logo
ต้องการข้อมูลเพิ่มเติม ติดต่อฝ่ายสื่อสารองค์กร HITAP
ไตเขาไตเรา ผู้ป่วยไตวายระยะสุดท้าย รักษาอย่างไรได้บ้าง

รู้หรือไม่? ผู้สูงอายุทุกคนมีภาวะไตวาย เพียงแต่จะมากหรือน้อย และทุกคนก็อาจเป็นโรคไตวายเรื้อรัง ถ้ามีชีวิตยืนยาวมากพอ HITAP ขอชวนคุณมารู้จักนวัตกรรมและเทคโนโลยีที่จะช่วยเหลือผู้ป่วยไตวายเรื้อรังในปัจจุบัน

 

อวัยวะหนึ่งที่สำคัญสำหรับร่างกายของเราคือไต เนื่องจากไตกรองของเสียที่จากกระแสเลือดออกจากร่างกายผ่านปัสสาวะ และไตยังมีหน้าที่สร้างสารที่ควบคุมความดันโลหิตและสารที่ช่วยกระตุ้นการสร้างเม็ดเลือดแดง

จะเป็นอย่างไรหากไตไม่ทำงานตามปกติ เกิดการสะสมของของเสียในเลือด และสารพิษไม่สามารถถูกกำจัดออกจากร่างกายได้อย่างเหมาะสม จนเกิดความบกพร่องในการขับของเสียและน้ำส่วนเกินออกจากร่างกายไม่ได้ ในระยะแรก ๆ อาจยังไม่แสดงอาการ แต่หากปล่อยไว้นาน ๆ และไม่ได้รับการรักษาอย่างถูกต้อง ภาวะไตวายอาจจะถามหาได้

หากคุณหรือคนที่คุณรักมีความเสี่ยงหรือเป็นผู้ป่วยไตวายเรื้อรัง ปัจจุบันมีการรักษาด้วยวิธีบำบัดทดแทนไตอยู่ 3 วิธี ได้แก่

1. ปลูกถ่ายไต คือการผ่าตัดนำไตของผู้อื่น ไม่ว่าจะเป็นการบริจาคจากผู้ที่เสียชีวิตแล้วหรือยังมีชีวิตอยู่ มาทำหน้าที่แทนไตเดิมของผู้ป่วย โดยวางไตใหม่ไว้ในอุ้งเชิงกรานแล้วต่อเข้ากับกระเพาะปัสสาวะและหลอดเลือดของผู้ป่วย ถ้าการผ่าตัดประสบความสำเร็จ ผู้ป่วยจะไม่ต้องบำบัดด้วยการฟอกไตอีกต่อไป แต่จำเป็นต้องรับประทานยากดภูมิไปตลอดชีวิตเพื่อป้องกันร่างกายต่อต้านไตใหม่ หรือที่เรียกว่าภาวะสลัดไต โดยวิธีนี้เหมาะกับผู้ป่วยที่ร่างกายแข็งแรง ไม่มีความเสี่ยงสูงต่อภาวะติดเชื้อและไม่มีโรคหัวใจรุนแรง จากการศึกษาของ HITAP การบำบัดทดแทนไตด้วยวิธีนี้คุ้มค่ากว่าวิธีอื่น ๆ แต่ยังคงมีข้อจำกัดในเรื่องการหาไตที่จะนำมาปลูกถ่ายให้ผู้ป่วย

2. ฟอกเลือดด้วยเครื่องไตเทียม คือการนำเลือดของผู้ป่วยออกจากร่างกายด้วยการแทงเข็มเข้าเส้นเลือดแล้วต่อกับท่อไปยังตัวกรองเพื่อให้เลือดสะอาดและปรับสมดุลแร่ธาตุต่าง ๆ เครื่องไตเทียมจะนำเลือดกลับเข้าสู่ร่างกายตามเดิม โดยกระบวนการฟอกเลือดนี้จะใช้เวลาครั้งละประมาณ 4 ชั่วโมง โดยผู้ป่วยจะต้องมารับการฟอกเลือดที่โรงพยาบาลสัปดาห์ละ 2 – 3 ครั้ง

3. ล้างไตทางช่องท้อง คือการใช้สายยางฝังไว้ในช่องท้องแบบถาวรและใส่น้ำยาล้างไตเข้าไปในช่องท้อง เพื่อฟอกของเสียในเลือดออก รวมถึงปรับสมดุลของน้ำ เกลือแร่ และสารเคมีต่าง ๆ โดยต้องเปลี่ยนถ่ายน้ำยาทุกวัน วันละ 4 – 6 ครั้ง สามารถทำเองได้ที่บ้าน แต่ต้องทำอย่างถูกวิธีเพื่อลดโอกาสติดเชื้อในช่องท้อง ข้อมูลเชิงวิชาการชี้ว่ามีประสิทธิผลใกล้เคียงกับการฟอกเลือดด้วยเครื่องไตเทียม และคุ้มค่ากว่าการฟอกเลือดด้วยเครื่องไตเทียม เนื่องจากช่วยลดค่าใช้จ่ายการเดินทางไปโรงพยาบาลของผู้ป่วยได้

