logo
ต้องการข้อมูลเพิ่มเติม ติดต่อฝ่ายสื่อสารองค์กร HITAP
เมื่อการสนับสนุนเครื่องช่วยฟัง   ไม่ใช่แค่ “ให้” เครื่อง

องค์การอนามัยโลกประมาณการว่า ทั่วโลกมีจำนวนผู้พิการทางการได้ยิน ถึงร้อยละ 5 ของประชากรหรือกว่า 360 ล้านคน สำหรับประเทศไทยข้อมูลจากสำนักงานพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการแห่งชาติระบุว่า มีผู้พิการทางได้ยินร้อยละ 4-6 ของประชากร

เขาเหล่านี้ต้องประสบปัญหาในการใช้ชีวิตประจำวันมากมาย เช่น ไม่สามารถ ตีความหมายจากเสียงพูดได้ ความสามารถในการสื่อสารลดลง อาจรู้สึกแปลกแยกจากสังคม โดดเดี่ยว หงุดหงิดง่าย โดยเฉพาะกลุ่มผู้สูงอายุ  วิธีการหนึ่งที่จะช่วยเพิ่มคุณภาพชีวิตของคนกลุ่มนี้ได้ คือการฟื้นฟูการได้ยินด้วยเครื่องช่วยฟัง

 

การช่วยเหลือด้วยเทคโนโลยีทางการแพทย์

เครื่องช่วยฟัง เป็นเทคโนโลยีทางการแพทย์ ที่นำมาใช้แก้ปัญหาให้ผู้พิการทางการได้ยิน  โดยทำหน้าที่ขยายเสียงจากภายนอก ทำให้ผู้ฟังรับรู้เสียงได้ดีขึ้นทั้งในสถานการณ์ที่เงียบสงบและมีเสียงดัง เพื่อช่วยให้ผู้ที่มีปัญหาการได้ยินสามารถ สื่อสารในชีวิตประจำวันได้

ระบบประกันสุขภาพ 3 ระบบหลัก ได้แก่ สวัสดิการรักษาพยาบาลข้าราชการ ประกันสังคม และระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า ต่างให้การสนับสนุนเครื่องช่วยฟังให้กับผู้มีปัญหาทางการได้ยิน นอกจากนี้มูลนิธิและองค์กรการกุศลต่าง ๆ ก็เข้ามามีบทบาทในการ “ให้” เครื่องช่วยฟังสำหรับผู้ที่จำเป็นต้องใช้ แต่ที่ผ่านมาระบบการให้เครื่องช่วยฟังได้ให้ในสิ่งที่ตรงกับความต้องการของผู้รับหรือไม่ และผู้ได้รับเครื่องช่วยฟังได้ใช้เครื่องอย่างเต็มประสิทธิภาพหรือไม่ สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) ได้ให้ HITAP ประเมินระบบบริการหลังการให้เครื่องช่วยฟังและการใช้เครื่องช่วยฟังของผู้พิการทางการได้ยินในระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า เพื่อหาคำตอบ

 

เมื่อการ “ให้” เพียงเครื่องช่วงฟัง อาจยังไม่แก้ปัญหา

สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติหรือที่รู้จักกันดีว่าบัตรทอง ให้สิทธิ์สำหรับผู้พิการทางการได้ยินสามารถเข้าขอรับบริการเครื่องช่วยฟังได้ฟรีในหน่วยบริการที่ได้รับการขึ้นทะเบียน จำนวน 123 แห่งครอบคลุม 70 จังหวัด

เครื่องช่วยฟัง เป็นอุปกรณ์ทางการแพทย์ที่ต้องนำเข้าจากต่างประเทศ ที่มีเกณฑ์การเบิกจ่ายทั้งค่าบริการและราคาเครื่องรวมกันสูงสุดถึง 13,500 บาทต่อราย ซึ่งสูงกว่าอุปกรณ์สำหรับคนพิการอื่นๆ เนื่องจากเป็นอุปกรณ์ที่มีความซับซ้อน สถานพยาบาลที่สามารถให้บริการเครื่องช่วยฟังได้ จะจำกัดเฉพาะโรงพยาบาลระดับตติยภูมิขึ้นไป   ทั้งนี้ผลการศึกษาเบื้องต้นของ HITAP พบข้อมูลน่าสนใจว่า

ผู้ใช้กว่า 30 % รายงานว่า ได้รับเครื่องช่วยฟัง แต่เลิกใช้เพราะมีปัญหา เช่น มีเสียงรบกวน รู้สึกไม่สบายหู (คับ แน่น หลวม) และแบตเตอรี่ราคาแพงและหาซื้อยาก  นอกจากนี้ยังมีรายงานปัญหาอื่นๆ เช่น ไม่มีศูนย์ซ่อมที่ไปสะดวก หาซื้อแบตเตอรี่ยาก สถานบริการที่มีอยู่ไม่เพียงพอ

อย่างไรก็ดี มีข้อค้นพบที่น่าสนใจ ว่า ผู้ใช้ยินดีที่จะร่วมจ่ายค่าแบตเตอรี่ แต่ควรมีการกำหนดราคาเหมาะสม สามารถซื้อได้ง่าย และใช้ได้ดี ประเด็นปัญหาที่พบจากงานวิจัยเหล่านี้ เป็นข้อมูลสำคัญต่อการปรับปรุงระบบบริการ ให้ผู้ที่ต้องการใช้ได้เข้าถึง และได้ใช้เครื่องช่วยฟังอย่างเต็มประสิทธิภาพ ให้งบประมาณที่ใช้ไปเกิดความคุ้มค่า

การสูญเสียการได้ยิน** คือมีการสูญเสียการได้ยินทั้งสองข้าง โดยข้างที่ดีกว่าจะต้องมีค่าเฉลี่ยของระดับการได้ยินทางอากาศ (Air Conduction Threshold) ของความถี่ 500, 1000 และ 2000 เฮิรตซ์ (Hertz: Hz) เท่ากับหรือมากกว่า 40 เดซิเบล (dB)

สามารถติดตามรายละเอียดโครงการได้ที่ www.hitap.net/research/139482

10 สิงหาคม 2559

Next post > ใครเสี่ยงเป็นมะเร็งเต้านม

< Previous post รู้เร็ว มะเร็งร้ายในปากคุณ

Related Posts

แสดงความคิดเห็น

ยกเลิกการตอบ

บทความที่เข้าชมมากที่สุด ในรอบ 3 เดือน