logo

รหัสโครงการ

61023011R1002L0

คณะผู้วิจัย

นักวิจัยหลัก

นักวิจัยร่วม

กรกนก ถ่ายสูงเนิน

สลักจิต ชื่นชม

รายละเอียดโครงการ

สถานะงานวิจัย

ตรวจสอบผลวิจัย - 90%

จำนวนผู้เข้าชม: 3756 คน

วันที่เผยแพร่ 3 มกราคม 2562 09:40

เกี่ยวกับโครงการ

ในประเทศไทย ความชุกของโรคโลหิตจางธาลัสซีเมียเป็นร้อยละ 1 ของประชากร และมีผู้ที่เป็นพาหะของโรคโลหิตจางธาลัสซีเมียร้อยละ 40 ของประชากร ความรุนแรงของโรคมีตั้งแต่ทารกเสียชีวิตขณะอยู่ในครรภ์หรือเสียชีวิตภายในไม่กี่ชั่วโมงหลังคลอด หรือไม่ทำให้เสียชีวิตแต่ทำให้คุณภาพชีวิตของผู้ป่วยลดลงและสิ้นเปลืองค่าใช้จ่ายในรักษาอย่างมาก ที่ผ่านมากระทรวงสาธารณสุขได้ประกาศแผนงานธาลัสซีเมียแห่งชาติปี พ.ศ. 2550-2554 เพื่อให้เด็กไทยที่เกิดใหม่ป่วยเป็นโรคโลหิตจางธาลัสซีเมียชนิดรุนแรงลดลงและผู้ป่วยได้รับการรักษาเพื่อให้มีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น ต่อมา สปสช. ได้ดำเนินแผนกลยุทธ์การป้องกันและควบคุมโรคโลหิตจางธาลัสซีเมีย พ.ศ. 2557-2559

อย่างไรก็ตาม ผลการดำเนินโครงการป้องกันและควบคุมโรคโลหิตจางธาลัสซีเมียในหญิงตั้งครรภ์ยังต่ำกว่าที่ควรจะเป็น ในปี พ.ศ.2561 โครงการประเมินเทคโนโลยีและนโยบายด้านสุขภาพ (HITAP) ได้รับมอบหมายจาก สปสช. ให้ประเมินการดำเนินโครงการป้องกันและควบคุมโรคโลหิตจางธาลัสซีเมียในหญิงตั้งครรภ์ โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อประเมินผลผลิต (output) ของการดำเนินงานในแต่ละขั้นตอนของการให้บริการป้องกันและควบคุมโรคโลหิตจางธาลัสซีเมียในหญิงตั้งครรภ์ประกอบด้วย การให้คำปรึกษาในคลินิกฝากครรภ์ (ANC) การตรวจคัดกรองพาหะ การตรวจยืนยันโรค การตรวจวินิจฉัยทารกในครรภ์ และการยุติการตั้งครรภ์กรณีพบว่าทารกเป็นโรคโลหิตจางธาลัสซีเมียชนิดรุนแรง รวมถึงการประเมินผลลัพธ์ (outcome) ของการดำเนินงานและศึกษาปัจจัยสนับสนุน อุปสรรค และปัญหาของการดำเนินโครงการฯ การประเมินนี้ใช้วิธีการวิจัยเชิงปริมาณและเชิงคุณภาพ โดยคัดเลือกพื้นที่ศึกษาตามเขตภูมิภาค 4 ภาค ได้แก่ ภาคเหนือ ภาคกลาง ภาคใต้ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และตามเขตสุขภาพและระดับจังหวัดจำนวน 8 จังหวัด

สำหรับการวิจัยเชิงปริมาณ ผู้ประเมินเก็บรวบรวมข้อมูลการเข้ารับบริการป้องกันและควบคุมโรคโลหิตจางธาลัสซีเมียของหญิงตั้งครรภ์และสามีตั้งแต่ปีงบประมาณ 2555-2560 จากสำนักงานสาธารณสุขจังหวัด และระบบสารสนเทศของสถานพยาบาล รวมถึงการวิเคราะห์ข้อมูลอุบัติการณ์ของโรคโลหิตจางธาลัสซีเมียจากฐานข้อมูลผู้ป่วยในและผู้ป่วยนอกของ สปสช. สำหรับการวิจัยเชิงคุณภาพ ผู้ประเมินศึกษาปัจจัยสนับสนุน อุปสรรค และปัญหาของการดำเนินโครงการฯ จากการทบทวนเอกสารและการสัมภาษณ์เชิงลึกกับผู้กำหนดนโยบาย/ผู้บริหาร เจ้าหน้าที่หน่วยงานทั้งในส่วนกลางและส่วนภูมิภาค ผู้ให้บริการในสถานพยาบาลแต่ละระดับ และผู้รับบริการ

ข้อมูลทั้งหมดนี้จะนำมาวิเคราะห์เพื่อเสนอต่อ สปสช. เพื่อใช้พัฒนาเป็นข้อเสนอเชิงนโยบายในการพัฒนาโครงการป้องกันและควบคุมโรคโลหิตจางธาลัสซีเมียในหญิงตั้งครรภ์ในประเทศไทย