logo
ต้องการข้อมูลเพิ่มเติม ติดต่อฝ่ายสื่อสารองค์กร HITAP
เรียกคืนใบขับขี่ – ตรวจสายตาผู้สูงอายุ ป้องกันอุบัติเหตุได้

“ผู้สูงวัยขับรถชน” คือโศกนาฏกรรมบนท้องถนนที่ชวนให้สังคมตั้งคำถาม

เราควรทำอย่างไร? กฎเกณฑ์ที่เป็นอยู่ควรแก้ไขหรือไม่?

และคำถามดังกล่าวคงจะยิ่งสำคัญขึ้นเพราะประเทศไทยได้เข้าสู่สังคมสูงอายุแล้ว โดยมีประชากรอายุ 60 ปีขึ้นไปมากถึงร้อยละ 17 ของประชากรทั้งหมด และในอีกไม่กี่ปีข้างหน้าเราจะกลายเป็นสังคมสูงอายุอย่างสมบูรณ์ คือมีประชากรอายุ 60 ปีขึ้นไป มากกว่าร้อยละ 30 ของประชากรทั้งหมด

เทียบให้ชัด ในประเทศอาเซียนเรามีผู้สูงอายุมากเป็นอันดับสอง เป็นรองเพียงประเทศสิงคโปร์เท่านั้น

ปัญหาอุบัติเหตุบนท้องถนนอันเป็นผลมาจากสังคมสูงอายุจึงเป็นสิ่งสำคัญที่ไม่ควรมองข้าม HITAP ขอเปิดบทความวิชาการ “ประสิทธิผลและความคุ้มค่าทางเศรษฐศาสตร์ของมาตราการตรวจคัดกรองสุขภาพเพื่อป้องกันอุบัติเหตุจราจรทางถนน (2556)เผยถึงข้อเสนอแนะเชิงนโยบายเพื่อเตรียมรับมือกับสิ่งที่อาจเกิดขึ้น

มาตรการป้องกันอุบัติเหตุบนท้องถนนมีอยู่หลายแนวทาง ไม่มีมาตรการใดสามารถแก้ไขปัญหาได้ทั้งหมด งานวิจัยของ HITAP ชิ้นนี้ศึกษาในประเด็นด้านการคัดกรองสุขภาพเพื่อป้องกันอุบัติเหตุเท่านั้น โดยกระบวนการวิจัยมีการศึกษาแนวทางในต่างประเทศและประชุมหารือกับผู้เชี่ยวชาญที่เกี่ยวข้องกับประเด็นดังกล่าวจนได้มาเป็นข้อแนะนำสำหรับประเทศไทยในที่สุด (สามารถติดตามอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่นี่ https://www.hitap.net/documents/18712)

 

นโยบายของต่างประเทศเป็นอย่างไร?

มาตรการป้องกันอุบัติเหตุบนท้องถนนมีอยู่หลากหลายรูปแบบ ในส่วนที่ HITAP ทำการศึกษานั้นได้มีการศึกษาสำรวจแนวทางการคัดกรองที่ช่วยลดอุบัติเหตุในแต่ละประเทศ โดยในประเด็นที่เกี่ยวกับสุขภาพและผู้สูงอายุมีดังนี้

สหรัฐอเมริกา กำหนดให้ต้องยื่นใบตรวจสุขภาพที่ตรวจโดยแพทย์ประกอบด้วย การตรวจความชัดเจนในการมองเห็น การวัดลานสายตาและแฟ้มประวัติสุขภาพซึ่งแต่ละรัฐมีเกณฑ์ต่างกัน เช่น ในรัฐฟลอริดามีการตรวจความชัดเจนในการมองเห็นสำหรับผู้มีอายุ 80 ปีขึ้นไป และ ในรัฐแมรีแลนด์ เป็น 65 ปีขึ้นไป