ทั้งนี้ ผู้ป่วยจะเหมาะกับการใช้วิธีล้างไตทางช่องท้อง หรือฟอกเลือดด้วยเครื่องไตเทียม ขึ้นอยู่กับดุลพินิจและการหารือระหว่างผู้ป่วยและแพทย์

 

อย่างไรก็ตาม ยังมีอีกทางเลือกหนึ่งสำหรับผู้ป่วยที่เลือกจะไม่รับการบำบัดทดแทนไต คือ การรักษาแบบประคับประคอง

การรักษาแบบประคับประคอง (palliative care) การรักษาแบบประคับประคองนี้จะเป็นการรักษาตามอาการ เช่น ลดอาการปวด และรักษาอาการอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้องกับภาวะไตวายเรื้อรัง เช่น เบาหวาน ความดันโลหิตสูง เป็นการวางเป้าหมายร่วมกันระหว่างผู้ป่วย ญาติ และบุคลากรทางการแพทย์ผู้ทำการรักษา มุ่งเน้นการเพิ่มคุณภาพชีวิตของผู้ป่วย เพื่อลดความทุกข์ทรมานทั้งด้านร่างกาย จิตใจ สังคม และจิตวิญญาณ ควบคู่กับการรักษาหลัก โดยอาจมีประเด็นที่ดูแล เช่น 1) การวางแผนดูแลรักษาล่วงหน้าและการสื่อสารเชิงบวกกับผู้ป่วย 2) การดูแลและควบคุมภาวะน้ำเกิน 3) การจัดการอาการเหนื่อยหอบด้วยยาและปรับเปลี่ยนการรักษา

 

สุดท้ายนี้หวังให้ทุกท่าน ที่อาจจะมีความเสี่ยง หรือ คนที่คุณรัก อาจจะเป็นคนในครอบครัว เพื่อน สามารถช่วยดูและแบ่งปันข้อมูลในการเข้าถึงการรักษาได้อย่างทันท่วงที เพื่อชีวิตที่ยาวนาน เข้าใจไตคนอื่น เหมือน เอาไตเขามาใส่ไตเรา

 

สามารถอ่านรายงานและบทความต่างๆ ของ HITAP ที่เกี่ยวข้องกับไต ได้ที่

Tantivess, S., Werayingyong, P., Chuengsaman, P., & Teerawattananon, Y. (2013, January 1). Universal coverage of renal dialysis in Thailand: promise, progress, and prospects. The BMJ. https://doi.org/10.1136/bmj.f462

Mattadet. (2016, May 23). อินโดฯ เริ่มนโยบายล้างไตช่องท้อง ชี้ประเทศไทยเดินถูกทาง. hitap.net. Retrieved March 28, 2023, from https://www.hitap.net/news/165739

M. (2018, May 21). เปิดเบื้องหลัง The Economist ยกระบบหลักประกันสุขภาพไทยตัวอย่างใช้งบ ”คุ้มค่า” ระดับโลก! hitap.net. Retrieved March 28, 2023, from https://www.hitap.net/172067

 

บทความอ้างอิง

รุ่งบรรณพันธุ์. (n.d.). ไตวายเรื้อรังระยะสุดท้าย รักษาได้ 3 วิธี. www.vejthani.com. Retrieved March 28, 2023, from https://www.vejthani.com/th/2022/10/ไตวายเรื้อรังระยะสุดท้/

ไตวายเรื้อรัง ความเสี่ยงที่คนชอบกินเค็มควรระวัง. (2020, July 14). www.petcharavejhospital.com. Retrieved March 28, 2023, from https://www.petcharavejhospital.com/th/Article/article_detail/Chronic-kidney-disease-CKD

“คนสู้โรค – การรักษาแบบประคับประคอง ในผู้ป่วยโรคไตวายเรื้อรังระยะสุดท้าย | Thai PBS รายการไทยพีบีเอส.” Thai PBS, www.thaipbs.or.th/program/KonSuRoak/episodes/93842

19 เมษายน 2566

Next post > หาหมอที่บ้าน หยุดโรค (โลก) ร้อน ระบบสาธารณสุข การเดินทางไปหาหมอ เรากำลังทำโลกร้อนอยู่หรือเปล่า?

< Previous post โย่ว และนี่คือปัญหาที่อยู่ในวัด ทุกข์ “พระ” โภชนาการ ปัญหาเร่งด่วนของโรคเรื้อรังในพระสงฆ์ที่ถูกมองข้าม

Related Posts

แสดงความคิดเห็น

ยกเลิกการตอบ

บทความที่เข้าชมมากที่สุด ในรอบ 3 เดือน