า โดยเพดานความคุ้มค่าถูกใช้เป็นเกณฑ์มาตรฐานสำหรับการแปลผลการประเมินความคุ้มค่าทางเศรษฐศาสตร์สาธารณสุข
ประเทศไทยได้เริ่มกำหนดค่าเพดานความคุ้มค่าที่ 100,000 บาทต่อปีสุขภาวะตั้งแต่ปี พ.ศ.2551 โดยใช้การอ้างอิงค่า 1-3 เท่าของผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศต่อหัวประชากร (Gross Domestic Product (GPD) per capita) ต่อมาได้มีการปรับเพดานความคุ้มค่าไปที่ 120,000 บาทต่อปีสุขภาวะ ในปี พ.ศ. 2555 โดยเปลี่ยนไปใช้การอ้างอิงค่ารายได้ประชาชาติต่อหัวประชากร (Gross National Income (GNI) per capita) จากนั้นได้มีการปรับแก้ไขอีกครั้งในปี พ.ศ. 2556 โดยเพิ่มเพดานความคุ้มค่าเป็น 160,000 บาทต่อปีสุขภาวะ และมีการอ้างอิงผลการศึกษาความเต็มใจจ่ายของคนไทย ซึ่งเป็นค่าที่ยังคงใช้อย่างต่อเนื่องมาจนถึงปัจจุบัน
เพดานความคุ้มค่า จึงเป็นประเด็นที่ต้องศึกษาทำความเข้าใจถึงความเป็นมาของการกำหนด การใช้ และการเปลี่ยนแปลงค่าเพดานความคุ้มค่าในประเทศไทย รวมทั้งการศึกษาวิเคราะห์ผลกระทบหากมีการเพิ่มเพดานความคุ้มค่า และการวิเคราะห์ผลกระทบด้านงบประมาณในซื้อยาราคาแพงทั้งที่คุ้มค่าและไม่คุ้มค่า อันจะนำไปสู่การอภิปรายทิศทางของเพดานความคุ้มค่าในประเทศไทยต่อไป
ข้อค้นพบจากงานวิจัย สู่ความเข้าใจถึงผลกระทบของเพดานความคุ้มค่า
การนำเสนอเริ่มต้นจากโครงการวิจัยเรื่อง “ผลกระทบของการเพิ่มเพดานความคุ้มค่าที่มีต่อราคายา การตัดสินใจคัดเลือกยาเข้าบัญชียาหลักแห่งชาติ และภาระงบประมาณของกองทุนประกันสุขภาพต่าง ๆ ในประเทศไทย” ที่ต้องการหาคำตอบว่าการเพิ่มเพดานความคุ้มค่าจะเพิ่มโอกาสที่ยาใหม่ได้รับการบรรจุในบัญชียาหลักแห่งชาติหรือไม่ โดยผลการวิจัยพบว่า การปรับเพิ่มเพดานความคุ้มค่ามีผลกระทบต่อราคายาที่ใช้ในการศึกษาความคุ้มค่าและการตัดสินใจของคณะอนุกรรมการฯ ในการบรรจุยาใหม่เข้าบัญชียาหลักแห่งชาติอย่างไม่มีนัยสำคัญทางสถิติ จึงนำไปสู่ข้อสรุปว่ายังไม่มีความจำเป็นต้องปรับเพิ่มเพดานความคุ้มค่า เนื่องจากยังไม่มีหลักฐานที่สนับสนุนว่าการปรับเพิ่มจะมีผลต่อการตัดสินใจของคณะอนุกรรมการฯ และช่วยเพิ่มการเข้าถึงยาใหม่ผ่านบัญชียาหลักแห่งชาติ (อ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ Policy Brief ฉบับที่ 157)
