logo
ต้องการข้อมูลเพิ่มเติม ติดต่อฝ่ายสื่อสารองค์กร HITAP
“อาหารมีพิษ – ยาสวยทำลายชีวิต” ภัยใกล้ตัวที่ “ภาคประชาชน” ต้องร่วมแก้ปัญหา

สารพิษกับชีวิตประจำวันอาจฟังดูเป็นเรื่องไกลกัน แต่หากเป็นสารพิษในการปลูกผัก ยาลดความอ้วน สารพิษอันตรายดูเป็นเรื่องใกล้ตัวกว่าที่คิด และนับวันสารพิษอันตรายเหล่านี้จะยิ่งคุกคามเข้ามาในชีวิตประจำวันมากขึ้น สำนักงานคณะกรรมการองค์การอาหารและยา (อย.) เพียงหน่วยงานเดียวอาจไม่เพียงพอ ภาคประชาชนในยุค social media จึงต้องเร่งขับเคลื่อน

 

อาหารไทย…อย. ตรวจจริงแต่ตามไม่ทัน

คุณปรกชล อู๋ทรัพย์  ผู้ประสานงานเครือข่ายเตือนภัยสารเคมีกำจัดศัตรูพืช (Thailand Pesticide Alert Network – Thai-PAN) ชี้ให้เห็นภาพรวมปัญหาสารพิษตกค้างในพืชผักผลไม้ที่บริโภคกันอยู่ในประเทศไทย  พร้อมแนวทางต่าง  ๆ ในการแก้ปัญหา โดยเริ่มต้นจากปัญหาสำคัญคือภาครัฐจะวิเคราะห์สารตามประกาศเพียง 4 กลุ่ม ซึ่งไม่ครอบคลุมสารเคมีใหม่ ๆ ที่ใช้กันแพร่หลายในปัจจุบัน มีการตรวจและติดตามเพียง 10 % ของสารทั้งหมด พอไม่มีกฎหมายควบคุมสารเคมีให้ทันกับการนำมาใช้ จึงไม่มีการพัฒนาระบบและเครื่องมือตรวจที่จะมารองรับ ประกอบกับการขึ้นทะเบียนสารเคมีอยู่ในความควบคุมของกระทรวงเกษตร ในขณะที่การดูแลด้านอาหารภายในประเทศอยู่ในมือ อย. ซึ่งเป็นเพียงผู้ออกกฎหมาย เมื่อสุ่มตรวจผลออกมาว่าไม่ปลอดภัย กลับไม่สามารถดำเนินคดีได้ทุกราย

แม้ว่า Thai-PAN จะมีการสุ่มตรวจเลือดผู้บริโภค มา 4-5 ปี และพบว่าความสัมพันธ์ในสารต้องห้าม 4 กลุ่ม มีแนวโน้มลดลง ทั้งในผลตรวจผัก-ผลไม้และผลเลือดจากผู้บริโภค แต่ปัจจุบันมีสารเคมีใหม่ ๆ มากมายที่ใช้ในประเทศไทย แต่กฎหมายตามไม่ทันและยังไม่มีเครื่องมือตรวจ เมื่อเทียบกับสหภาพยุโรปที่มีการแก้ปัญหาด้วยแนวทางการควบคุมสารโดยดูจากอันตรายของตัวสาร (hazard-based) นั่นคือมีเกณฑ์ในการตัดออกสำหรับสารที่อันตรายต่อคนและสิ่งแวดล้อม แต่ไทยใช้การประเมินความเสี่ยงที่เกิดจากการใช้สารนั้น ๆ (risk-based) ซึ่งกว่าจะห้ามใช้สารแต่ละตัวใช้เวลาเป็นสิบปี การขาดระบบติดตามการนำเข้าและการใช้สารเคมีเป็นอีกหนึ่งประเด็นปัญหา

มีข้อมูลระบุว่า ไทยนำเข้ายาฆ่าหญ้าไกลโคเซตราว 60 ล้านกิโลกรัมต่อปี แต่ไม่มีข้อมูลติดตาม ทำให้ไม่สามารถประเมินความเสี่ยงได้ โดยมีกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับเรื่องนี้อยู่ 2 ฉบับ แต่ไม่ได้ลงลึกถึงเรื่องการจำหน่ายและการใช้ของเกษตรกร อย.เพียงติดตามเมื่อสินค้าออกสู่ตลาดแล้วดังนั้น อย. ควรสุ่มตรวจพ่วงไปกับกระบวนการการเฝ้าระวังและแจ้งเตือนภัย เช่น หากตรวจพบการใช้สารผิดกฎหมาย จะดำเนินการอย่างไรกับผู้ประกอบการ มีบทลงโทษและการติดตามต่ออย่างไร กระทรวงเกษตรและตำรวจจะเข้ามามีส่วนหรือไม่