สิงคโปร์ ไม่มีการตรวจร่างกาย มีเพียงลงนามยืนยันว่าไม่ป่วยเป็นโรคลมชัก โรคทางจิตเวช หรือมีอาการทางระบบประสาท สามารถอ่านตัวหนังสือออกภายในระยะ 25 เมตร ไม่มีความพิการทางร่างกายที่จะเป็นอันตรายต่อการขับขี่และไม่มีภาวะตาบอดสี ใบขับขี่มีระยะเวลาตลอดชีพ ผู้มีอายุเกิน 65 ปี ต้องตรวจร่างกายโดยแพทย์ทุก 3 ปี ซึ่งแพทย์จะเป็นผู้พิจารณาว่าสมควรได้รับการต่อใบอนุญาตขับขี่หรือไม่

ออสเตรเลีย ประชาชนต้องรายงานสุขภาพเพื่อขอหรือต่อใบขับขี่ มีหน่วยงานกลางเป็นผู้ประเมิน แนะนำรายการตรวจสุขภาพและรายงานโรคที่ส่งผลต่อการขับขี่ เช่น ประวัติการหมดสติ โรคเกี่ยวกับการนอน โรคลมชัก โรคเบาหวาน มีการกำหนดระยะเวลางดขับขี่หลังทำหัตถการต่าง ๆ โดยต้องรายงานเร็วที่สุดหรือภายใน 7 วัน หากฝ่าฝืนแล้วเกิดอุบัติเหตุจะถูกตัดคะแนนวินัยจราจร นำไปสู่บทลงโทษเช่นยึดใบขับขี่เป็นเวลา 3 เดือนหรือ 6 เดือน ผู้มีอายุน้อยกว่า 75 ปีตรวจร่างกายทุก 10 ปี ขณะที่ผู้ที่มีอายุมากกว่า 75 ปีต้องตรวจร่างกายทุก 3 ปี

 

“วัดสายตาผู้สูงวัย – เรียกคืนใบขับขี่”

ปัจจุบันการออกใบขับขี่ในประเทศไทยต้องใช้ใบรับรองแพทย์ โดยมีโรคต้องห้ามคือ โรคจิตหรือจิตฟั่นเฟือน ปัญญาอ่อน การติดยาเสพติดให้โทษ โรคพิษสุราเรื้อรัง โรคเรื้อนในระยะติดต่อ หรือในระยะที่ปรากฏอาการที่เป็นที่รังเกียจแก่สังคม วัณโรคระยะอันตราย โรคเท้าช้างในระยะที่ปรากฏอาการเป็นที่รังเกียจแก่สังคม และกำหนดให้มีการตรวจสมรรถภาพของร่างกาย การทดสอบตาบอดสี การทดสอบปฏิกิริยาในการตัดสินใจ การทดสอบสายตาทางลึก การทดสอบสายตาทางกว้างในการขอใบอนุญาตขับขี่ทุก 5 ปีผลการศึกษาจากงานวิจัยพบว่า การคัดกรองทางสุขภาพเพื่อควบคุมและป้องกันอุบัติเหตุจราจรทางถนนในระดับประชากรที่มีประสิทธิผลสำหรับประเทศไทย 1 ใน 3 ข้อเสนอแนะคือ การทดสอบสายตาในผู้สูงอายุ เพิ่มการตรวจความชัดเจนในการมองเห็นกับประชากรที่มีอายุ 60 ปีขึ้นไป ทุกครั้งที่มีการต่อใบขับขี่ ช่วยลดความเสี่ยงการเกิดอุบัติเหตุได้ อย่างไรก็ตาม ประเทศไทยเคยมีการออกใบขับขี่ตลอดชีพ หากดำเนินการมาตรการนี้ก็จำเป็นจะต้องเรียกคืนใบขับขี่ตลอดชีพที่เคยออกมาก่อนหน้านี้ ซึ่งต้องมีการศึกษาความเป็นไปได้ในการเรียกคืน และพิจารณาถึงผลกระทบด้านดีและเสียต่อไป

