logo

สปสช. และ HITAP ขอเชิญท่านมาร่วมเป็นส่วนสำคัญในการยกระดับบริการสุขภาพของประเทศไทย ด้วยการตอบแบบสอบถามในหัวข้อ “การปฏิบัติงานตามนโยบาย 30 บาทรักษาทุกที่ ด้วยบัตรประชาชนใบเดียว”

ต้องการข้อมูลเพิ่มเติม ติดต่อฝ่ายสื่อสารองค์กร HITAP
รอบรู้ภาวะสมองเสื่อม ภัยร้ายที่กำลังมาเยือนสังคมไทย

ปัจจุบันประชากรของประเทศไทยได้เข้าสู่สังคมผู้สูงอายุแล้ว ปัญหาอย่างหนึ่งที่ตามมาอย่างยากจะหลีกเลี่ยงได้คืออัตราผู้ป่วยโรคสมองเสื่อมที่จะเพิ่มมากขึ้นตามอายุของประชากร ซึ่งกำลังจะกลายเป็นปัญหาที่ส่งผลกระทบรอบด้านอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ เนื่องมาจากมีปัจจัยเสริมหลายอย่าง ไม่ว่าจะเป็นการมีอายุยืนยาวขึ้นของคนไทยและจำนวนประชากรที่ยังคงเพิ่มสูงขึ้นอยู่ทุกปี

เพื่อเป็นการเตรียมพร้อมรับมือจากทั้งทางด้านประชาชน ระบบสาธารณสุข ระบบสวัสดิการสังคม และรัฐ HITAP จึงได้ระดมผู้เชี่ยวชาญเกี่ยวกับโรคสมองเสื่อมในประเทศไทยมาร่วมประชุมแลกเปลี่ยนความรู้ ภายใต้โครงการทบทวนองค์ความรู้เรื่องภาวะสมองเสื่อม และจัดทำหนังสือประมวลสาระน่ารู้ต่างๆ เกี่ยวกับภาวะสมองเสื่อมขึ้น โดยคัดสรรสาระที่ได้จากการบันทึกการประชุมระดมสมอง ข้อเสนอเชิงนโยบาย และผลงานทางวิชาการทั้งในและต่างประเทศ เพื่อใช้เป็นแหล่งอ้างอิงสำหรับประชาชนใจทั่วไป รวมไปถึงนักวิชาการทั้งในและนอกวงการสาธารณสุข

ข้อเท็จจริงเกี่ยวกับภาวะสมองเสื่อม

ถ้าไม่คำนึงถึงความผิดปกติของส่วนอื่นๆ ในร่างกายที่ส่งผลให้สมองคนเราทำงานบกพร่องลง เช่น ปัญหาหลอดเลือดสมอง หรือการขาดสารอาหารที่จำเป็นต่อการทำงานของสมอง คงปฏิเสธไม่ได้ว่า ต้นเหตุสำคัญที่ทำให้คนเราต้องสมองเสื่อมก็คือสังขารที่เสื่อมถอยลงนั่นเอง จะหลีกเลี่ยงอย่างไรก็คงไม่พ้น ได้ล่วงรู้ชะตากรรมเช่นนี้แล้ว แทนที่จะนั่งเฉยๆ ปล่อยให้มันเสื่อมลงช้าๆ ลองปรับเปลี่ยนวิถีชีวิตเสียใหม่ หาเรื่องหาโอกาสฝึกสมองให้กระฉับกระเฉงทุกวัน ก็คงจะเป็นภูมิต้านทานโรคที่ดีที่สุด เฉกเช่นใบมีดที่ไม่ได้งานนานๆ ก็สนิมจับจนสูญเสียความคม ฉันใดก็ฉันนั้น

แม้ว่าภาวะเสื่อมสมรรถนะทางสมองเป็นความผิดปกติที่เกิดขึ้นอย่างช้าๆ ค่อยเป็นค่อยไป แต่เมื่อใดที่เริ่มเป็นแล้วไม่มีวันรักษาให้หายขาด ตัวยาสารพัดในปัจจุบันที่มีราคาแสนแพง ล้วนเป็นแค่ตัวยาชะลออาการของผู้ป่วยให้อยู่ในระยะที่สามารถช่วยเหลือตัวเองได้นานที่สุดเท่านั้นส่วนจะพัฒนาเร็วหรือช้าอย่างไรนั้นขึ้นอยู่กับสุขภาพของผู้ป่วย ลักษณะการดูแลของคนรอบข้าง และวิธีการรักษาโรคเป็นสำคัญ