จากผลการวิจัยข้างต้นจึงนำไปสู่การศึกษาเชิงคุณภาพในลำดับถัดมา คือ“การศึกษาเชิงคุณภาพของการกำหนด การใช้ และการเปลี่ยนแปลงเพดานความคุ้มค่าสำหรับพัฒนาบัญชียาหลักแห่งชาติ” ซึ่งผลการวิจัยทำให้เข้าใจประวัติศาสตร์ของเพดานความคุ้มค่า สะท้อนให้เห็นถึงประโยชน์ในการใช้เพดานความคุ้มค่าเป็นเกณฑ์ในการพิจารณา/แปลผลการศึกษาความคุ้มค่าฯ และการต่อรองราคายา อย่างไรก็ตาม เพดานความคุ้มค่าไม่ใช่เกณฑ์เดียวในการตัดสินใจ คณะอนุกรรมการฯ พิจารณาคัดเลือกยาจากหลายเกณฑ์ โดยพิจารณาความคุ้มค่าเป็นอันดับแรก หากไม่ผ่านเกณฑ์ดังกล่าวจะไม่ถูกพิจารณาด้วยเกณฑ์อื่น ดังนั้นการเปลี่ยนแปลงเพดานความคุ้มค่าจึงอาจไม่มีผลต่อการตัดสินใจของคณะอนุกรรมการฯ
นอกจากนี้ ได้มีการศึกษาเรื่อง “การประเมินส่วนแบ่งผลได้ทางสุขภาพระหว่างระบบสุขภาพและภาคอุตสาหกรรมของยาราคาแพงในประเทศไทย” เพื่อทำความเข้าใจในประเด็นเรื่องใช้งบประมาณซื้อยาใหม่ทั้งที่คุ้มค่าและไม่คุ้มค่าของภาครัฐ จะก่อให้เกิดประโยชน์ต่อภาคส่วนต่าง ๆ มากน้อยเพียงใด ระหว่างผลได้ทางสุขภาพของประชาชนโดยรวม และกับผลได้ในภาคส่วนอุตสาหกรรมยา ซึ่งผลการวิจัยพบว่า การใช้งบประมาณซื้อยาที่คุ้มค่ามีแนวโน้มให้ผลประโยชน์สูงสุดแก่ประชาชน ในทางตรงกันข้าม หากใช้งบประมาณซื้อยาที่ไม่คุ้มค่า จะทำให้ผลประโยชน์สูงสุดตกอยู่ที่ภาคอุตสาหกรรมยาแทน ขณะที่ประชาชนเสียโอกาสที่จะมีสุขภาพดีขึ้น เพราะงบประมาณที่ใช้ซื้อยาที่ไม่คุ้มค่า อาจสามารถนำไปลงทุนในโครงการด้านสุขภาพอื่นหรือซื้อยาอื่นที่คุ้มค่า ซึ่งอาจทำให้สุขภาพของประชาชนโดยรวมดีขึ้นได้มากกว่า ผลจากการศึกษาดังกล่าวเน้นย้ำความสำคัญของการกำหนดเพดานความคุ้มค่าที่เหมาะสม และสนับสนุนว่า การเพิ่มเพดานความคุ้มค่าอย่างเดียวนั้นยังไม่ใช่แนวทางการแก้ปัญหา เพราะหากเกณฑ์ดังกล่าวไม่ได้สะท้อนถึงค่าเสียโอกาสในการลงทุนด้านสุขภาพ (health opportunity cost: HOC) ประชาชนก็อาจจะสูญเสียประโยชน์จากการลงทุนด้านสุขภาพมากขึ้น (อ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ Policy Brief ฉบับที่ 186)
บทสรุปของเพดานความคุ้มค่าในไทย
จากการนำเสนอผลการวิจัยและการหารือกับผู้เชี่ยวชาญและผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย จนนำไปสู่การสรุปข้อเสนอแนะจากงานวิจัยว่า ประเทศไทยควรใช้เพดานความคุ้มค่าเป็นค่ามาตรฐานเพียงค่าเดียวสำหรับทั้ง
3 กองทุนสุขภาพของประเทศไทยและครอบคลุมทุกเงื่อนไข โดยที่ประชุมเห็นชอบว่าควรคงค่าเพดานความคุ้มค่าที่ 160,000 บาทต่อปีสุขภาวะไว้ตามเดิม อย่างไรก็ดี นอกจากมิติด้านความคุ้มค่าแล้ว ควรมีการพิจารณามิติด้านอื่น ๆ ควบคู่กันไปด้วย เช่น ความเสมอภาคในการเข้าถึง ผลกระทบด้านงบประมาณ ตลอดจนความพร้อมหรือความเป็นไปได้ของระบบบริการ นอกจากนี้ หากมีการปรับเพดานความคุ้มค่าในอนาคต ควรอาศัยหลักฐานทางวิชาการมาสนับสนุน พร้อมด้วยการมีส่วนร่วมจากทุกภาคส่วนในการตัดสินใจร่วมกัน เพื่อให้ประชาชนได้ประโยชน์สูงสุด