logo

สปสช. และ HITAP ขอเชิญท่านมาร่วมเป็นส่วนสำคัญในการยกระดับบริการสุขภาพของประเทศไทย ด้วยการตอบแบบสอบถามในหัวข้อ “การปฏิบัติงานตามนโยบาย 30 บาทรักษาทุกที่ ด้วยบัตรประชาชนใบเดียว”

ต้องการข้อมูลเพิ่มเติม ติดต่อฝ่ายสื่อสารองค์กร HITAP

หนังสือพิมพ์: สยามธุรกิจ

ฉบับวันที่: 27 สิงหาคม 2016

คนพิการ’โอดประกันสังคมให้สิทธิ์ด้อยกว่า’บัตรทอง’

“คนพิการ” โอดประกันสังคมให้สิทธิ์ด้อยกว่าบัตรทอง ระบุ โรงพยาบาลไม่พร้อม ยาไม่เพียงพอ ต้องควักกระเป๋าซื้อเอง เสนอคลอดสิทธิประโยชน์ขั้นต่ำ ด้าน ผอ. HITAP หวั่น คนพิการสมัครเข้าทำงานตามนโยบายรัฐต้องสูญเสียสิทธิประโยชน์รักษาพยาบาล ระบุต้องถูกโอนย้ายจากบัตรทองสู่ประกันสังคม จากรักษาฟรีทุกที่ทุกแห่งเหลือเพียง ร.พ.เดียวและต้องจ่ายเงินสมทบทุกเดือน นายวันเสาร์ ไชยกุล ผู้จัดการศูนย์ญาณากร แหล่งเรียนรู้คนพิการ ซึ่งได้รับผลกระทบจากการย้ายสิทธิประกันสุขภาพ เปิดเผยว่า ตนเองเป็นคนพิการและต้องเข้ารับการรักษาตัวในคลินิกศัลยกรรมทางเดินกระเพาะปัสสาวะอย่างต่อเนื่อง โดยคลินิกดังกล่าวไม่ได้มีอยู่ทุกโรงพยาบาล และยาก็มักมีเฉพาะในโรงพยาบาลขนาดใหญ่เท่านั้น

นายวันเสาร์ กล่าวว่า ก่อนหน้า นี้มีสิทธิ์ในระบบหลักประกันสุขภาพ ถ้วนหน้า (บัตรทอง) ที่นอกจากจะรักษาฟรีแล้ว ยังเปิดโอกาสให้ผู้พิการ สามารถเลือกโรงพยาบาลได้ด้วย ซึ่งที่ผ่านมาก็รักษาตัวกับโรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์มาตลอด อย่างไรก็ตามปัญหาเกิดขึ้นหลังจากที่ตนตัดสินใจ เข้าทำงาน เพราะต้องถูกโอนย้ายสิทธิ์ประกันสุขภาพจากบัตรทองเข้าสู่ระบบประกันสังคม “ต้องเข้าใจก่อนว่าคลินิกศัลยกรรมทางเดินปัสสาวะไม่ได้มีทุกแห่ง และบางโรงพยาบาลก็ไม่มียา เมื่อเข้าสู่ระบบประกันสังคมจึงมีปัญหามาก เพราะต้องเริ่มต้นรักษาใหม่ และโรงพยาบาลต้นสังกัดที่ประกันตนไว้นั้นก็ไม่มีความพร้อม” นายวันเสาร์ กล่าว

นายวันเสาร์ กล่าวอีกว่า เบื้องต้นแก้ปัญหาด้วยการกลับไปรักษาต่อที่โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์และยินยอมจ่ายค่ารักษาเอง โดยต้องเสียเงินซื้อยาเดือนละ 1 กล่อง ราคากล่องละ 850 บาท ฉะนั้นเวลาไปพบแพทย์แต่ละครั้งจึงต้อง สต็อกยาไว้ 3-6 เดือน มีค่าใช้จ่ายไม่ต่ำกว่าครั้งละ 5,000 บาท ยังไม่นับต้นทุนทางสังคมอื่นๆ “โรงพยาบาลจุฬาฯ ก็แนะนำว่า ให้เรากลับไปยังโรงพยาบาลต้นสังกัดประกันสังคม แล้วให้โรงพยาบาลนั้นส่งตัวมารักษาที่โรงพยาบาลจุฬาฯ จะทำให้ไม่ต้องเสียค่าใช้จ่าย ซึ่งในความจริงเป็นเรื่องที่ยากลำบากและเสียเวลามาก” นายวันเสาร์ กล่าว

