logo
ต้องการข้อมูลเพิ่มเติม ติดต่อฝ่ายสื่อสารองค์กร HITAP

หนังสือพิมพ์: สยามรัฐ

ฉบับวันที่: 2 มิถุนายน 2016

รู้จัก “โรคหืด”

โรคหืดคืออะไร…สำคัญแค่ไหน

โรคหืด (Asthma disease) เป็นเชื้อโรคที่ตั้งขึ้นตามอาการของผู้ป่วย เมื่อมีอาการจับหืด เนื่องจากผนังหลอดลมมีการอักเสบเรื้อรัง ทำให้มีอาการตอบสนองต่อสารก่อภูมิแพ้และสิ่งแวดล้อมมากกว่าคนปกติ เยื่อบุหลอดลมบวม และเสมหะถูกหลั่งออกมามากทำให้หายใจลำบาก ไอ แน่นหน้าอก หอบเหนื่อย หายใจมีเสียงหวีด เมื่อเป็นมากขึ้น หากไม่ได้รับการรักษาทันที อาจถึงขั้นเสียชีวิต

โรคหืด เกิดจากอะไร

ปัจจัยที่เกี่ยวข้องได้แก่พันธุกรรม เคยมีอาการติดเชื้อทางเดินหายใจในวัยเด็กหรือสัมผัสสารที่ก่อให้เกิดอาการแพ้ บางคนเกิดอาการเมื่อออกแรงหรือออกกำลังกาย หรือสัมผัสกับอาการที่เย็นจัด

ใครเสี่ยง?

โรคหืด สามารถเกิดได้ทุกเพศ ทุกวัย แต่ส่วนใหญ่จะแสดง อาการตั้งแต่ในวัยเด็กโดยเฉพาะในเด็กที่เคนมีประวัติการติดเชื้อในระบบทางเดินหายใจและปอดมีเสียงหวีด มีพ่อ-แม่ที่เป็นโรคหืด โรคภูมิแพ้ ผู้ป่วยที่มีอาการหืดเมื่อเป็นผู้ใหญ่ มักเกิดจากการสัมผัสเคมีหรือฝุ่นละอองเรียกว่า โรคหืดจากการทำงาน

โรคหืดในเด็ก วินิจฉัยยาก

การวินิจฉัยโรค มักจะใช้การวัดสมรรถภาพของปอด ทั้งนี้ในเด็กก่อนวัยเรียนอาจไม่สามารถทดสอบได้ ยิ่งไปกว่านั้น เด็กอายุน้อยมากๆ ก็จะไม่สามารถบอกอาการได้เลย ทำให้การวินิจฉัยเป็นไปได้ยาก เมื่อวินิจฉัยไม่ได้ก็ไม่ได้ยา ซึ่งต้องใช้แพทย์เฉพาะทางวินิจฉัย

โรคหืด รักษาอย่างไร

ขณะนี้ยังไม่มีการรักษาให้หายขาด แต่ยาสามารถช่วยควบคุมอาการได้ ยาสำหรับโรคหืด แบ่งเป็นยาที่ช่วยลดการอักเสบของหลอดลม และยาขยายหลอดลม หรือยาบรรเทาอาการใช้เฉพาะ เวลาที่มีอาการหอบเท่านั้น แต่ผู้ป่วยมักพ่นยาไม่ถูกต้อง (มีต่อพรุ่งนี้)

พ่นยาผิด อาการแย่

มีข้อมูลทางวิชาการมากมายระบุว่า ยาพ่นควบคุมและบรรเทาอาการหอบหืด เป็นการรักษาที่มีประสิทธิภาพมากที่สุด เพราะยาจะเข้าสู่ปอดโดยตรง แต่การพ่นยาไม่ถูกต้องส่งผลให้ยาตกค้างในปากโคนลิ้น ลำคอ ทำให้ผู้ป่วยไม่ได้รับยาในปริมาณที่เหมาะสมและส่งผลต่อการควบคุมอาการหอบหืด

วิธีพ่นยาหอบหืดสำหรับเด็ก

1.เปิดฝายา เขย่าในแนวดิ่ง 2-3 ครั้ง

2.ต่อกระบอกสูดยา เข้ากับหลอดยา

3.พ่นยาทิ้ง เพื่อทดสอบ 2-3 ครั้ง แต่ถ้าใช้ทุกวันให้ข้ามขั้นตอนนี้ไป

4.เอากระบอกสูดยา แนบหน้าเด็กให้สนิท

5.กดยา 1 ครั้ง หายใจ 5-6 ครั้ง

6.เอากระบอกสูดยาออก หากต้องพ่นใหม่อีกครั้ง ต้องเว้นระยะ 15-30 นาที

ทั้งนี้ อย่าลืม บ้วนปาก ล้างหน้า และล้างกระบอกสูดยาให้สะอาด หลังพ่นยาทุกครั้ง

กระบอกสูดยาช่วยอย่างไร?

ในเด็กเล็กที่มีอายุต่ำกว่า 4 ปี จะมีปัญหาในการสูดยา เพราะเด็กจะสูดยาทางจมูกเป็นหลัก จึงต้องมีอุปกรณ์ที่มีลักษณะเป็นโคน ที่ใช้ในการกักยาเอาไว้ภายใน เพื่อให้เด็กสามารถสูดยาเข้าไปได้อย่างเต็มที่ เพราะถ้าหากให้เด็กสูดยาจากหลอดยาตามปกติเหมือนผู้ใหญ่ จะทำให้เด็กไม่ได้รับยาในจำนวนที่สามารถจะรักษาอาการโรคหืดได้

 

อ่านข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ จุลสารปีที่ 9 ฉบับที่ 27 พฤษภาคม-สิงหาคม 2559: รู้รอบ หอบหืดเด็ก https://www.hitap.net/documents/165655

3 มิถุนายน 2559

Next post > หนุนเพิ่ม “วัคซีนมะเร็งปากมดลูก” ในสิทธิบัตรทอง แนะต่อรองราคาไม่เกิน 200 บาทต่อเข็ม

< Previous post นักวิจัย HITAP นำเสนอผลการศึกษาโครงการ QOF ต่อผู้บริหาร สปสช.

Related Posts

HITAP เป็นข่าว ล่าสุด