logo

HITAP ร่วมมือกับกรมการแพทย์ จัดการประชุมผู้เชี่ยวชาญและผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย ในโครงการ “การพัฒนาแนวทางการประเมินความคุ้มค่าฯ ปัญญาประดิษฐ์ทางการแพทย์ เพื่อบรรจุในชุดสิทธิประโยชน์ ในระบบประกันสุขภาพของประเทศไทย”

สปสช. และ HITAP ขอเชิญท่านมาร่วมเป็นส่วนสำคัญในการยกระดับบริการสุขภาพของประเทศไทย ด้วยการตอบแบบสอบถามในหัวข้อ “การปฏิบัติงานตามนโยบาย 30 บาทรักษาทุกที่ ด้วยบัตรประชาชนใบเดียว”

ต้องการข้อมูลเพิ่มเติม ติดต่อฝ่ายสื่อสารองค์กร HITAP

หนังสือพิมพ์: คม ชัด ลึก

ฉบับวันที่: 29 กรกฎาคม 2017

สัมภาษณ์พิเศษ: ศ.นพ.อิศรางค์ นุชประยูร กุมารเวชศาสตร์โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ หนุนหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าจัดระบบมะเร็งยอดเยี่ยม ผู้ป่วยเข้าถึงมาตรฐานการรักษา

 

ศ.นพ.อิศรางค์ นุชประยูร กุมารเวชศาสตร์ โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ ในฐานะแพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านโรคเลือดและมะเร็งในเด็ก กล่าวว่า เป็นหนึ่งในผู้ร่วมผลักดันการรักษาโรคมะเร็งในเด็กบรรจุในสิทธิประโยชน์กองทุนหลักประกันสุขภาพแห่งชาติปี 2548 และนำมาสู่การขยายสิทธิประโยชน์ครอบคลุมการรักษาโรคมะเร็งผู้ใหญ่ในอีก 2 ปีถัดมา ด้วยความสนใจการรักษาโรคมะเร็งและยังทำงานใน “มูลนิธิสายธารแห่งความหวัง” เพื่อดูแลผู้ป่วยเด็กที่เป็นโรคมะเร็ง จึงได้เข้าร่วมประชุมองค์กรต่อต้านมะเร็งนานาชาติ UICC (International Union for Cancer Control) องค์กรที่ได้รับการยอมรับในสมัชชาโลกด้านสาธารณสุข World Health Assembly  โดยมีการจัดประชุมทุกปีเพื่อติดตามความก้าวหน้าทั้งในด้านการควบคุมและเพิ่มโอกาสการรักษาโรคมะเร็ง จากที่ประชุม UICC เมื่อเดือนธันวาคม 2559 มี  “รายงานภาพรวมการจัดระบบดูแลผู้ป่วยมะเร็งทั่วโลก” โดย นพ.เรนคสวามี ศังกรานารายณัน ที่ปรึกษาพิเศษด้านการควบคุมมะเร็ง และหัวหน้าฝ่ายตรวจกรองมะเร็งขององค์กรนานาชาติเพื่อการวิจัยมะเร็ง แห่งองค์การอนามัยโลก (IARC, WHO)ได้กล่าวชื่นชมประเทศไทย แม้จะอยู่ในกลุ่มประเทศ รายได้น้อยถึงปานกลาง แต่กลับจัดระบบดูแลผู้ป่วยมะเร็งได้อย่างยอดเยี่ยม เมื่อเปรียบเทียบกับประเทศอื่นทั่วโลกในกลุ่มเดียวกันทั้งนี้แน่นอนว่าประเทศในกลุ่มรายได้สูงย่อมจัดระบบดูแลผู้ป่วยมะเร็งได้ดีกว่า แต่นั่นหมายถึงค่าใช้จ่ายที่ย่อมแพงกว่าหลายเท่า ส่วนไทยใช้เงินน้อยแต่ก็ได้ผลดีแม้ว่าจะไม่ดีที่สุด ถึงดีที่สุดก็ยังสงสัยว่าแล้วอะไรคือดีที่สุดเช่นกัน ขณะที่อัตราการป่วยมะเร็ง ทั่วโลกเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ส่วนที่ทำให้ไทยได้รับการชื่นชมมีหลายปัจจัย โดยเฉพาะการมีระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า ซึ่งไทยเป็น 1 ใน 50 ประเทศจาก 196 ประเทศทั่วโลก ที่มีการจัดระบบนี้เพื่อดูแลประชาชนให้เข้าถึงการรักษารวมถึงโรคมะเร็งที่เป็นโรคค่าใช้จ่ายสูง ทำให้ผู้ป่วยทุกคนสามารถเข้ารับการรักษาที่เป็นมาตรฐานได้โดยไม่เสียค่าใช้จ่าย สะท้อนให้เห็นว่าไทยเราไม่ธรรมดา ขณะที่  3 ใน 4 ประเทศทั่วโลกยังทำเรื่องนี้ไม่สำเร็จ การมีโครงสร้างพื้นฐานเพื่อดูแลรักษาผู้ป่วยมะเร็งให้เข้าถึงบริการทั่วประเทศ ปัจจุบันภายใต้โรงพยาบาลสังกัดกระทรวงสาธารณสุข มีสถานบันมะเร็งแห่งชาติ 1 แห่ง ศูนย์มะเร็งที่กระจายอยู่ตามภาค 6 แห่ง โรงพยาบาลที่มีศักยภาพฉายรังสีรักษามะเร็ง 22 แห่ง และโรงพยาบาลที่สามารถวินิจฉัยมะเร็ง 500 แห่ง ซึ่งยังไม่รวมโรงพยาบาลสังกัดอื่นๆ ที่ให้บริการได้ ขณะเดียวกันยังมีระบบลงทะเบียนผู้ป่วยมะเร็งที่เป็นมาตรฐานโลกที่ทำมากว่า 20 ปี ทำให้มีข้อมูลน่าเชื่อถือที่ทำไปสู่การจัดระบบการรักษาที่ดี

