logo
ต้องการข้อมูลเพิ่มเติม ติดต่อฝ่ายสื่อสารองค์กร HITAP
เอ็กซเรย์ปอดหา “มะเร็งปอด – วัณโรค” ในคนทั่วไปอาจไม่พบแถมเสี่ยง

การรักษาทุกอย่างมีความเสี่ยง โปรดศึกษาข้อมูลให้ถี่ถ้วนก่อนการตัดสินใจ

มะเร็งปอด – วัณโรคเป็นโรคร้ายแรงที่พบได้ในประเทศไทย การตรวจโรคเพื่อค้นพบและรักษาก่อนโรคลุกลามจึงเป็นสิ่งที่หลายคนเลือกทำเพื่อความสบายใจ และการตรวจทั้งสองโรคที่ฟังดูแล้วน่าจะได้ผลดีที่สุดก็คือการ “เอ็กซเรย์ปอด” ทว่าความจริงอาจไม่เป็นเช่นนั้น “ซีรีส์ เรื่องที่คุณไม่รู้เกี่ยวกับการรักษา” ขอเสนอข้อมูลที่จะทำให้คุณรู้ว่าการเอ็กซเรย์ปอดอาจไม่สามารถตรวจพบวัณโรค และยังอาจทำให้เกิดผลบวกลวงที่ทำให้คุณเสี่ยงกว่าเดิมได้

แม้ว่าการเอ็กซเรย์ปอดจะเป็นวิธีการหนึ่งที่ได้รับการยอมรับสำหรับวินิจฉัยวัณโรคซึ่งเป็นโรคติดต่อร้ายแรง และจากการที่วัณโรคส่วนใหญ่มักเกิดที่ปอดจึงทำให้คนทั่วไปคิดว่าการเอ็กซเรย์ปอดน่าจะเป็นการคัดกรองวัณโรคที่ดี เช่นเดียวกับการที่มะเร็งปอดเป็นมะเร็งที่รักษายากที่สุดอย่างหนึ่ง ผู้ป่วยส่วนใหญ่มักเสียชีวิตอย่างรวดเร็วภายหลังการวินิจฉัย จึงทำให้มีความพยายามที่จะใช้การเอ็กซเรย์ปอดในการคัดกรองมะเร็งปอดเพื่อนำไปสู่การรักษาในระยะเริ่มแรก

ด้วยเหตุดังกล่าวการเอ็กซเรย์ปอดถูกนำมาบรรจุไว้ใน ชุดตรวจร่างกาย ทั้ง ๆ ที่ไม่มีหลักฐานที่แสดงว่ามีประโยชน์ในการตรวจคัดกรองความเสี่ยงของโรคดังกล่าว เพราะมีโอกาสน้อยมากที่การเอ็กซเรย์ปอดของคนทั่วไปแล้วจะช่วยให้ตรวจพบวัณโรค เนื่องจากมีความไวและความจำเพาะต่ำในการค้นหาวัณโรค

ในทางตรงกันข้ามกลับพบว่า การเอ็กซเรย์ปอดนอกจากจะเพิ่มความเสี่ยงต่อการเป็นมะเร็งจากการได้รับรังสีแล้ว ยังมีโอกาสทำให้เกิดผลบวกลวง ทำให้ผู้ตรวจพบความผิดปกติต้องเข้ารับการวินิจฉัยเพิ่มเติม เช่น การส่องกล้องเข้าไปในระบบทางเดินหายใจ หรือบางรายถึงกับต้องผ่าตัดทรวงอก ทำให้ทุพพลภาพหรือเสียชีวิตไปเลยก็มี นอกจากนี้ มีข้อค้นพบจากงานวิจัยว่า การเอ็กซเรย์ปอดในผู้ที่สูบบุหรี่ หากผลการตรวจแสดงว่าไม่ผิดปกติ ผู้ที่ได้รับการตรวจจะเกิดความ ประมาททำให้มีแนวโน้มที่จะไม่เลิกบุหรี่มากกว่าคนที่ไม่ได้รับการเอ็กซเรย์ปอดอีกด้วย จึงสรุปได้ว่าการเอ็กซเรย์ปอดน่าจะเป็นการ ตรวจที่ทำให้เกิดผลเสีย สำหรับคนทั่วไปที่ไม่มีปัญหาสุขภาพมาก่อนหน้า

