logo
ต้องการข้อมูลเพิ่มเติม ติดต่อฝ่ายสื่อสารองค์กร HITAP
ชวนดูระบบหยุดความรุนแรงในครอบครัว ต่างประเทศหยุดอย่างไร?

ปัญหาความรุนแรงในครอบครัวคือภัยร้ายที่เต็มไปด้วยประเด็นละเอียดอ่อน ประเทศไทยเองยังมีหลายปัจจัยที่ต้องจัดการ การตีตรา ค่านิยม สิ่งแวดล้อมทางสังคมจนถึงระบบเยียวยารักษาผู้ประสบเหตุ (อ่านเพิ่มเติม blog “ส่องงานวิจัยไทย – เทศ เสียงร้องของเหยื่อความรุนแรง ยังมี “ช่องว่าง” ใดที่ไปไม่ถึงการช่วยเหลือ ?” ได้ที่นี่ https://www.hitap.net/182963) หนทางหนึ่งที่อาจช่วยให้เจอทางแก้ปัญหาคือการมองไปยังประเทศอื่น ๆ ดูว่ามีหนทางแก้ไขอย่างไร เพื่อเรียนรู้อย่างเข้าใจและนำมาใช้ประโยชน์

HITAP ขอชวนคุณมาดูระบบช่วยเหลือเยียวยารวมถึงป้องกันการกระทำความรุนแรงทั้งจากอังกฤษ มาเลเซียและสหรัฐอเมริกา บางบทเรียนคุณอาจนำมาปรับใช้เพื่อป้องกันก่อนเหตุรุนแรงจะตามมาได้โดยไม่รู้ตัว

 

ระบบดูแลเหยื่อความรุนแรงทางเพศครบวงจร 24 ชม.ของอังกฤษ

หลายกรณีของความรุนแรงในครอบครัวคือการถูกกระทำความรุนแรงทางเพศซึ่งส่งผลกระทบต่อเหยื่อหลายด้าน การตรวจคัดกรองตลอดจนถึงการรักษาเยียวยามีรายละเอียดที่แตกต่างจากการทำงานของแผนกฉุกเฉินในโรงพยาบาลทั่วไป ที่ประเทศอังกฤษจึงมีองค์กรที่ดูแลด้านนี้โดยเฉพาะ ได้แก่ Sexual Assault Referral Centres (SARCs)

Sexual Assault Referral Centres (SARCs) หรือศูนย์บริการทางการแพทย์และนิติเวชเฉพาะทางสำหรับผู้ที่ถูกกระทำความรุนแรงทางเพศแบบครบวงจร (one stop service) ให้บริการด้านการรักษาพยาบาล ทั้งทางร่างกายและจิตใจ ติดตามการรักษา รวมไปถึงการเก็บหลักฐานทางนิติเวชเพื่อใช้ในทางกฎหมาย ซึ่งหน่วยงานดังกล่าวดำเนินการภายใต้ระบบบริการสุขภาพแห่งชาติ (National Health Service: NHS)

เมื่อเกิดเหตุถูกกระทำความรุนแรงทางเพศ ผู้ถูกกระทำสามารถเข้ารับบริการที่ SARCs ได้ตลอด 24 ชั่วโมง (เปิดให้บริการทุกวันไม่เว้นวันหยุด) โดยจะได้รับบริการจากผู้เชี่ยวชาญที่ผ่านการฝึกอบรมในการให้ความช่วยเหลือทางการแพทย์ ทั้งด้านการตรวจร่างกาย ตรวจโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ ตรวจการตั้งครรภ์ รวมถึงการให้ยารักษาอาการหรือป้องกันโรค นอกจากนี้ยังมีการตรวจทางนิติเวช ซึ่งหากผู้ถูกกระทำมีความประสงค์จะแจ้งความ ทางหน่วยงานก็จะประสานงานไปยังเจ้าหน้าที่ตำรวจเพื่อดำเนินคดีความ (กรณีผู้ถูกกระทำยังไม่ประสงค์จะแจ้งความ จะมีการเก็บผลการตรวจทางนิติเวชให้เป็นระยะเวลา 2 ปี) นอกจากนี้ยังมีการติดตามการรักษาหลังการรับบริการอีกด้วย (ให้บริการเวลา 9.00-17.00) โดยผู้ถูกกระทำสามารถเข้ารับบริการได้โดยไม่เสียค่าใช้จ่าย

