logo

HITAP ร่วมมือกับกรมการแพทย์ จัดการประชุมผู้เชี่ยวชาญและผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย ในโครงการ “การพัฒนาแนวทางการประเมินความคุ้มค่าฯ ปัญญาประดิษฐ์ทางการแพทย์ เพื่อบรรจุในชุดสิทธิประโยชน์ ในระบบประกันสุขภาพของประเทศไทย”

ต้องการข้อมูลเพิ่มเติม ติดต่อฝ่ายสื่อสารองค์กร HITAP
ลบล้างความเชื่อ ‘พ่อ-แม่’  ฤกษ์คลอดที่ดีที่สุดต่อ ‘สุขภาพลูกน้อย’ คือฤกษ์ ‘คลอดตามธรรมชาติ’

รอยยิ้ม เสียงหัวเราะ และความสนุกสนานที่แสดงออกผ่านสีหน้าของเด็ก ๆ ในการเข้าร่วมกิจกรรมวันเด็ก ที่จัดขึ้นทุกวันเสาร์ในสัปดาห์ที่สองของเดือน ม.ค. ในทุกปี กลายเป็นสิ่งหนึ่งที่ช่วยยืนยันให้คนเป็นพ่อเป็นแม่ชื่นใจได้ว่า ลูกน้อยของตัวเองเติบโตขึ้นอย่างสมบูรณ์สมวัย

อย่างไรก็ดี ปฏิเสธไม่ได้ว่ามีครอบครัวอีกจำนวนหนึ่งที่กลับรู้สึกตรงกันข้ามและกำลังเป็นทุกข์ เนื่องจากลูกเติบโตขึ้นโดยที่สุขภาพไม่แข็งแรง มีครอบครัวอีกไม่น้อยที่ยัง ‘ขาดองค์ความรู้’ เกี่ยวกับการเลือกวิธีคลอด และไม่ทราบว่า ‘วิธีการคลอด’ สัมพันธ์โดยตรงกับสุขภาพเด็ก ตลอดจนคุณภาพชีวิตของลูกทั้งในระยะสั้น และระยะยาว

ที่ผ่านมาพ่อและแม่ยุคใหม่จำนวนมากเลือกที่จะ “ผ่าคลอด” ทั้งที่ไม่มีความจำเป็นทางการแพทย์ แต่ใช้เรื่องความเชื่อและฤกษ์ผานาทีในการเกิดเป็นตัวนำทาง หรือบางกรณีอาจกลัวการคลอดและต้องการหลีกเลี่ยงความเจ็บปวดในระหว่างเจ็บครรภ์รอคลอด โดยที่ไม่รู้ว่าการผ่าคลอดแท้จริงแล้วมีอันตรายเพียงใด และกระทบต่อสุขภาพของเด็กอย่างไร

แน่นอนว่า ลูกน้อยในครรภ์ไม่มีสิทธิเลือกเกิดและวิธีการเกิด ฉะนั้นจึงเป็นหน้าที่และความรับผิดชอบโดยตรงของพ่อแม่ในการพิทักษ์ ‘สิทธิเด็ก’ ตั้งแต่อยู่ในท้อง

ในทางการแพทย์ การผ่าคลอดทำให้ฟื้นตัวของแม่ล่าช้า และทำให้การให้นมแม่ล่าช้าออกไปมากกว่าปกติ อีกทั้งไม่สามารถทำกิจวัตรประจำวันได้ด้วยตัวเองเต็มที่ เพราะยังต้องการความช่วยเหลือจากบุคคลอื่นในการดูแลทั้งตัวเองและทารก ในส่วนของแผลผ่าตัดก็จะมีอาการปวดในช่วง 3 เดือนแรก และบางคนอาจมีอาการปวดแผลต่อเนื่องยาวนานเป็นปี ยิ่งไปกว่านั้น หากตั้งครรภ์ในครั้งถัดไปยังมีความเสี่ยงเพิ่มขึ้นเรื่องภาวะแทรกซ้อนต่าง ๆ เช่น การแท้ง การตั้งครรภ์นอกมดลูก การเกิดพังผืดในช่องท้อง การเกิดรกฝังตัวลึกในมดลูกอันจากรอยแผลผ่าตัดเดิม ฯลฯ

