logo
ต้องการข้อมูลเพิ่มเติม ติดต่อฝ่ายสื่อสารองค์กร HITAP

ปลัดสธ.เผยขณะนี้คนไทยเข้าโรงหมอเพราะป่วยเบาหวาน ชั่วโมงละ 64 ครั้ง ป่วยกว่า 3 ล้านคน

พบในกทม.สูงสุด ชี้“เด็กอ้วน” ที่มีปื้นดำที่คอ ใต้รักแร้ ต้องระวัง!

http://www.moph.go.th/ops/iprg/iprg_new/include/admin_hotnew/show_hotnew.php?idHot_new=34823

         วันนี้ (14 พฤศจิกายน 2553) นายแพทย์ไพจิตร์ วราชิต ปลัดกระทรวงสาธารณสุข เปิดงานวันเบาหวานโลก ที่อาคารกีฬาเวสน์ 2 ศูนย์เยาวชนกรุงเทพมหานคร(ไทย – ญี่ปุ่น)ดินแดง กรุงเทพมหานคร ซึ่งองค์การอนามัยโลกและสหพันธ์เบาหวานนานาชาติได้กำหนดให้วันที่ 14 พฤศจิกายนทุกปี เป็นวันเบาหวานโลก องค์การสหประชาชาติได้ให้ทุกประเทศ รณรงค์ให้ความรู้และการป้องกันโรคเบาหวาน(Diabetes Education and Prevention) แก่ประชาชน ติดต่อกัน 5 ปี ระหว่างปี 2552 ถึงพ.ศ. 2556
นายแพทย์ไพจิตร์ กล่าวว่า ขณะนี้โรคเบาหวานกำลังเป็นภัยคุมคามสุขภาพประชาชนทั่วโลกอันดับ 1 สมาพันธ์เบาหวานนานานชาติรายงานพบผู้ป่วยเบาหวานทั่วโลก 285 ล้านคน และคาดว่าอีก 20 ปีหรือ ในพ.ศ. 2573 ผู้ป่วยเบาหวานจะเพิ่มขึ้นเป็น 435 ล้านคน สำหรับประเทศไทย ตั้งแต่พ.ศ. 2542 – 2552 พบคนไทยนอนรักษาตัวในโรงพยาบาลด้วยโรคเบาหวานเพิ่มขึ้น 4 เท่า โดยในปี 2552พบผู้ป่วยเบาหวานที่นอนรักษาตัวในโรงพยาบาลถึง 558,156 ครั้ง และเสียชีวิตจากโรคเบาหวานถึง 7,019 คน หรือวันละ 19 คน คาดคนไทยอายุ 15 ปีขึ้นไปประมาณ 3.46 ล้านคน เป็นโรคเบาหวาน พบในพื้นที่กรุงเทพฯมากที่สุด ร้อยละ 9 รองลงมาคือภาคกลางร้อยละ 7 ส่วนภาคใต้พบต่ำสุดคือร้อยละ 5 โดยจะมีผู้ป่วยเบาหวานเข้าโรงพยาบาลเฉลี่ยชั่วโมงละ 64 ครั้ง 
         นอกจากนี้เบาหวานยังเป็นสาเหตุของการป่วยและตายก่อนวัยอันควร จากโรคแทรกซ้อนทางตา ไต ระบบประสาท หัวใจและหลอดเลือดสมองด้วย จากการสำรวจสถานะสุขภาพอนามัยของคนไทยอายุ 15 ปีขึ้นไป ครั้งล่าสุดในปี 2552 พบ 1 ใน 3 ของผู้ที่เป็นเบาหวาน ป่วยโดยไม่เคยรู้ตัวมาก่อน ส่วนผู้ที่ได้รับการวินิจฉัยจากแพทย์ว่าเป็นเบาหวานแล้วร้อยละ 3 ไม่ได้รับการรักษา โดยมีผู้ที่ได้รับการรักษาและสามารถควบคุมน้ำตาลให้อยู่ในเกณฑ์ปกติเพียงร้อยละ 29 เท่านั้น ที่เหลืออีกร้อยละ 71 ควบคุมระดับน้ำตาลไม่ได้ ทำให้มีความเสี่ยงเกิดโรคแทรกซ้อนสูงขึ้น และมีโอกาสเสียชีวิตเร็วขึ้น โดยร้อยละ 95 ของผู้ป่วยเบาหวานขณะนี้ เป็นเบาหวานชนิดที่ 2 ที่เกิดจากพฤติกรรมคือปล่อยตัวให้อ้วน ไม่ออกกำลังกาย กินอาหารหวาน มันเค็มเกินพอดี เบาหวานชนิดนี้สามารถป้องกันได้ โดยปรับพฤติกรรมสุขภาพ เช่น ลดหรือควบคุมปัจจัยเสี่ยง โดยเฉพาะน้ำตาลที่มีอัตราการบริโภคในคนไทยเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว ตลอดจนการออกกำลังกายที่พอเหมาะ 
          นายแพทย์ไพจิตร์ กล่าวต่อว่า สัญญาณหรืออาการเตือนของโรคเบาหวาน ในผู้ใหญ่สังเกตได้คือ ปัสสาวะบ่อย กระหายน้ำบ่อย ดื่มน้ำบ่อย หิวบ่อยหรือกินจุ น้ำหนักตัวลด อ่อนเพลีย หรืออาจมีอาการอื่นๆเกิดขึ้น ได้แก่ แผลหายช้า คันตามผิวหนัง ขาดสมาธิ อาเจียน ปวดท้อง ชาตามปลายมือปลายเท้า ส่วนในเด็ก ต้องระวังในเด็กอ้วน สัญญาณเตือนต่อการเกิดโรคเบาหวานที่สำคัญคือมีรอยปื้นดำที่คอ หรือใต้รักแต้ ซึ่งจะถูไม่ออก หากมีอาการดังที่กล่าว จะต้องรีบพบแพทย์ และป้องกันโดยการลดพฤติกรรมเสี่ยงอย่างจริงจัง
          นายแพทย์ไพจิตร์ กล่าวต่อไปว่า สิ่งที่เป็นปัจจัยเสี่ยงโรคเบาหวานได้แก่ การสูบบุหรี่ ดื่มเหล้า อาหารที่แนะนำให้ประชาชนรับประทาน และไม่ทำให้เป็นโรคเบาหวานได้แก่ อาหารที่รสชาติไม่หวาน มีมันน้อย เค็มน้อย อาหารประเภทต้องเติมเครื่องปรุงเช่นก๋วยเตี๋ยว ให้ชิมก่อนปรุง เพิ่มการกินผักหลากสี ผลไม้สดที่ไม่หวาน อาหารมังสวิรัติ เพราะมีแต่ผัก อย่างน้อยสัปดาห์ละ 1 มื้อ รับประทาน 3 มื้อต่อวันในปริมาณแค่พออิ่ม อย่าฝืนกินเพราะเสียดาย เลือกซื้อผลิตภัณฑ์ที่มีเกลือ หรือโซเดียมต่ำที่สุด ตลอดทั้งวันควรกินเกลือหรือผลิตภัณฑ์ที่มีเกลือผสมให้น้อยกว่า 1 ช้อนชา กินน้ำตาลน้อยกว่า 4-6 ช้อนชา และควรออกกำลังกาย อย่างน้อยสัปดาห์ละ 5 วัน วันละอย่างน้อย 30 นาที
          สำหรับการรณรงค์ป้องกันโรคเบาหวานในปีนี้ กระทรวงสาธารณสุขได้ร่วมกับ กรุงเทพมหานคร สมาคมเบาหวานแห่งประเทศไทย และสมาคมต่อมไร้ท่อแห่งประเทศไทย จัดโครงการรณรงค์วันเบาหวานโลกขึ้นทั้งในส่วนกลางและส่วนภูมิภาค ซึ่งในปี 2553 ได้กำหนดคำขวัญของการรณรงค์ คือ ปกป้องคนไทย พ้นภัยเบาหวาน โดยให้โรงพยาบาลในสังกัดกระทรวงสาธารณสุข และหน่วยงานในสังกัดกรุงเทพมหานครรณรงค์สร้างความเข้าใจโรคเบาหวานให้กับประชาชนมากขึ้น ระหว่างวันที่ 8- 14 พฤศจิกายน 2553