หน่วยงาน SARCs ไม่ได้จัดตั้งอยู่ในสถานพยาบาล ผู้ถูกกระทำความรุนแรงทางเพศสามารถค้นหาที่ตั้งของหน่วยงาน SARCs ได้จากเว็บไซต์ https://www.nhs.uk/service-search/other-services/Rape-and-sexual-assault-referral-centres/LocationSearch/364 โดยทำการกรอกรหัสไปรษณีย์หรือชื่อเมืองที่ต้องการค้นหา นอกจากนี้ยังสามารถโทรสอบถามข้อมูลจากโรงพยาบาลได้อีกด้วย

ระบบของมาเลเซีย ศูนย์ในโรงพยาบาลรัฐ ดูแลทุกเหตุรุนแรง

เหตุรุนแรงที่เกิดขึ้นมักจะมีปลายทางมาที่โรงพยาบาล ระบช่วยเหลือของประเทศมาเลเซียจึงให้การจัดตั้งหน่วยงาน One Stop Crisis Centre (OSCC) ในโรงพยาบาลรัฐ เพื่อให้บริการแก่ผู้ถูกกระทำความรุนแรง ไม่ว่าจะเป็นการถูกทำร้ายร่างกาย ถูกกระทำความรุนแรงทางเพศหรือความรุนแรงในครอบครัว โดยเปิดให้บริการตลอด 24 ชั่วโมงเช่นกัน

ผู้ถูกกระทำความรุนแรงสามารถแจ้งเหตุได้ที่โรงพยาบาลเพื่อขอรับบริการ โดยเบื้องต้นจะได้รับการประเมินระดับความรุนแรงตามแนวทางการคัดแยกผู้ป่วย ณ ห้องฉุกเฉิน โดยผู้ป่วยวิกฤตและผู้ป่วยฉุกเฉินเร่งด่วนจะถูกส่งตัวไปยังห้องฉุกเฉินเพื่อรักษาอาการวิกฤตดังกล่าวก่อน ทั้งนี้ หากผู้ถูกกระทำความรุนแรงไม่ถูกจัดอยู่ในกลุ่มวิกฤตก็จะได้รับการส่งต่อไปยังหน่วยงาน OSCC นั่นเอง

เมื่อหน่วยงาน OSCC ได้รับเคสก็จะทำการรายงานเหตุต่อเจ้าหน้าที่ตำรวจ ซึ่งก่อนเจ้าหน้าที่จะดำเนินการตรวจต้องได้รับความยินยอมจากผู้ถูกกระทำก่อนเสมอ ผู้ถูกกระทำจะได้รับการตรวจ เก็บหลักฐานทางนิติเวช และรักษาพยาบาลเบื้องต้น จากนั้นจะได้รับการส่งต่อไปยังหน่วยงานเฉพาะทางตามสภาวะของผู้ป่วย เช่น กรณีถูกกระทำความรุนแรงทางเพศจะได้รับการส่งต่อไปยังแผนกสูตินรีเวช และในกรณีที่ประเมินผู้ถูกกระทำแล้วมีความเสี่ยงต่อภาวะทางจิตใจจะได้รับการส่งต่อเพื่อรับคำปรึกษาจากนักจิตวิทยาหรือจิตแพทย์ จากนั้นจะมีการนัดติดตามการรักษาตามแผนกต่าง ๆ ที่ผู้ป่วยเข้ารับบริการ