ประเทศไทยควรมีระบบแจ้งเตือนภัยแบบเร่งด่วน (Rapid Alert System – ระบบแจ้งเตือนภัยแบบเร่งด่วนของสหภาพยุโรปมีวัตถุประสงค์เพื่อให้เป็นระบบเตือนภัยสำหรับผู้บริโภคในประเทศสมาชิก EU ให้ทราบถึงอันตรายและผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นจากการใช้สินค้าดังกล่าว เพื่อหาทางป้องกัน หรือกำหนดระเบียบควบคุมการใช้และการโฆษณาสินค้าเหล่านั้นได้อย่างทันท่วงที) ที่จะมาช่วยป้องกันสินค้านำเข้าที่ไม่ปลอดภัย คือทั้งสุ่มตรวจสอบ มีกระบวนการแก้ปัญหา และต้องมีการเผยแพร่ข้อมูลให้สังคมตื่นตัวด้วย ในส่วนของผู้บริโภค ควรต้องหาข้อมูลให้รอบด้านก่อนการซื้อผลิตภัณฑ์ต่าง ๆ และเลือกสนับสนุนผลิตภัณฑ์ที่ปลอดภัย แม้ตลาดมีน้อย แต่ถ้าทุกคนทำอย่างต่อเนื่อง เกษตรกรแนวอินทรีย์มีกำลังใจ จะสามารถสร้างผลผลิตได้โดยไม่ต้องรอภาครัฐ

 

ยาและเรา

มาถึงปัญหาเรื่องยาที่คนไทยต้องเผชิญ ผศ. ภญ. ดร.นิยดา เกียรติยิ่งอังศุลี ผู้จัดการแผนงาน ศูนย์วิชาการเฝ้าระวังและพัฒนาระบบยา (กพย.) ได้ให้ข้อเสนอแนะต่อการแก้ปัญหาและความเสี่ยงต่าง ๆ ต่อการเข้าถึงยาและการใช้ยาของคนไทย  ประเด็นที่ใกล้ตัวผู้บริโภคมากที่สุดคือการควบคุมการโฆษณาผลิตภัณฑ์สุขภาพ   ตามกฎหมาย ยาอยู่ในกลุ่มผลิตภัณฑ์ที่ต้องขออนุญาตโฆษณา เช่นเดียวกับอาหารและเครื่องมือแพทย์ แต่ด้วยข้อจำกัดด้านกำลังคนและขั้นตอนการทำงานที่ล่าช้าของ อย. แถมผู้ผลิตยังใช้การโฆษณาหลายช่องทาง ทำให้การควบคุมโฆษณาได้ยาก โดยเฉพาะการควบคุมโฆษณายาบนอินเตอร์เน็ต เช่น การขายยาลดความอ้วนซึ่งส่งผลกระทบจนถึงขั้นเสียชีวิตมาแล้ว

นอกจากนั้น ยังมีปัญหายาชุด ยาจีนผสมสเตียรอยด์ แพร่ระบาด มีการนำยาชุดเข้ามาขายโดยโฆษณาว่าแก้ได้สารพัดในพื้นที่ชายแดน ปัญหาร้านขายยาแผนปัจจุบันบางร้านจัดยาชุดยาขายเอง ไม่รู้ว่าคนไข้แพ้ยาอะไร และยาบางตัวอาจไม่ได้รับการขึ้นทะเบียน รวมทั้งมีปัญหาเรื่องความล้าหลังของกฎหมายความไม่ชัดเจนของนโยบายเรื่องการประเมินนโนบายต่อการขึ้นและการถอนทะเบียนยา โดยที่ผ่านมา อย. เน้นนโยบายการขึ้นทะเบียนยาให้รวดเร็ว แต่ไม่มีตัวกฎหมายที่พูดถึงการประเมินประสิทธิภาพยา ประเทศไทยยกเลิกทะเบียนยาครั้งสุดท้ายใน ปี พ.ศ. 2526 ผ่านมาแล้ว 34 ปี ยังไม่เคยมีการถอนยาใดออก ส่วนมากขายทะเบียนต่อ กลายเป็นยาที่ได้รับการอนุญาตให้ขายได้ต่อไป

