logo

สปสช. และ HITAP ขอเชิญท่านมาร่วมเป็นส่วนสำคัญในการยกระดับบริการสุขภาพของประเทศไทย ด้วยการตอบแบบสอบถามในหัวข้อ “การปฏิบัติงานตามนโยบาย 30 บาทรักษาทุกที่ ด้วยบัตรประชาชนใบเดียว”

ต้องการข้อมูลเพิ่มเติม ติดต่อฝ่ายสื่อสารองค์กร HITAP
เหรียญ 2 ด้านของ ‘30 บาทรักษาทุกที่’ เปิดผลกระทบเชิงบวก-ลบ ที่อาจเกิดกับระบบสุขภาพ

ยากจะปฏิเสธว่านโยบาย “30 บาทรักษาทุกที่ ด้วยบัตรประชาชนใบเดียว” ได้ทำให้เกิดความเปลี่ยนแปลงขนานใหญ่กับระบบสุขภาพของประเทศให้เป็นไปในทิศทางที่ดีขึ้น

ไม่ว่าจะเป็นการลดภาระงานให้กับบุคลากรทางการแพทย์ การเพิ่มความสะดวกในการเข้าถึงบริการสุขภาพให้กับประชาชนผู้ใช้สิทธิหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (บัตรทอง) ตลอดจนระบบสุขภาพ มีประสิทธิภาพขึ้นจากการใช้เทคโนโลยีมาใช้ในการบริหารจัดการระบบข้อมูล และการเบิกจ่าย

จนกระทั่งถูกเรียกว่าเป็น “การปฏิรูประบบสุขภาพในรอบ 20 ปี” นับจากการเกิดขึ้นของ 30 บาทรักษาทุกโรค เมื่อปี 2545

แต่เหรียญย่อมมี 2 ด้านเสมอ นโยบายนี้ก็เช่นกัน

เพราะจากการวิจัยล่าสุดของคณะนักวิจัยจากโครงการประเมินเทคโนโลยีและนโยบายด้านสุขภาพ (HITAP) ที่ได้ทำการศึกษาเรื่อง “การประเมินผลเชิงพัฒนานโยบาย 30 บาท รักษาทุกที่ด้วยบัตรประชาชนใบเดียว ในพื้นที่นําร่อง” ชี้ให้เห็นความเป็นไปได้ว่านโยบายดังกล่าวอาจสร้างผลกระทบต่อสังคมและระบบสาธาณสุขด้านกลับได้ด้วย

ผลวิจัยแบ่งสิ่งที่เกิดขึ้นเป็น 4 ส่วนด้วยกัน ได้แก่ 1. ผลกระทบ 2. ผลลัพธ์เชิงบวกและเชิงลบ (ต่อบุคลากรทางการแพทย์ ประชาชน และระบบสาธารณสุข) 3. ผลผลิต และ 4. กิจกรรม โดยมีรายละเอียดมีดังนี้

1. ผลกระทบ คือ 30 บาทรักษาทุกที่ฯ ทำให้ระบบสุขภาพดีขึ้น และเศรษฐกิจเติบโต

2. ผลลัพธ์เชิงบวก คือ บุคลากรทางการแพทย์ มีความสุข ภาระงานลดลง และทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ ส่วนประชาชนสุขภาพดี มีความสุข ลดการขาดงานของญาติและผู้ป่วย รวมถึงค่าใช้จ่ายของประชาชน ตลอดจนการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมด้านสุขภาพไปในทิศทางที่ดีขึ้น ด้านระบบสุขภาพ ทำให้มีหน่วยบริการสุขภาพใกล้กับประชาชน เพิ่มความสะดวก ลดเวลารอคอยและบริการที่ไม่จำเป็น รวมถึงระบบเบิกจ่ายโปร่งใสและทำได้รวดเร็วขึ้น

