logo
ต้องการข้อมูลเพิ่มเติม ติดต่อฝ่ายสื่อสารองค์กร HITAP

ผอ.สำนักระบาดวิทยา รับกรมควบคุมโรค ประกาศภาวะฉุกเฉินทางสาธารณสุข ด้านการอุบัติหมู่ของโรคไข้คอตีบในพื้นที่ภาคอีสาน เป็นการเตรียมพร้อมของหน่วยงานเท่านั้น ยันสถานการณ์ไม่รุนแรง …

นพ.ภาสกร อัครเสวี ผู้อำนวยการสำนักระบาดวิทยา เปิดเผยกรณีที่กรมควบคุมโรค แจ้งเตือนผ่านทางโทรศัพท์ไปยังสำนักงานสาธารณสุขจังหวัด (สสจ.) ทุกแห่ง ถึงการระบาดของโรคคอตีบในภาคอีสาน ว่า คำสั่งดังกล่าว เป็นเพียงการเตรียมความพร้อมของหน่วยงานภายในให้เฝ้าระวัง และกำหนดมาตรการค้นหาผู้ที่เป็นพาหะของโรค อย่างไรก็ตาม ยืนยันว่าสถานการณ์ไม่รุนแรงและการระบาดสูงสุดได้สิ้นสุดไปแล้วตั้งแต่เดือน ส.ค.ที่ผ่านมา ขณะนี้ตัวเลขผู้ป่วยลดลงเรื่อยๆ ล่าสุดมีความรุนแรงใน 3 จังหวัด ได้แก่ จ.เลย เพชรบูรณ์ และพิษณุโลก เบื้องต้นพบผู้เสียชีวิตแล้ว แต่ยังไม่มีการรายงานตัวเลขอย่างเป็นทางการ โดย คร.คาดการณ์เส้นทางการระบาดของโรคมาจากชายแดนไทย-ลาว บริเวณ จ.เลย

“เราประกาศให้หน่วยงานภายในเตรียมพร้อม แต่สถานการณ์ไม่ได้รุนแรงถึงขั้นต้องประกาศให้ประชาชนทั่วไปรับทราบ โดยพบผู้เสียชีวิตเพียง 2 ราย ซึ่งเป็นสถิติสะสมจากช่วงระบาดใหญ่” นพ.ภาสกรกล่าว และว่าสถานการณ์ของโรคไม่รุนแรง ไม่ได้ระบาดใหญ่ ประชาชนสามารถไปงานเทศกาล งานบุญ หรืองานที่มีการรวมกลุ่มกันได้ตามปกติ

สำหรับโรคคอตีบ พญ.พวงทอง ไกรพิบูลย์ พบ.วว.รังสีรักษาและเวชศาสตร์นิวเคลียร์ อธิบายว่า เป็นโรคที่เกิดจากทางเดินหายใจติดเชื้อแบคทีเรีย พบได้ทั้งในเพศหญิงและเพศชาย มักจะเกิดกับเด็กเล็ก ป้องกันได้ด้วยการฉีดวัคซีน ผู้ที่เสี่ยงต่อการติดเชื้อ คือ ผู้ที่ไม่เคยฉีดวัคซีนป้องกันโรคคอตีบ (ทั้งเด็กและผู้ใหญ่) รวมทั้งผู้ที่อยู่ในสภาพแวดล้อมแออัด ขาดสุขอนามัย และในผู้ที่มีภูมิคุ้มกันต้านทานโรคต่ำ เชื้อจะอาศัยอยู่ในโพรงจมูก โพรงหลังจมูก ลำคอ แต่อาจจะพบได้ในผิวหนัง นอกจากนี้เชื้อมีโอกาสจะอยู่ในดินและแหล่งน้ำธรรมชาติได้ โดยโรคนี้ติดต่อกันได้ง่ายและระบาดได้รวดเร็ว จากผู้ที่คลุกคลีกับผู้ป่วย การสัมผัสน้ำมูก น้ำลาย ละอองหายใจ การไอจาม เมื่อได้รับเชื้อเชื้อจะค่อยๆ สร้างสารพิษ ซึ่งเป็นโปรตีนมีพิษต่อร่างกายชนิดหนึ่ง เรียกว่า Diphtheria Toxin สารพิษนี้จะก่อให้เกิดการอักเสบของเยื่อเมือกในทางเดินหายใจ เกิดการตายของเซลล์เยื่อเมือกในทางเดินหายใจของเซลล์เม็ดเลือดขาวและของเม็ด เลือดแดง รวมทั้งการตายสะสมของตัวแบคทีเรียเอง ก่อให้เกิดเป็นแผ่นเยื่อหนาปกคลุมทางเดินหายใจก่อให้เกิดการอุดกั้นทางเดิน หายใจ ผู้ป่วยจึงมีอาการหายใจไม่ออก คล้ายมีอะไรบีบรัดในทางเดินหายใจอาการพบ คือ มีไข้แต่ไม่เกิน 39 องศาเซลเซียส รู้สึกหนาวสั่น อ่อนเพลีย เจ็บคอมาก หายใจลำบาก เหนื่อยหอบจากนั้นเสียงจะแหบลงเรื่อยๆน้ำมูกอาจมีเลือดปน และอาจมีแผลทางผิวหนัง การรักษาจะให้ยาต้านสารพิษ ยาปฏิชีวนะ และการฉีดวัคซีน นอกจากนี้ยังมีการรักษาประคับประคองตามอาการ.

 

 

http://www.thairath.co.th/content/edu/294319

28 กันยายน 2555

Next post > Whooping cough outbreak: Pregnant women to be vaccinated

< Previous post เปิดศูนย์เครื่องยาสมุนไพรแล้วที่กรมวิทย์

Related Posts

HITAP เป็นข่าว ล่าสุด