อีกประเด็นที่น่ากังวลคือ ปัจจุบัน อย. ยังขาดกลไกควบคุมกลุ่มยากำพร้าสำหรับโรคที่คนเป็นน้อย (Rare disease) ผู้ผลิตไม่อยากลงทุน และด้วยข้อจำกัดด้านบุคลากรทำให้ไม่สามารถควบคุมยากลุ่มใหม่ เช่น  ยาที่มีการรักษาแบบเฉพาะเจาะจง (Targeted therapy) และการรักษาด้วยสเต็มเซลล์  ทำให้คนเสียโอกาสในการเข้าถึงยาใหม่ และความก้าวหน้าทางวิทยาศาสตร์เทคโนโลยีอื่น ๆ  สำหรับข้อแนะนำในการแก้ปัญหาต่าง ๆ เพื่อให้เกิดระบบดูแลและคุ้มครองผู้บริโภคที่มีประสิทธิภาพมากขึ้น ควรปรับปรุงดังนี้

  • อย. ต้องทำงานในฐานะที่เป็นศูนย์กลางเรื่องการคุ้มครองผู้บริโภค  แม้จะมอบอำนาจไปยังหน่วยงานที่เกี่ยวข้องแล้ว แต่ต้องมีข้อมูลสถานการณ์ทั้งหมด เชื่อมโยงข้อมูลและมองภาพรวมการคุ้มครองผู้บริโภคได้
  • อย. ควรสนับสนุนให้ผู้บริโภคเข้ามาทำงานด้านการคุ้มครองผู้บริโภคร่วมกัน และอำนวยความสะดวกในการทำงานอย่างเต็มที่
  • ควรจะมีการแยกหน่วยประเมินผลิตภัณฑ์ออกจากหน่วยงานที่ทำหน้าที่ขึ้นทะเบียนผลิตภัณฑ์ เพื่อให้เกิดการคานอำนาจซึ่งกันและกัน รวมทั้งให้มีสมาคมคุ้มครองผู้บริโภคเข้าไปอยู่ในส่วนการกำหนดนโยบาย
  • อย. ควรกำหนดนโยบายให้เหมาะสมและชัดเจน ไม่ควรเน้นเรื่องการให้ความสะดวกในการขึ้นทะเบียนอย่างเดียว ต้องมีการดูแลเรื่องการถอนทะเบียนด้วย โดยครอบคลุมทั้ง Pre และPost marketing
  • ควรมีการตั้งกองทุนสำหรับผู้ที่ได้รับผลกระทบจากการใช้ยา เช่นในประเทศญี่ปุ่น เมื่อเกิดความเสียหายจากการใช้ยา รัฐบาลตั้งกองทุนเยียวยาและเรียกเก็บเงินจากบริษัทผู้ผลิต พบว่าระบบดังกล่าวดีมาก กองทุนมีเงินเหลือก็นำเงินไปทำ R&D ให้กับบริษัทกลับไปพัฒนาต่อเนื่องได้

เสียงสะท้อนที่ทำให้เห็นมุมมองของคนทำงานที่สัมผัสกับปัญหาต่าง ๆ โดยตรง ทั้งเรื่องอาหารและยาน่าจะมีประเด็นที่ทำให้อย.ได้นำมาซ่อมเสริมในส่วนที่ยังขาด และเพิ่มเติมในจุดที่แข็งแกร่งอยู่แล้ว ให้ขับเคลื่อนได้อย่างมีประสิทธิภาพต่อไปในอนาคต

รายละเอียดเพิ่มเติมเกี่ยวกับประเด็นเกี่ยวกับอนาคตผู้บริโภคในมืออย. และหลากหลายประเด็นที่เกี่ยวข้องได้ในจุลสาร “อนาคต อย. แยกบางอย่างสร้างบางส่วน”

ขอบคุณภาพประกอบจาก
Icons made by Baianat from www.flaticon.com is licensed by CC 3.0 BY
Icons made by Freepik from www.flaticon.com is licensed by CC 3.0 BY
Icons made by Rami McMin from www.flaticon.com is licensed by CC 3.0 BY
13 มีนาคม 2561

Next post > ยานอนหลับไม่ใช่ทางออกที่ดีที่สุดสำหรับโรคนอนไม่หลับ

< Previous post เปิดมุมมอง “ภญ.พัทธรา ลีฬหวรงค์” หัวหน้าโครงการ HITAP คนใหม่

Related Posts

แสดงความคิดเห็น

ยกเลิกการตอบ

บทความที่เข้าชมมากที่สุด ในรอบ 3 เดือน