 

“ตรวจสายตาผู้สูงวัย” ช่วยได้อย่างไร

ในการศึกษาวิจัยผลการทบทวนวรรณกรรมพบงานวิจัย 3 จาก 5 การศึกษา (สืบค้นในปี 2555) ระบุว่า การศึกษาในสหรัฐอเมริกา พบว่าการตรวจสุขภาพมีส่วนช่วยลดอุบัติเหตุได้ วิธีการตรวจคัดกรองทางสายตาความแตกต่างกันแบ่งได้ 4 ประเภท ได้แก่ การตรวจความชัดเจนในการมองเห็น (visual acuity) การทดสอบลานสายตา (horizontal field) การทดสอบการแยกความแตกต่างของความมืด – สว่าง (contrast sensitivity) และความไวจากการมองเห็นแสงจ้าและแสงสะท้อน (glare sensitivity)

ทั้งนี้ ผลจากการทบทวนวรรณกรรมทั้งหมดรวมแล้วพบว่า การทดสอบทางสายตาทั้ง 4 ประเภทมีงานวิจัยศึกษาดังนี้

การตรวจความชัดเจนในการมองเห็น (visual acuity) มีการศึกษาหนึ่งเป็นการศึกษาเชิงสังเกต เทียบจำนวนผู้สูงอายุที่เสียชีวิตจากอุบัติเหตุก่อนและหลังบังคับใช้กฎหมายที่ให้ผู้สูงอายุตรวจสายตาประกอบการทำใบขับขี่ พบว่าการตรวจนี้สามารถลดจำนวนผู้สูงอายุที่เสียชีวิตได้ร้อยละ 17 อีกการศึกษาซึ่งเป็นการศึกษาแบบย้อนหลังก็พบว่าการตรวจนี้ช่วยป้องกันอุบัติเหตุได้มากขึ้น แต่ผลการศึกษาแบบไปข้างหน้าที่กลับให้ผลแย้ง รวมแล้วจึงพบงานวิจัยชี้ว่าการตรวจนี้มีประสิทธิผล 2 ชิ้นและไม่มีประสิทธิผล 1 ชิ้น

การทดสอบลานสายตา (horizontal field) มีการศึกษาพบว่าการตรวจนี้ช่วยป้องกันอุบัติเหตุได้มากขึ้น โดยมีงานวิจัยชี้ว่ามีประสิทธิผล 2 ชิ้น

การทดสอบการแยกความแตกต่างของความมืด – สว่าง (contrast sensitivity) การศึกษาพบผลขัดแย้งกัน โดยมีงานวิจัยชี้ว่าการตรวจนี้ช่วยป้องกันอุบัติเหตุได้มากขึ้น  1 ชิ้นและไม่มีส่วนช่วย 1 ชิ้น

ความไวจากการมองเห็นแสงจ้าและแสงสะท้อน (glare sensitivity) พบงานวิจัยชี้ว่าช่วยป้องกันอุบัติเหตุได้ 1 ชิ้น

(ภาพประกอบ ตารางนโยบายหรือมาตรการคัดกรองสุขภาพที่ศึกษาประสิทธิผล คลิ๊กเพื่อชมภาพใหญ่)

ทั้งนี้ การทดสอบสายตาทั้งหมดยังไม่มีผลการศึกษาถึงความคุ้มค่าหากรัฐบาลจะจัดให้มีการตรวจคัดกรองเหล่านี้ในประชาชน

อย่างไรก็ตาม ปัญหาการจราจรในต่างประเทศนั้นแตกต่างจากประเทศไทย ทั้งกลุ่มผู้ขับขี่ ประเภทของอุบัติเหตุ และสาเหตุของอุบัติเหตุ โดยในประเทศไทยอุบัติเหตุมักเกิดในกลุ่มวัยรุ่นและรถจักรยานยนต์ (ณ เวลาที่ทำการศึกษาวิจัย) ซึ่งในการศึกษาไม่พบการคัดกรองสุขภาพเพื่อป้องกันอุบัติเหตุสำหรับกลุ่มดังกล่าว