ในส่วนขั้นตอนการเก็บหลักฐานทางนิติเวชจะต้องกระทำโดยมีเจ้าหน้าที่ตำรวจอยู่ด้วยเสมอ เพื่อให้การเก็บหลักฐานเป็นไปอย่างโปร่งใส หน่วยงาน OSCC จะทำการส่งต่อหลักฐานทางนิติเวชให้แก่เจ้าหน้าที่ตำรวจโดยทันที ไม่มีการเก็บหลักฐานดังกล่าวไว้ที่โรงพยาบาล

ระบบของมาเลเซียจึงมีจุดเด่นที่ความครอบคลุมและการประสานงานกับหน่วยงานเฉพาะด้านที่เกี่ยวข้อง เพื่อให้ผู้ถูกกระทำเข้าถึงการช่วยเหลือได้ดีขึ้น เทียบกับประเทศไทยแล้วการช่วยเหลือผู้ถูกกระทำความรุนแรงทางเพศยังมีช่องว่างอยู่ในหลายขั้นตอน เช่น การตรวจทางนิติเวชเพื่อเป็นหลักฐานนั้นผู้เสียหายยังต้องออกค่าใช้จ่ายด้วยตัวเอง

เปิดยุทธศาสตร์ป้องกันจากหลายปัจจัยจากกรมควบคุมโรคสหรัฐฯ

การช่วยเหลือเยียวยาเหยื่อหลังเกิดเหตุถือเป็นสิ่งจำเป็นเร่งด่วน ในสหรัฐอเมริกามีศูนย์รับแจ้งเหตุโดยเฉพาะในชื่อ National Domestic Violence Hotline มีลักษณะเป็นศูนย์รับแจ้งเหตุหลายช่องทางทั้งผ่านทางเว็บไซต์ โทรศัพท์เพื่อประสานงานกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเข้าไปทำงานให้ความช่วยเหลือ

อย่างไรก็ตาม ในด้านของการป้องกันก่อนเหตุจะเกิดขึ้น กรมควบคุมโรคสหรัฐฯ (CDC) ก็มีแนวทางการป้องกันความรุนแรงในครอบครัวโดยมีกลยุทธเพื่อป้องกันผ่านหลายยุทธศาสตร์ด้วยกันดังนี้

