logo
ต้องการข้อมูลเพิ่มเติม ติดต่อฝ่ายสื่อสารองค์กร HITAP
วิจัยต้นทุน “ลดตีตรา – เลือกปฏิบัติผู้ติดเชื้อเอชไอวี/เอดส์ในสถานพยาบาล” โครงการนำร่องสู่นโยบายระดับชาติ

แม้จะเริ่มเป็นที่รับรู้ว่าผู้ติดเชื้อเอชไอวี/ผู้ป่วยเอดส์หากได้รับยาต้านเอชไอวีจะสามารถใช้ชีวิตได้เหมือนคนปกติ ทว่าสังคมไทยยังคงหวาดกลัวด้วยอคติที่ยังแฝงฝัง “การตีตรา – เลือกปฏิบัติ” จึงยังคงอยู่ ผลที่ตามมาอาจเหมือนไกลตัวทว่าแท้จริงแล้วกลับใกล้ตัวกว่าที่คิด

จากการคาดการณ์ด้วยแบบจำลองการระบาด (AIDS epidemic model และ Spectrum) พบว่าในปี 2559 ประเทศไทยมีผู้ติดเชื้อเอชไอวีและยังมีชีวิตอยู่ถึง 423,778 คน แต่ข้อมูลจากปี 2558 มีผู้ติดเชื้อมารับยาต้านไวรัสเอชไอวีที่ 28,434 คน คิดเป็นร้อยละ 65 เท่านั้นทั้งที่ประเทศไทยให้สิทธิการรับยาต้านฟรีแก่ผู้ติดเชื้อเอชไอวีทุกคน

เหตุใดจึงเป็นเช่นนั้น? สาเหตุหนึ่งมาจากการถูกตีตราและเลือกปฏิบัติจากสังคมและคนรอบข้างส่งผลให้ผู้ติดเชื้อเอชไอวี/ผู้ป่วยเอดส์เลือกที่จะปิดบังตัวเอง ไม่เข้าสู่ระบบเพื่อ รับบริการดูแลรักษาและป้องกันการติดเชื้อเพิ่ม

“หลังจากถูกปฏิเสธให้เข้าทำงานเพราะตรวจพบเชื้อเอชไอวี ผมหยุดทำงานไปเป็นปี” นี่คือเสียงหนึ่งของผู้ติดเชื้อเอชไอวีที่บอกเล่าจากเพจ มนุษย์กรุงเทพถึงผลกระทบที่ได้รับจากการตีตรา “พอกลับมาทำงานอีกครั้ง ช่วงแรก ๆ ระแวงมาก ได้ยินใครพูดถึงโรคเอดส์ แม้ไม่ได้เจาะจงแซวเรา แต่เกิดความกังวลแล้ว เขาจะรู้ไหม สงสัยเราหรือเปล่า ทำงานไปสักพัก มีข่าวว่าบริษัทจะถูกควบรวมกิจการ แล้วบริษัทมหาชนที่มาซื้อมีการตรวจ ผมไม่มีความสุขเลย เครียดจนทำงานไม่รู้เรื่อง สุดท้ายเลยชิ่งลาออก เพราะงานที่ทำวงการมันแคบ รู้หนึ่งคนอาจรู้กันหมด ตอนนั้นให้เหตุผลว่า กลับไปช่วยงานที่บ้าน ผมเคยได้ยินมา บางบริษัทบอกว่า ‘ขอตรวจเฉย ๆ แล้วให้ทำงาน’ แล้วจะตรวจเพื่อ! คุณเป็นหมอเหรอ ก็ไม่ ตรวจแล้วได้ยาต้านดีกว่าเดิมเหรอ ก็ไม่อีก เอาจริง ๆ ผมเข้าใจคนที่รู้แล้วกลัวนะ แต่มันกระทบเราแน่นอน จะให้ไม่รู้สึกรู้สาเลย เป็นไปไม่ได้หรอก เวลาใครสักคนเปิดตัวเอง เขามักทำงานด้านนี้ไปเลย รณรงค์เคลื่อนไหวเป็นอาชีพ ลองใครสักคนเปิดตัวแล้วเปิดร้านขายน้ำปั่น ใครจะกล้าซื้อ ทั้งที่มันไม่ติด (เน้นเสียง) ที่บอกว่าคนเข้าใจกันแล้ว ยังไม่เข้าใจกันจริง ๆ หรอก”

การตีตราและเลือกปฏิบัติกับผู้ติดเชื้อเอชไอวี/ผู้ป่วยเอดส์ ยังคงเป็นปัญหาร้ายแรงที่ส่งผลกระทบต่อทั้งสังคมเพราะเท่ากับเป็นการกีดกันไม่ให้ผู้ติดเชื้อหรือผู้ป่วยเข้ารับการรักษา  ในปี 2559 มีผู้ติดเชื้อร้อยละ 13 หลีกเลี่ยงหรือเข้ารับบริการสุขภาพล่าช้า และผลที่ตามมาอีกทอดก็คือการควบคุมโรคที่เป็นไปได้ยากขึ้น ปัญหานี้ยิ่งทวีความรุนแรงขึ้นหากการตีตราและเลือกปฏิบัติต่อผู้ติดเชื้อเอชไอวี/ผู้ป่วยเอดส์เกิดขึ้นที่สถานพยาบาล