การเตรียมความพร้อมเพื่อการป้องกันและรับมือกับภาวะถดถอยทางสมอง

  • สิ่งที่ผู้ป่วยควรทำ เนื่องจากมีหลักฐานสนับสนุนชัดเจนเรื่องการช่วยชะลออาการสมองเสื่อมได้ คือจากการออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ และสนับสนุนให้มีการกระตุ้นสมองจากกิจกรรมที่ใช้ความคิด หรือเล่นเกมฝึกสมองที่มีให้เลือกมากมาย อาทิ คำคม(เกมต่ออักษรภาษาไทย), ซูโดกุ(เกมถอดรหัสปริศนาตัวเลข), เอแม็ท (A-Math), หมากรุก และ เกมโกะ(หมากล้อม) ซึ่งเป็นเกมประลองปัญญาที่ได้ทั้งความเพลิดเพลิน ฝึกสมาธิยกระดับภูมิปัญญา และเสริมสร้างปฏิสัมพันธ์กับผู้คนรอบข้าง
  • สิ่งที่ควรทำ ถึงแม้จะยังไม่มีหลักฐานชี้ชัดเจนถึงผลสัมฤทธิ์ คือ ต้องหมั่นเป็นคนใฝ่รู้อย่างต่อเนื่อง มีกิจกรรมทางสังคม หาโอกาสศึกษาต่อเพื่อยกระดับความรู้ให้สูงขึ้น เลือกทานอาหารเพื่อสุขภาพ ไม่สูบบุหรี่ ไม่ดื่มสุรามากเกินไป หลีกเลี่ยงการบาดเจ็บทางศีรษะ หมั่นดูแลตนเองด้วยการไม่ปล่อยให้อาการป่วยเรื้อรังและตรวจสุขภาพประจำปีอย่างสม่ำเสมอ
  • สิ่งที่ไม่ควรทำ เพราะนอกจากจะสิ้นเปลืองเงินทอง ยังไม่มีหลักฐานยืนยันถึงประโยชน์อย่างแท้จริง คือการใช้ยาเสริมหรือวิตามินต่างๆ ดังต่อไปนี้ ยาลดไขมันกลุ่ม statin , ฮอร์โมนเสริม(Dehydroepiandrosterone, DHEA), ยาต้านการอักเสบกลุ่ม NSAID, สารสกัดใบแปะก๊วย, กรดไขมันโอเมก้า 3, โฟลิก (ยกเว้นผู้ป่วยที่มีภาวะโฮโมซีสเตอีนสูง), วิตามินบี 6, วิตามินบี12 และวิตามินซี
  • สิ่งที่ควรหลีกเลี่ยง เพราะนอกจากไม่มีประโยชน์แล้ว ยังมีผลเสียตามติดมา คือ การใช้ยา สาร หรือวิตามินต่างๆ เช่น โปรเคน(ยาชาชนิดหนึ่ง), ฮอร์โมนทดแทนในเพศหญิง และวิตามินขนาดเกินกว่า 400 หน่วยต่อวันขึ้นไป

ทั้งหมดที่ว่ามาเป็นเพียงแค่สาระฉบับย่นย่อเท่านั้น แนะนำว่าให้ดาวน์โหลดหนังสือฉบับเต็มในรูปไฟล์ PDF ที่ www.hitap.net/research/10663 เพื่อดูแลคนที่คุณห่วงใย และดูแลตัวคุณเองในวันข้างหน้า.

20 มีนาคม 2556

Next post > สาระน่ารู้เกี่ยวกับเลนส์แก้วตาเทียม

< Previous post สาว ๆ คะ...ไปคัดกรองมะเร็งปากมดลูกกันเถอะ

Related Posts

แสดงความคิดเห็น

ยกเลิกการตอบ