  1. สอนทักษะด้านความสัมพันธ์ที่เป็นสุขและปลอดภัย ดำเนินการผ่าน โครงการเรียนรู้ทางอารมณ์และสังคมสำหรับเยาวชน และโครงการความสัมพันธ์ที่ราบรื่นและยืนยาว (Healthy Relationship) สำหรับคู่รัก เพื่อให้ความรู้และทักษะเกี่ยวกับความสัมพันธ์ที่ปลอดภัยมากขึ้น
  2. ทำงานร่วมกับเยาวชนเพื่อโน้มน้าวให้มีพฤติกรรมที่ดี คือการสร้างความคาดหวังในการมีความสัมพันธ์ที่เป็นเชิงบวกในกลุ่มเป้าหมาย เช่น วัยรุ่นหรือกลุ่มผู้ชาย โดยมุ่งประณามความรุนแรงและพฤติกรรมความสัมพันธ์ที่อันตราย
  3. แทรกแซงเส้นทางสู่ความสัมพันธ์ที่รุนแรง คือการลดปัจจัยที่อาจนำไปสู่ความรุนแรง เช่น ลดการใช้ยาเสพติดและแอลกอฮอล์ รวมถึงเฝ้าระวังกลุ่มที่มีภาวะต่อต้านสังคม โดยมีการดำเนินการป้องกันผ่านการสร้างสิ่งแวดล้อมในวัยเด็กที่ดี เสริมสร้างทักษะการเลี้ยงดูลูกของพ่อแม่ สนับสนุนการป้องกันเหตุรุนแรงที่อาจเกิดในอนาคต
  4. สร้างสิ่งแวดล้อมที่ปลอดภัย ยุทธศาสตร์ส่วนใหญ่มุ่งเน้นที่ผู้คนและความสัมพันธ์ แต่ในแง่สังคมชุมชนก็สำคัญที่จะคอยให้ความรู้ผ่านสิ่งแวดส้อมทางสังคมตั้งแต่ โรงเรียน ที่ทำงานและเพื่อนบ้านในชุมชน กลยุทธ์นี้มุ่งเน้นการปรับปรุงสิ่งแวดล้อมทางสังคมให้โรงเรียนปลอดภัย ที่ทำงานมีนโยบายที่ดี ย่านที่อยู่อาศัยมีสังคมและสิ่งแวดล้อมที่ปลอดภัย
  5. เสริมสร้างเศรษฐกิจที่สนับสนุนสถาบันครอบครัว ปัจจัยด้านสังคมมากมายมีผลหลายชั้นอยู่ภายนอกสิ่งที่เรียกกันว่าสถาบันครอบครัว มีหลักฐานชี้ว่าความยากจน ความเครียดทางด้านฐานะการเงิน รวมถึงการมีรายได้ต่ำจะทำให้ความเสี่ยงที่จะเกิดความรุนแรงสูงขึ้นได้ ดังนั้นการสร้างความปลอดภัยทางด้านการเงินและการทำงานให้กับครัวเรือนคือหนทางสร้างความเข้มแข็งทางเศรษฐกิจแก่สถาบันครอบครัว ซึ่งจะช่วยลดความรุนแรงภายในครอบครัวลงได้
  6. สนับสนุนให้เหยื่อความรุนแรงมีความปลอดภัยมากขึ้น เยียวยาความเจ็บปวดให้น้อยลง เหยื่อความรุนแรงหรือผู้รอดชีวิตต้องเผชิญกับผลเสียทั้งทางกายและใจในระยะยาว การป้องกันและเยียวยาสามารถทำได้หลายทาง เช่น ศูนย์บริการเหยื่อที่มีสายด่วนให้คำปรึกษา คอยรับฟังและช่วยรักษา มีบริการที่อยู่อาศัยที่ปลอดภัย รวดเร็วในการเข้าถึงได้ในช่วงเวลาฉุกเฉิน เป็นต้น

รายละเอียดเพิ่มเติมสามารถอ่านได้ที่นี่ https://www.cdc.gov/violenceprevention/pdf/ipv-technicalpackages.pdf

 

ความรุนแรงในครอบครัวยังคงมีอยู่ ประเทศไทยยังคงต้องปรับปรุงระบบที่ช่วยป้องกันและเยียวยาเหยื่อความรุนแรงในครอบครัว สิ่งหนึ่งที่ต้องทำคือการค้นหา “ช่องว่าง” ของระบบที่เป็นอยู่ ติดตามงานวิจัยการพัฒนาข้อเสนอแนะระบบบริการสุขภาพสำหรับผู้ถูกกระทำความรุนแรงเพื่อให้เกิดข้อเสนอแนะเชิงนโยบายที่จะปิด “ช่องว่าง” ของปัญหาเหล่านั้นได้ที่ HITAP เร็ว ๆ นี้

 

อ้างอิง

https://www.cdc.gov/violenceprevention/intimatepartnerviolence/index.html

https://www.thehotline.org/

https://assets.publishing.service.gov.uk/government/uploads/system/uploads/attachment_data/file/389196/30_sexual_assault_services.pdf

Wiese M, Armitage C, Delaforce J, Welch J. Emergency care for complainants of sexual assault. J R Soc Med. 2005;98(2):49-53.

http://www.myhealth.gov.my/en/one-stop-crisis-centre-oscc/

One stop crisis center: Policy and Guideline For Hospital. In: Malaysia MoH, editor. 2015.

4 มีนาคม 2565

Next post > วัคซีนพื้นฐานที่คนแต่ละช่วงอายุควรฉีดมีอะไรบ้าง?

< Previous post #รู้จักโรคพันธุกรรมเมตาบอลิก IEM โรคหายากในทารกและเด็กเล็กที่อาจอยู่ใกล้ตัวคุณ

Related Posts

แสดงความคิดเห็น

ยกเลิกการตอบ

บทความที่เข้าชมมากที่สุด ในรอบ 3 เดือน