ในส่วนของการศึกษาหลังจากได้ข้อมูลจากการทบทวนวรรณกรรมแล้ว จึงได้ประเด็นเป็นข้อเสนอแนะเชิงนโยบายโดยมีการตรวจความชัดเจนในการมองเห็นในผู้สูงอายุเป็นหนึ่งในประเด็นหารือ ทว่า ณ เวลานั้นยังไม่มีข้อมูลการศึกษาถึงช่วงอายุและความถี่ในการตรวจที่เหมาะสม มีเพียงคำแนะนำในวารสารจักษุสาธารณสุข ให้ตรวจสายตาทุก 2 – 4 ปีในผู้มีอายุ 40 ปีขึ้นไป และทุก 1 – 2 ปีในผู้ที่มีอายุ 65 ปีขึ้นไป ข้อสรุปจากผู้เชี่ยวชาญด้านจักษุแพทย์เห็นว่าควรตรวจความชัดเจนในการมองเห็นทุก 1 ปีในผู้ที่มีอายุ 40 ปีขึ้นไป

ทว่าภายหลังการหารือกับผู้มีส่วนได้ส่วนเสียเห็นว่าการตรวจทุก 1 ปีมีประโยชน์เฉพาะผู้มีโรคทางตา และยังไม่พบหลักฐานว่าการตรวจช่วยป้องกันอุบัติเหตุได้ สุดท้ายจึงออกมาเป็นข้อเสนอให้ตรวจความชัดเจนในการมองเห็นในประชากรที่มีอายุ 60 ปีขึ้นไปแทน

ทว่าจากข่าวอุบัติเหตุบนท้องถนนจากผู้ขับขี่เป็นผู้สูงวัยอาจเป็นปัญหาที่กำลังเพิ่มสูงขึ้น ในด้านของหน่วยรัฐอาจต้องศึกษาความเป็นไปได้อีกหลายด้าน แต่สำหรับผู้อ่านทุกคนสามารถนำข้อมูลนี้ไปปรับใช้กับตัวเอง พาผู้สูงวัยใกล้ตัวที่ยังต้องใช้รถใช้ถนนไปตรวจสายตาทุกปี หรืออาจพิจารณาลดการขับขี่ให้น้อยลงตามอายุที่มากขึ้นเพื่อแสดงถึงความรับผิดชอบต่อท้องถนนที่ทุกคนต้องใช้ร่วมกัน

สามารถอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมของบทความวิชาการ “ประสิทธิผลและความคุ้มค่าทางเศรษฐศาสตร์ของมาตรการคัดกรองสุขภาพเพื่อป้องกันอุบัติเหตุจราจรทางถนน” ได้ที่นี่ https://www.hitap.net/documents/18712 การตรวจคัดกรองสุขภาพยังมีอีกมากมายเพื่อช่วยให้ประเทศไทยมีระบบสาธาณสุขที่ดียิ่งขึ้น สามารถติดตามรายละเอียดของ “โครงการพัฒนาชุดสิทธิประโยชน์ด้านการคัดกรองทางสุขภาพระดับประชากรในประเทศไทย” ได้ที่นี่https://www.hitap.net/research/17573

 

1 มกราคม 2562

Next post > มองผ่านงานวิจัย “สุขภาพเด็กไทย 2019” อยู่ตรงไหน?

< Previous post ง่ายแต่ได้ผล ข้อความ “ช่วยเลิกบุหรี่” จากวิจัยต่างประเทศทดลองในไทยแล้วได้ผล

Related Posts

แสดงความคิดเห็น

ยกเลิกการตอบ

บทความที่เข้าชมมากที่สุด ในรอบ 3 เดือน