นายวันเสาร์ กล่าวอีกว่า เครือข่ายคนพิการได้หารือถึงปัญหาดังกล่าว มาอย่างต่อเนื่องว่าจะทำอย่างไรให้สิทธิ์ของบัตรทองและประกันสังคมมีความเท่าเทียมกัน หรือหากเป็นไปได้ก็ควรเป็นกองทุนเดียวกัน ที่สำคัญคือ ต้องออกแบบให้ไม่เกิดการปฏิเสธสิทธิ์ใด สิทธิ์หนึ่ง“ไม่ใช่ว่าเมื่อมีงานก็ถูกปฏิเสธสิทธิ์บัตรทอง มันไม่ควรเกิดการปฏิเสธสิทธิ์ใดสิทธิ์หนึ่ง และจริงๆ แล้วสิทธิประโยชน์ที่บัตรทองให้นั้นควรเป็นสิทธิประโยชน์ขั้นพื้นฐานหรือขั้นต่ำ ที่สิทธิ์อื่นๆ หรือกองทุนอื่นๆ ไม่ควรให้ต่ำกว่านี้” นายวันเสาร์ กล่าว

ด้าน น.พ.ยศ ตีระวัฒนานนท์ ผู้อำนวยการโครงการประเมินเทคโนโลยีและนโยบายด้านสุขภาพ (HITAP) เปิดเผยว่า คนพิการในระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า (บัตรทอง) หรือ UC จะได้รับสิทธิประโยชน์ที่พิเศษกว่าผู้ใช้สิทธิ์บัตรทองทั่วไป เรียกได้ว่าคนพิการจะมีบัตรทองพิเศษที่สามารถใช้บริการได้ในสถานพยาบาลทุกแห่ง แตกต่าง กับผู้ใช้สิทธิ์บัตรทองทั่วไปที่ใช้บริการได้เฉพาะสถานพยาบาลที่ลงทะเบียนไว้เท่านั้น

น.พ.ยศ กล่าวว่า คนพิการจำเป็นต้องได้รับการดูแลเป็นพิเศษและบาง ครั้งจำเป็นต้องใช้อุปกรณ์ช่วยเหลือพิเศษซึ่งจะมีอยู่ในโรงพยาบาลขนาดใหญ่ ฉะนั้นการให้สิทธิประโยชน์แก่คนพิการให้สามารถเลือกใช้บริการสถานพยาบาลใดก็ได้นั้นจะช่วยให้คนพิการมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น “สิทธิประโยชน์นี้ทำให้คนพิการ ไม่ต้องเสียเวลารอกระบวนการส่งต่อ จากโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบลไปยังโรงพยาบาลขนาดใหญ่” น.พ.ยศ กล่าว

น.พ.ยศ กล่าวอีกว่า หากคนพิการอยู่เฉยๆ ก็จะได้รับเบี้ยยังชีพและยังได้รับการรักษาฟรีในทุกๆ สถานพยาบาล แต่หากคนพิการไม่อยากอยู่เฉยๆ แต่อยากทำประโยชน์ให้สังคมด้วยการไปสมัครงานตามนโยบายส่งเสริมการจ้างงานของรัฐบาล คนพิการเหล่านั้นก็จะถูกเปลี่ยนสิทธิ์เป็นประกันสังคม และได้รับสิทธิประโยชน์ที่ด้อยกว่าบัตรทอง“เมื่อสมัครงานก็จะต้องเปลี่ยน ไปใช้ระบบประกันสังคม จากรักษาฟรีก็ต้องเริ่มจ่ายเบี้ยสมทบ มากไปกว่า นั้นคือจะเข้ารับการรักษาได้เฉพาะโรงพยาบาลต้นสังกัดที่ผู้ประกันตนลงทะเบียนไว้เท่านั้น ไม่ต้องพูดถึงระบบการส่งต่อที่จะอนุมัติยากขึ้นมาก” น.พ.ยศ กล่าว

น.พ.ยศ กล่าวว่า ปัญหานี้แก้ไขได้ง่ายมากด้วยการโอนคนพิการจากระบบประกันสังคมมาสู่ระบบบัตรทอง ซึ่งชัดเจนว่ามีความคุ้มค่าทางเศรษฐศาสตร์ โดยที่ผ่านมาผู้บริหารสำนักงานประกันสังคม (สปส.) ก็เคยระบุเอาไว้ว่ายินดีจะโอนคนพิการจำนวนไม่กี่หมื่นคนพร้อมงบประมาณรายหัวมาให้สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) ดูแล และ สปสช.เองก็บอกว่ามีความพร้อมและยินดีดูแลคนกลุ่มนี้ให้ แต่ที่สุดแล้วก็ไม่เกิดขึ้นจริง

“เรื่องนี้แก้ไขได้ง่ายมาก ทำได้ ทันที และหากรัฐบาลหรือฝ่ายนโยบายดำเนินการจริง จะเกิดประโยชน์กับคนพิการในประเทศไทยอีกจำนวนมาก” น.พ.ยศ กล่าว

6 กันยายน 2559

Next post > HITAP นำเสนอผลวิจัย ในการประชุมวิชาการกระทรวงสาธารณสุข ประจำปี 2559

< Previous post สกู๊ปหน้า1: 'ทุกข์ผู้ป่วย' ถูกโบ้ย (2) 'ประกันสังคม' ไฉน?'รพ.เอกชนชิ่ง!'

Related Posts

ข่าวที่เข้าชมมากที่สุด ในรอบ 3 เดือน

HITAP เป็นข่าว ล่าสุด