          โดยกิจกรรมรณรงค์วันเบาหวานโลกในวันที่ 14 พฤศจิกายน 2553 ประกอบด้วย สัญลักษณ์เบาหวานวงกลมสีฟ้า(Human Blue Circle)การจัดนิทรรศการให้ความรู้เรื่องโรคเบาหวาน การตรวจสุขภาพประเมินความเสี่ยงโรคเบาหวาน ตรวจเลือด ตรวจปัสสาวะเพื่อค้นหาโรคเบาหวาน ให้คำแนะนำด้านโภชนาการ การออกกำลังกาย ให้บริการผู้ป่วยเบาหวานที่มีภาวะแทรกซ้อนทางตา โดยถ่ายภาพจอประสาทตา เสวนาวิชาการ ซึ่งการรณรงค์นี้จะเป็นการสร้างกระแส ที่ทำให้เกิดความตระหนักต่อการป้องกัน และควบคุมโรคเบาหวาน

15 พฤศจิกายน 2553

Next post > “จุรินทร์”ยกระดับ รพ.มาบตาพุดเป็น 200 เตียง และตั้งสถาบันอาชีวเวชศาสตร์และเวชศาสตร์สิ่งแวดล้อมดูแลป้องกันผลกระทบสุขภาพและสิ่งแวดล้อม

< Previous post อหิวาต์คร่าชีวิต 10 ราย พบปัตตานีป่วยกว่า 1 พันราย

Related Posts

HITAP เป็นข่าว ล่าสุด