logo

สปสช. และ HITAP ขอเชิญท่านมาร่วมเป็นส่วนสำคัญในการยกระดับบริการสุขภาพของประเทศไทย ด้วยการตอบแบบสอบถามในหัวข้อ “การปฏิบัติงานตามนโยบาย 30 บาทรักษาทุกที่ ด้วยบัตรประชาชนใบเดียว”

ต้องการข้อมูลเพิ่มเติม ติดต่อฝ่ายสื่อสารองค์กร HITAP

     กรมควบคุมโรคออกประกาศเฝ้าระวัง 9 โรคสุ่มเสี่ยงระบาดหนักช่วงฤดูฝน เน้น “หวัดใหญ่-มือ เท้า ปาก-ไข้เลือดออก-ตับอักเสบ เอ” หลังพบป่วยเพิ่มจากปีก่อนหลายเท่า พร้อมเผยผลโพลพบ ปชช.ส่วนใหญ่ไม่รู้จักโรคเมอร์ส-โควี รู้สึกกลัว เกินครึ่งอยากฉีดวัคซีนหวัดใหญ่ เสนอสายการบิน รถโดยสาร รถไฟฟ้า แจกหน้ากาอนามัย ตั้งจุดล้างมือเจลแอลกอฮอล์

     วันนี้ (4 มิ.ย.) นพ.โสภณ เมฆธน อธิบดีกรมควบคุมโรค (คร.) กล่าวในการประชุม DDC Forum ครั้งที่ 3 เรื่อง “การพยากรณ์โรคหน้าฝน…ควรรู้เพื่อควบคุมป้องกันในประเทศไทย” ว่า ช่วงฤดูฝนมีสภาพอากาศเย็นชื้น โรคหลายชนิดสามารถแพร่ระบาดได้ง่ายและรวดเร็วกว่าปกติ คร. จึงออกประกาศกรมควบคุมโรค เรื่อง การป้องกันโรคที่เกิดในฤดูฝน ประจำปี 2557 โดยแบ่งโรคเป็น

       3 กลุ่ม ดังนี้ 1. โรคที่มีแนวโน้มจะระบาด ได้แก่ โรคไข้หวัดใหญ่และโรคมือ เท้า ปาก 2. โรคที่มีจำนวนผู้ป่วยเพิ่มขึ้นและต้องเฝ้าระวังเป็นพิเศษ ได้แก่ โรคไข้เลือดออก และไวรัสตับอักเสบ เอ และ 3. โรคที่มีจำนวนผู้ป่วยเพิ่มขึ้นตามฤดูกาล ได้แก่ โรคเลปโตสไปโรซิส โรคปอดบวม ไข้สมองอักเสบเจอี อหิวาตกโรค และมาลาเรีย
       
       นพ.โสภณ กล่าวอีกว่า แต่จากการพยากรณ์โรคหน้าฝนปีนี้ ที่ต้องเน้นเฝ้าระวัง เพราะมีแนวโน้มจะระบาด ได้แก่ 1. โรคไข้หวัดใหญ่ ซึ่งตั้งแต่ ม.ค.-พ.ค. 2557 พบป่วยแล้ว 36,390 ราย เสียชีวิต 59 ราย สูงกว่าช่วงเดียวกันในปีที่แล้วถึง 2 เท่า ส่วนปีนี้คาดว่าผู้ป่วยจะมีสูงสุดใน ส.ค.-ก.ย. เดือนละ 20,000-26,000 ราย ถ้าไม่มีการควบคุมโรคที่ดีพอ 2. โรคมือ เท้า ปาก พยากรณ์ไว้ว่าต้นปีจะมีการระบาด ซึ่งก็พบว่ามีการระบาดมากกว่าปี 2556 ถึง 40% พบผู้ป่วย 12,602 ราย ไม่มีการตาย โดยเด็กเล็กอายุ 0-5 ปี ป่วยมากที่สุด ขณะนี้ระบาดรวมแล้ว 43 จังหวัด ทั้งนี้ คาดว่า ก.ค. จะมีรายงานผู้ป่วยสูงสุด ประมาณ 5,500 ราย ถ้าไม่มีการควบคุมโรคที่ดีพอ 3. โรคไข้เลือดออก ต้องจับตามอง เพราะมักป่วยช่วงฤดูฝนเป็นประจำทุกปี และ 4. ไวรัสตับอักเสบ เอ พบผู้ป่วยทุกเดือน แต่มีการระบาดใหญ่ไปเมื่อ 2 ปีที่แล้ว พยากรณ์ไว้ว่ากลางปีนี้จะมีการระบาดอีกครั้งหนึ่ง แต่อาจไม่รุนแรงเท่า 2 ปีก่อน
       
       นพ.โสภณ กล่าวด้วยว่า นอกจากนี้ คร. ได้สำรวจความคิดเห็นประชาชนเรื่อง “รู้จักและเข้าใจกับเชื้อไวรัสสายพันธุ์ใหม่โรคไข้หวัดใหญ่และเมอร์ส-โควี” จากกลุ่มเป้าหมายทั้งหมด 3,010 ตัวอย่าง พบว่า ประชาชนร้อยละ 72.7 อยากฉีดวัคซีนป้องกันโรคไข้หวัดใหญ่ ส่วนร้อยละ 58.2 ไม่รู้จักโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ 2012 หรือ เมอร์ส-โควี อย่างไรก็ตาม ร้อยละ 73.6 อยากให้มีข้อบังคับให้ผู้โดยสารบนเครื่องบิน รถไฟฟ้า รถโดยสาร ที่มีอาการไอ มีน้ำมูก ใส่หน้ากากป้องกันโรค และร้อยละ 78.8 อยากให้มีข้อบังคับให้บนเครื่องบิน รถไฟฟ้า รถโดยสาร มีจุดล้างมือ หรือใช้เจลแอลกอฮอล์ และพบด้วยว่า ประชาชนส่วนใหญ่ยังไม่รู้จักและกลัวเมอร์ส-โควี อยากจะฉีดวัคซีนเพื่อป้องกันไข้หวัดใหญ่ แม้ไม่อยู่ในกลุ่มเสี่ยงที่จะติดโรค
       
       ผู้สื่อข่าวถามว่า จะมีการออกระเบียบข้อบังคับให้บนเครื่องบิน รถไฟฟ้า รถโดยสาร ในเรื่องของการใส่หน้ากากอนามัยและมีจุดใช้แอลกอฮอล์เจลหรือไม่ นพ.โสภณ กล่าวว่า คงจะเป็นการขอความร่วมมือมากกว่า เพราะ พ.ร.บ. โรคติดต่อ ไม่ได้ให้อำนาจในเรื่องนี้ จึงอาจเป็นการเชิญชวนขอให้ บขส. หรือสายการบินมีการแจกหน้ากากอนามัยให้ผู้โดยสาร เพื่อให้คนที่ไอ จาม ได้ใช้ และไม่แพร่เชื้อสู่ผู้อื่น รวมถึงมีการตั้งจุดแอลกอฮอล์เจลเหมือนในโรงพยาบาลด้วย

4 มิถุนายน 2557

Next post > ใช้พลาสติกอ่อนใส่อาหาร-น้ำดื่มร้อนๆ เสี่ยงเจอสารก่อมะเร็งมากกว่า

< Previous post เปิดวงคุย ทบทวนนโยบายการให้บริการอุปกรณ์สำหรับคนพิการ

Related Posts

ข่าวที่เข้าชมมากที่สุด ในรอบ 3 เดือน

HITAP เป็นข่าว ล่าสุด