ทั้งนี้การจัดระบบเพื่อดูแลผู้ป่วยมะเร็งภายใต้กองทุน หลักประกันสุขภาพแห่งชาติได้ดำเนินมากว่า 10 ปีแล้ว เริ่มต้นจากการบรรจุสิทธิประโยชน์รักษามะเร็งในเด็กปี 2548 โดยจัดทำโปรโตคอลการรักษาที่ระดมความเห็นแพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านมะเร็งร่วมกัน เพื่อทำห้ผู้ป่วยมะเร็งได้รับการรักษาที่เป็นมาตรฐาน โดยคำนึงถึงความคุ้มค่าด้านงบประมาณ ซึ่งต่อมาในปี 2550 จึงได้ขยายสิทธิประโยชน์ครอบคลุมถึงการรักษามะเร็งในผู้ใหญ่ ซึ่งการทำโปรโตคอลรักษามะเร็งไม่ใช้เรื่องง่ายเพราะแพทย์ผู้เชี่ยวชาญจะมีความเห็นแตกต่างกัน แต่อย่างน้อยจะได้มีมาตรฐานการรักษามะเร็งที่ผู้ป่วยควรได้รับตามบริบทของประเทศไทย ซึ่งการรักษาที่เป็นมาตรฐานนี้คงไม่ใช่เป็นการรักษาที่ดีที่สุดซึ่งต้องจ่ายแพงกว่าเป็นร้อยเท่า ซึ่งเป็นเรื่องยากที่ระบบจะรองรับได้