อย่างไรก็ตาม ข้อมูลความรู้ที่รวบรวมในบทความนี้ (อ้างอิงจากหนังสือ “เช็คระยะสุขภาพ : ตรวจดีได้ ตรวจร้ายเสีย” ตีพิมพ์ปี 2557) อาจมีการเปลี่ยนแปลงได้ เช่นเดียวกันกับความรู้ที่แพทย์หลายท่านเคยได้รับทราบมาในอดีตและไม่มีโอกาสรับทราบข้อมูลใหม่ที่ค้นพบในปัจจุบัน ส่งผลให้แพทย์เหล่านั้นยังคงแนะนำให้ประชาชนตรวจคัดกรองสุขภาพบางอย่างที่ระบุในบทความนี้ว่าไม่มีประโยชน์

รายละเอียดเพิ่มเติมเกี่ยวกับการตรวจคัดกรองสามารถอ่านเพิ่มเติมได้ที่ “เช็คระยะสุขภาพ : ตรวจดีได้ ตรวจร้ายเสีย” คลิ๊ก https://www.hitap.net/documents/18970

 

ซีรีส์ ‘เรื่องที่คุณไม่รู้เกี่ยวกับการรักษา’ นี้ เราได้แรงบันดาลใจมาจากหนังสือเรื่อง Testing Treatments ‘การรักษาที่ต้องสงสัย’ เขียน โดย อิโมเจน อีแวนส์, เฮเซล ธอร์น ตัน, เอียน ชาลเมอร์ส, พอล กลาสซิโอ เพราะ ‘ในโลกนี้ไม่มีอะไรแน่นอน เว้นแต่ความตายและภาษี’ เราจึงต้องสงสัยไว้เสมอว่า ‘วิธีการรักษานั้น ๆ เหมาะสมแล้วแน่หรือ’ การแพทย์ช่วยชีวิตผู้คนไว้มากมาย แต่การรักษาทุกอย่างก็มีความเสี่ยงซึ่งเกินความสามารถที่เราจะคาดเดาได้ เมื่อเราต้องเลือก จึงต้องใช้ข้อมูลประกอบการตัดสินใจ หนังสือเล่มนี้จะพาผู้อ่านไปสำรวจผลของการมี (และขาด) ข้อมูลที่มีคุณภาพ วิธีที่เหมาะสมเพื่อให้ได้ข้อมูลเหล่านั้น และเราจะนำข้อมูลไปใช้อย่างไร คำว่า ‘เรา’ ในที่นี้หมายถึงทุกฝ่าย ไม่ใช่เพียงแพทย์ ไม่ใช่แค่นักวิจัย แต่ผู้ป่วยและบุคคลทั่วไปก็ควรมีส่วนตัดสินใจในเรื่องที่เกี่ยวกับการรักษา (และการไม่รักษา) ที่ตนจะได้รับ หนังสือเล่มนี้กำลังแปลเป็นภาษาไทย ติดตามที่ HITAP ได้เร็ว ๆ นี้

30 เมษายน 2561

Next post > “เมจิกสกิน VS อย.” ช่องโหว่อยู่ไหน เหตุใดมีเลขอย.แต่ยังเสี่ยง

< Previous post ตรวจคัดกรองมะเร็งต่อมลูกหมาก “PSA” อาจให้โทษมากกว่า

Related Posts

แสดงความคิดเห็น

ยกเลิกการตอบ

บทความที่เข้าชมมากที่สุด ในรอบ 3 เดือน