logo
ต้องการข้อมูลเพิ่มเติม ติดต่อฝ่ายสื่อสารองค์กร HITAP
ประชุมกำหนดคำถามวิจัยเรื่องการตรวจคัดกรองโรคปอดอุดกั้นเรื้อรัง (COPD) ด้วย spirometry ในสถานพยาบาลระดับปฐมภูมิ

ผู้เชี่ยวชาญด้านโรคปอดให้ข้อเสนอแนะต่อ HITAP ในการตั้งคำถามวิจัยเพื่อพิจารณาการตรวจคัดกรองโรคปอดอุดกั้นเรื้อรัง (COPD) ด้วย spirometry ในสถานพยาบาลระดับปฐมภูมิเป็นชุดสิทธิประโยชน์ในระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า

เมื่อวันที่ 29 กันยายน พ.ศ. 2558 นายทรงยศ พิลาสันต์ นักวิจัย HITAP นำเสนอความเป็นมาของหัวข้อวิจัยในที่ประชุมผู้เชี่ยวชาญเรื่องการตรวจคัดกรองโรคโรคปอดอุดกั้นเรื้อรัง (chronic obstructive pulmonary disease หรือ COPD) ด้วยวิธี spirometry ในสถานพยาบาลระดับปฐมภูมิ โดยหัวข้อวิจัยนี้เป็นส่วนหนึ่งของโครงการศึกษาเพื่อพัฒนาชุดสิทธิประโยชน์ภายใต้ระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า (UCBP) ที่เสนอโดยภาคอุตสาหกรรมและผ่านการคัดเลือกของคณะทำงานของโครงการฯ เพื่อศึกษาความคุ้มค่าและความเป็นไปได้ในการนำไปปฏิบัติก่อนพัฒนาเป็นชุดสิทธิประโยชน์ การประชุมนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อกำหนดคำถามวิจัย โดยมีผู้แทนจากสมาคมอุรเวชช์แห่งประเทศไทย สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ สถาบันโรคทรวงอก สมาคมพยาบาลแห่งประเทศไทย กองควบคุมเครื่องมือแพทย์ ชมรมพยาบาลชุมชนแห่งประเทศไทย กลุ่มศูนย์การแพทย์เฉพาะทางด้านอาชีวเวชศาสตร์ โรงพยาบาลนพรัตน์ราชธานี และโรงพยาบาลสมเด็จพระยุพราชเชียงของ เข้าร่วมประชุมในครั้งนี้

Spirometry เป็นวิธีการตรวจสมรรถภาพปอดด้วยเครื่องมือที่เรียกว่า spirometer ซึ่งมีหลายชนิด วิธีการนี้เป็นวิธีการมาตรฐาน (gold standard) สำหรับวินิจฉัยโรค COPD นอกจากนี้เครื่อง spirometer ยังมีประโยชน์ในวินิจฉัยแยกโรคปอดอื่น เช่น โรคหืด ใช้ในการติดตามการรักษาผู้ป่วยโรคหืดและ COPD รวมถึงใช้คัดกรองโรคปอดจากการทำงาน อย่างไรก็ตาม จากการศึกษาในหลายประเทศพบว่าการใช้ spirometry เพื่อคัดกรองโรค COPD ในระดับประชากรอาจไม่มีความคุ้มค่าและไม่เหมาะสม ภายหลังการนำเสนอ ที่ประชุมมีความเห็นว่า การศึกษาควรมุ่งเน้นไปที่กระจายตัวของเครื่อง spirometer และเจ้าหน้าที่หรือผู้เชี่ยวชาญที่สามารถใช้เครื่องได้ รวมถึงการเข้าถึงบริการตรวจ spirometry ของประชากรในประเทศไทย เพื่อศึกษาถึงความเป็นไปได้ในการลงทุนให้มีการตรวจ spirometry ในสถานพยาบาลระดับปฐมภูมิ

โครงการศึกษาเพื่อพัฒนาชุดสิทธิประโยชน์ภายใต้ระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า (UCBP) เป็นช่องทางหนึ่งที่ท่านสามารถเข้ามามีส่วนร่วมในการพัฒนาชุดสิทธิประโยชน์ได้ด้วยการเสนอหัวข้อ/ปัญหาสุขภาพเพื่อทำการศึกษาได้ ข้อมูลเพิ่มเติมและติดตามความเคลื่อนไหวของโครงการฯ ได้ที่ www.ucbp.net

2 ตุลาคม 2558

Next post > ประชุมพิจารณาผลการประเมินและข้อเสนอเชิงนโยบายเบื้องต้นจากการประเมินการนำนโยบายบริหารจัดการกองทุนสร้างเสริมและป้องกันโรคภายใต้ระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าไปสู่การปฏิบัติในพื้นที่

< Previous post HITAP ร่วมงานประชุมวิชาการ กระทรวงสธ. ประจำปี 2558 พัทยา

Related Posts

ข่าวสาร HITAP ล่าสุด