ศ.นพ.อิศรางค์ กล่าวต่อว่า โปรโตคอลมะเร็งเป็นระบบการจัดการดูแลผู้ป่วยในระบบประกันสุขภาพ เพื่อกำหนดการรักษามะเร็งที่เป็นมาตรฐานซึ่งผู้ป่วยควรได้รับ ไม่ให้เกิดการรักษาที่แตกต่างจนกระทบต่อโอกาสในการรักษาของผู้ป่วยอย่างการรักษามะเร็งในเด็ก ซึ่งเด็กที่ป่วยด้วยโรคนี้มีอัตราการหายได้ถึงร้อยละ 85 แต่ต้องได้รับยารักษาในระดับหนึ่งที่เมื่อคิดเป็นมูลค่าสูงถึง 3 แสนบาทต่อคน แต่หากจำกัดการให้ยานี้ให้เด็กเพียง 1 แสนบาท โอกาสที่จะหายจากมะเร็งเหลือเพียงร้อยละ 25 เท่านั้น ถือเป็นการจ่ายเงินที่สูญเปล่าไม่คุ้มค่า จึงต้องมีการกำหนดโปรโตคอลชัดเจนเพื่อใช้ในการรักษา และด้วยจำนวนผู้ป่วยที่พบไม่มาก อัตราการป่วยที่ 1 ต่อแสนราย ประกอบกับโอกาสในการรักษาหายค่อนข้างสูง ทั้งผู้ป่วยยังเป็นเด็ก แต่ด้วยค่าใช้จ่ายที่สูงมากจนเป็นอุปสรคการเข้าถึงการรักษา จึงควรมีการจัดทำมาตรฐานการรักษาและระบบรองรับค่ารักษาเพื่อดูแลผู้ป่วย ก่อนมีโปรโตคอล การรักษามะเร็งในเด็ก โรงพยาบาลแต่ละแห่งจะให้การรักษาไม่เหมือนกัน ขึ้นอยู่กับจำนวนผู้ป่วยและงบประมาณ โดยช่วงแรกที่เป็นการรวมค่ารักษาในงบเหมาจ่ายรายหัว ภาระค่าใช้จ่ายจะตกอยู่ที่โรงพยาบาลต้นสังกัดในการตามจ่าย ทำให้เกิดการจำกัดการเข้าถึงรักษา จึงได้หารือกับสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) จึงนำมาสู่การปรับวิธีบริหารจัดการ ทั้งในด้านงบประมาณและการจัดทำโปรโตคลอมะเร็ง ประกอบกับมีการจัดทำระบบการรวมจัดซื้อยาระดับประเทศที่เกิดกลไกต่อรองราคา นับเป็นวิธีที่ดีเพราะทำให้เราได้ใช้ยาดีราคาแพงในราคาถูก ซึ่งเป็นวิธีที่หลายประเทศ ทำไม่เป็น แต่เราทำได้ ทำให้ผู้ป่วยมะเร็งทั่วประเทศเข้าถึงยา เข้าถึงการรักษาได้ โดยค่าใช้จ่ายยามะเร็งของไทยอยู่ที่ประมาณ 6 พันล้านบาท หรือร้อยละ 6 ของเงินกองทุนหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ขณะที่อังกฤษอยู่ที่ 2 แสนล้านบาท

อย่างไรก็ตามการจัดทำโปรโตคอลมะเร็ง หมออาจบอกว่า ในโปรโตคอลต้องใช้ยานี้ แต่ด้านความคุ้มทุน สปสช.ได้ให้โครงการประมินเทคโนโลยีและนโยบายสุขภาพ (HITAP) คำนวณราคาที่ควรจัดซื้อ เพื่อใช้ต่อราคา กรณีที่บริษัทยา ไม่ยอมลดราคาแต่เป็นยาที่ผู้ป่วยจำเป็นต้องเข้าถึง ที่ผ่านมาไทยยังประกาศซีแอลในยาบางรายการ ทำให้ผู้ป่วยเข้าถึงยาที่จำเป็นได้ นอกจากนี้การจัดทำโปรโตคอลมะเร็งที่ผ่านมายังมีการปรับอย่างต่อเนื่องทั้งนี้เพื่อความเหมาะสมและทันต่อสถานการณ์ที่เปลี่ยนแปลง