จากเอกสาร “แนวทางการตรวจรักษาและป้องกันการติดเชื้อเอชไอวี ประเทศไทย ปี 2560” โดยสำนักโรคเอดส์ วัณโรคและโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุขมีระบุถึงมาตรการลดการตีตราและรังเกียจในระบบบริการสุขภาพ ดังนั้นจึงเกิดเป็นโครงการนำร่องด้วยชุดกิจกรรมที่เรียกว่า 3 x 4 คือการดำเนินงาน/มาตรการหลัก 3 มาตรการเพื่อเปลี่ยนแปลง 4 ปัจจัยหลัก เพื่อสร้างสถานพยาบาลที่ปราศจากการตีตราและเลือกปฏิบัติ ทว่าการจะผลักดันโครงการดังกล่าวให้กลายเป็นนโยบายที่เกิดขึ้นทั่วประเทศจำเป็นจะต้องศึกษาต้นทุนทั้งหมดของโครงการเสียก่อนเพื่อนำไปใช้ในการวางแผนหรือการจัดสรรทรัพยากรให้เหมาะสม

สุรเดช ดวงทิพย์สิริกุล นักวิจัย HITAP นักวิจัยหลักของโครงการ “การวิเคราะห์ต้นทุนโครงการส่งเสริมสถานบริการสุภาพที่ปราศจากการตีตราและเลือกปฏิบัติ” เผยถึงการสืบย้อนถึงต้นทุนทั้งหมดของโครงการที่มีตั้งแต่ค่าแรงวิทยากร ภาระงานของเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้อง ค่าเดินทาง ค่าที่พัก จนถึงปริมาณกระดาษที่ใช้ ความยากของการทำวิจัยลักษณะนี้นอกจากการเก็บข้อมูลตัวเลขแล้วยังเป็นเรื่องของการสืบค้นเพราะเป็นการประเมินต้นทุนย้อนหลังโครงการที่มีการดำเนินการไปแล้ว ทำให้ต้องค้นหาเอกสารหลักฐานซึ่งบางครั้งก็ยากจะสืบค้นเพราะแหล่งข้อมูลอาจไม่ได้มีการเตรียมการไว้ล้วงหน้า

“เรื่องของตัวเลขและข้อมูลบัญชีถ้ามีการเก็บรวบรวมที่ดีเราก็สามารถไปขอได้เลย แต่บางอย่างถ้าไม่ได้ถูกเก็บที่เดียวกันก็จะยากขึ้น และยิ่งโครงการนี้เป็นการหาข้อมูลต้นทุนย้อนหลังฉะนั้นเรื่องของการเงินที่ผ่านมามันก็ผ่านไปแล้ว แหล่งข้อมูลอาจจะลืมหรือไม่รู้ว่าข้อมูลอยู่ที่ไหน หรือข้อมูลชั่วโมงทำงานที่เราต้องเก็บเพื่อดูภาระงานเขา เขาอาจจะจำไม่ได้ ซึ่งเป็นความยากของการทำวิจัยลักษณะนี้”

การลงพื้นที่หาข้อมูลทั้งจากเอกสารและการสัมภาษณ์จึงจำเป็นต้องเรียนรู้จากพื้นที่ ปรับเปลี่ยนการสืบค้นจนถึงแบบสอบถามเพื่อให้ได้ข้อมูลที่ครบถ้วนที่สุด ความสำคัญของการวิจัยทั้งหมดนี้คือการจัดการข้อมูลเพื่อให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องสามารถประเมินต้นทุนและจัดการนโยบายในลำดับถัดไปได้

“การวิจัยนี้ท้ายที่สุดจะไปตอบโจทย์ในเรื่องความคุ้มค่าเรื่องประสิทธิผลของโครงการเพื่อให้รู้ว่าโครงการที่เราทำเมื่อเทียบกับต้นทุนแล้วมีประสิทธิผลหรือไม่ คุ้มค่ากับผลลัพธ์ที่ได้หรือไม่ และ เราสามารถจัดการให้มันสมดุลคือให้มีความคุ้มทุนได้อย่างไร แต่ ณ ตอนนี้ต้นทุนของงานวิจัยชิ้นนี้จะเป็นจุดเริ่มต้นเพื่อให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เอาไปดูต้นทุนว่ามันมีค่าใช้จ่ายทางบัญชีเท่าไหร่ ต้นทุนทางเศรษฐศาสตร์เท่าไหร่เพื่อนำไปใช้ในการวางแผนจัดสรรทรัพยากรให้เหมาะสมสำหรับขยายโครงการต่อในอนาคต และต่อยอดไปสำหรับการปะเมินความคุ้มค่าของโครงการต่อไป”

ถึงตอนนี้หลังจากทีมวิจัยลงพื้นที่เก็บข้อมูลจากโรงพยาบาลที่เข้าร่วมโครงการนำร่องงานวิจัยดังกล่าวก็เข้าสู่ขั้นตอนของการจัดการข้อมูลเพื่อผลักดันสู่ระดับนโยบายต่อไป สามารถติดตามความคืบหน้างานวิจัย “การวิเคราะห์ต้นทุนโครงการส่งเสริมสถานบริการสุภาพที่ปราศจากการตีตราและเลือกปฏิบัติ” ได้ที่ https://www.hitap.net/research/169316

30 พฤศจิกายน 2560

Next post > โฆษณานม คุณรู้หรือไม่สังคมไทยควบคุมกำกับแค่ไหน

< Previous post หนาวสิ้นปีเสี่ยง “โรคหืด” เด็กต่ำกว่า 5 ปีวินิจฉัยยาก อาการเรื้อรังร้ายลึกหากไม่รีบรักษา

Related Posts

แสดงความคิดเห็น

ยกเลิกการตอบ

บทความที่เข้าชมมากที่สุด ในรอบ 3 เดือน