สำหรับผลลัพธ์เชิงลบ ในแง่ของบุคลากรทางการแพทย์ในโรงพยาบาลขนาดใหญ่อาจต้องรับภาระงานเพิ่มขึ้น และเกิดความแออัดในโรงพยาบาล ส่วนประชาชน อาจเกิดพฤติกรรมไม่ดูแลสุขภาพตนเอง และเรียกร้องสิทธิมากขึ้น ด้านระบบสาธารณสุข คือ อาจทำให้ระบบปฐมภูมิล่มสลาย ค่าใช้จ่ายด้านสุขภาพมากขึ้น และเกิดความเหลื่อมล้ำในแต่ละสิทธิการรักษา (บัตรทอง ประกันสังคม สวัสดิการข้าราชการ)

3. ผลผลิต แบ่งเป็น 2 ด้าน ได้แก่

  • การใช้ประโยชน์จากข้อมูลในรูปแบบต่าง ซึ่งทำให้เกิดการพัฒนานวัตกรรมการบริการ การจัดสรรทรัพยากรตามความต้องการของหน่วยบริการ และสามารถจัดกิจกรรมเพื่อเพิ่มความรอบรู้ด้านสุขภาพ (Health literacy) ได้
  • การมีหน่วยบริการชุมชนเพิ่มมากขึ้น โดยทำให้เกิดการพัฒนาเครือข่ายระหว่างวิชาชีพ หรือระหว่างรัฐและเอกชน รวมถึงเกิดการปรับกลไกการจ่ายเงินให้เหมาะสม กล่าวคือ ราคาที่ดึงดูดหน่วยบริการและกองทุนบัตรทองสามารถดำเนินต่อไป

4. กิจกรรม โดย 30 บาทรักษาทุกที่ฯ ทำให้เกิดการพัฒนาด้านเทคโนโลยีและการเชื่อมต่อข้อมูล การพัฒนาคนและเครือข่ายการทำงาน และการพัฒนาสภาพแวดล้อมให้เหมาะสม อันได้แก่ ปรับปรุงระบบอภิบาล ปรับปรุงกฎหมายและระเบียบ และประเมินต้นทุนต่อหน่วยของการให้บริการ

ด้วยสิ่งเหล่านี้ งานวิจัยจึงได้มีข้อเสนอแนะเชิงนโยบายว่า ผู้ที่เกี่ยวข้องในการดำเนินนโยบาย 30 บาทรักษาทุกที่ฯ จำเป็นต้องเฝ้าระวังและหาทางหลีกเลี่ยงการเกิดผลกระทบเชิงลบ และขับเคลื่อนนโยบายนี้ให้บรรลุเป้าประสงค์ในระยะสั้น รวมถึงระยะยาว

มากไปกว่านั้น ยังระบุอีกว่า แม้ระบบเทคโนโลยีสารสนเทศ (ไอที) ซึ่งใช้เก็บรักษาและเชื่อมโยงข้อมูลการไปรับบริการสุขภาพในสถานพยาบาลต่างๆ จะเป็นหนึ่งในกลไกสำคัญต่อความสำเร็จของ 30 บาทรักษาทุกที่ฯ แต่การพัฒนาบุคลากรในระบบสุขภาพให้สร้างนวัตกรรมการให้บริการ นวัตกรรมด้านการบริหารจัดการระบบสาธารณสุข ทั้งภายในหน่วยงาน ระหว่างหน่วยงาน ไม่ว่าจะภาครัฐหรือร่วมกับเอกชน ล้วนมีความสำคัญต่อความสำเร็จทัดเทียมกัน

เขียนโดย The Coverage
แหล่งที่มา https://www.thecoverage.info/news/content/6824

 

7 มิถุนายน 2567

Next post > ขอเชิญร่วมตอบแบบสอบถามเรื่อง “ต้นทุนต่อหน่วยบริการ ภายใต้โครงการวิจัยเรื่อง การประเมินผลเชิงพัฒนานโยบาย 30 บาท รักษาทุกที่ด้วยบัตรประชาชนใบเดียว ในพื้นที่นําร่อง”

< Previous post การอบรมการประเมินความคุ้มค่าทางเศรษฐศาสตร์สาธารณสุข (Economic Evaluation: EE Training) ครั้งที่ 19

Related Posts

ข่าวที่เข้าชมมากที่สุด ในรอบ 3 เดือน

HITAP เป็นข่าว ล่าสุด