ศ.นพ.อิศรางค์ กล่าวต่อไปอีกว่า ระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า อย่างน้อยเป็นการให้การรักษาในสิ่งที่ทุกคนควรได้และเป็นมาตรฐาน แต่คงไม่ใช่การรักษาที่ดีที่สุด เพราะในทางการแพทย์มีการพัฒนาการรักษาไปอย่างต่อเนื่องและไม่มีที่สิ้นสุด  ซึ่งการรักษาโรคมะเร็งบริษัทยาจะมีการผลิตยาใหม่ๆ ออกมาทุกปี และจะมีราคาที่แพงมาก เช่น ราคา 1 แสนบาทต่อโดส หรือผู้ป่วยต้องใช้เงินค่ารักษาถึง 5 แสนบาทต่อเดือน แม้ว่าผู้ป่วยต่างอยากใช้ แต่ในความเป็นจริงคงเป็นไปไม่ได้แม้จะเป็นการจ่ายด้วยเงินตนเองก็ตาม ซึ่งยังต้องคำนึงถึงความคุ้มค่าด้วยว่าการที่จะนำเงินที่หาได้ทั้งชีวิตมาจ่ายให้บริษัทยาเพื่อยืดชีวิตออกไปเล็กน้อยนั้นคุ้มค่าหรือไม่ หรือจะใช้ชีวิตที่เหลืออยู่ให้คุ้มค่าแทน เช่นเดียวกับการใช้งบกองทุนหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าที่ต้องบริหารงบประมาณที่มีอยู่อย่างจำกัดให้คุ้มค่าเช่นกัน  “ระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าทำให้ผู้ป่วยสามารถ เข้าถึงการรักษาที่เหมาะสมอย่างเท่าเทียม ไม่ควรมีใครต้องตายด้วยโรคที่รักษาได้ อย่างไส้ติ่งแตก แต่มะเร็งบางอย่างที่มีอัตราการหายเพียงแค่ร้อยละ 20 แม้ให้ยาดีในที่สุดราคาเป็นล้านบาท ผู้ป่วยก็ยังเสียชีวิตได้ ขณะที่มะเร็งบางอย่างรักษามีโอกาสสูงในการรักษาให้หาย ตรงนี้คงต้องดูว่าความพอดีของการเข้าถึงควร อยู่ตรงไหน คงต้องให้ผู้เชี่ยวชาญเป็นผู้ตัดสินว่าอะไรคือความพอดีกับผู้ป่วยและคุ้มค่าที่ทุกคนควรได้รับภายใต้ระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า ซึ่งรายการยาในโปรโตคอลมะเร็งหาก ใช้แล้วผู้ป่วยไม่ดีขึ้นก็จัดอยู่ในกลุ่มมะเร็งรักษายากแล้ว”

ศ.นพ.อิศรางค์ กล่าวทิ้งท้ายว่า ข้อเสนอการร่วมจ่ายในระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าว่า อยากบอกว่าถ้าอยากให้คนเข้าถึงการรักษาก็ไม่ควรมีการร่วมจ่ายเพราะเพียงแค่หนึ่งเปอร์เซ็นต์ของค่ารักษาโรคค่าใช้จ่ายสูงก็เป็นเงินจำนวนมาก การร่วมจ่ายจึงต้องทำเฉพาะในระบบที่ไม่มีเพดานค่ารักษา อย่างกองทุนรักษาพยาบาลสวัสดิการข้าราชการที่ไม่จำกัด ยาอะไรที่ออกมาใหม่ก็ใช้ได้หมด แต่ให้ผลการรักษาที่ผู้ป่วยได้รับนั้นไม่ต่างกัน เพียงแต่ยืดเวลาชีวิตออกไปได้เล็กน้อยและอาจต้องรับผลข้างเคียงจากการใช้ยามากกว่า ซึ่งหากข้าราชการต้องร่วมจ่ายก็อาจจะไม่ใช้ยาใหม่เหล่านี้ก็ได้ ส่วนระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าการร่วมจ่าย 30บาท เพื่อกันผู้ป่วยมาใช้บริการโดยไม่จำเป็นแบบเดิมก็ดีอยู่แล้ว

16 สิงหาคม 2560

Next post > สัมภาษณ์พิเศษ: อิศรางค์ นุชประยูร โลกยกย่องไทยต้นแบบเข้าถึงการรักษามะเร็งถ้วนหน้า

< Previous post รุกคลินิกครอบครัว'สธ.'ตั้งเป้าปีหน้าเพิ่มหมอเกือบพัน

Related Posts

HITAP เป็นข่าว ล่าสุด