นอกจากนี้ ในบทความวิจัยเรื่อง “Delivery by Cesarean Section and Early Childhood Respiratory Symptoms and Disorders: The Norwegian Mother and Child Cohort Study” ซึ่งเผยแพร่ในวารสาร American Journal of Epidemiology เล่มที่ 174 ฉบับที่ 11 วันที่ 1 ธ.ค. 2554 ยังได้ระบุถึงผลกระทบต่อสุขภาพของเด็กตั้งแต่แรกคลอดจากการผ่าตัดคลอดไว้ด้วยว่า ในระยะสั้นอาจส่งผลให้ทารกแรกคลอดเหล่านี้มีความเสี่ยงสูงขึ้นเรื่องปัญหาของระบบการหายใจ โดยเฉพาะโรคหืด และการติดเชื้อในทางเดินหายใจส่วนล่าง และการทำงานของหัวใจของทารก (จากงานวิจัยเรื่อง “Cardiovascular complications following cesarean section and vaginal delivery: a national population-based study”, The Journal of Maternal-Fetal & Neonatal Medicine, Volume 35, 2022 – Issue 25)

สำหรับในระยะยาว การผ่าคลอดอาจทำให้ทารกเมื่อเติบโตขึ้นเป็นผู้ใหญ่มีความเสี่ยงที่สูงที่จะเป็นโรคภูมิแพ้ โรคหืด และโดยเฉพาะโรคอ้วน ซึ่งบทความวิจัย “Association Between Cesarean Birth and Risk of Obesity in Offspring in Childhood, Adolescence, and Early Adulthood” ที่เผยแพร่ผ่านเว็บไซต์ JAMA Network ชี้ว่าเด็กที่เกิดจากการผ่าคลอดมีโอกาสเป็นโรคอ้วนสูงกว่าเด็กที่คลอดธรรมชาติถึง 64% ในส่วนของโรคภูมิแพ้นั้นเป็นเพราะทารกไม่ได้รับไมโครไบโอมตามธรรมชาติ ซึ่งเป็นจุลินทรีย์จากช่องคลอดของแม่ตั้งแต่แรกคลอด อีกทั้งยังมีโอกาสน้อยกว่าที่จะได้รับไมโครไบโอมทดแทนจากน้ำนมแม่ เนื่องจากแม่ที่ผ่าตัดคลอดมักจะประสบความสำเร็จในการให้นมแม่น้อยกว่าการศึกษาที่ชี้ให้เห็นประโยชน์ของการคลอดธรรมชาติต่อสุขภาพของทารกที่เหนือกว่าการผ่าตัดคลอดยังได้รับการเผยแพร่ออกมาอย่างต่อเนื่อง แม้การศึกษาส่วนใหญ่จะเน้นย้ำว่ายังต้องมีการศึกษาต่อไป แต่แนวโน้มในหลายการศึกษา ทั้งใหญ่และเล็ก และในประเด็นสุขภาพด้านต่าง ๆ ยังให้ผลที่ชี้ไปในแนวทางเดียวกัน

นอกจากนี้ “คลอดธรรมชาติ” ถือเป็นกลไกธรรมชาติที่ทำให้แม่ฟื้นตัวเร็ว สามารถดูแลลูกเองได้หลังคลอดทันที รวมถึงลูกจะได้รับไมโครไบโอมจากการคลอดผ่านทางช่องคลอดโดยตรง และยังได้จากน้ำนมแม่ด้วย อันจะส่งผลต่อการสร้างภูมิคุ้มกันในระยะยาว ที่สำคัญยังมีความเสี่ยงน้อยกว่าจากภาวะแทรกซ้อนที่เกิดจาการผ่าตัด เช่น การตกเลือด ฯลฯ ตลอดจนลดความเสี่ยงที่อาจเกิดขึ้นในการตั้งครรภ์ครั้งถัดไป อาทิ ภาวะมดลูกแตก ภาวะรกเกาะต่ำ รกฝังลึก ฯลฯ อีกด้วย

นอกจากนี้ งานวิจัยภายใต้การสนับสนุนขององค์การอนามัยโลก (WHO) ที่เก็บรวบรวมข้อมูลจาก 9 ประเทศในเอเชีย ก็ระบุไว้ว่า การผ่าคลอด สร้างความเสี่ยงและอันตราย ต่อทารกและมารดา มากกว่าการคลอดตามธรรมชาติ มากถึง 2-3 เท่า

แม้แต่ล่าสุดเมื่อปี 2565 ราชวิทยาลัยสูตินรีแพทย์แห่งประเทศไทย ยังได้ออกประกาศ เรื่องการผ่าตัดคลอด ฉบับปรับปรุง ปี 2566 ที่ระบุโดยจำแนกออกมาเป็น 8 ประเด็นสำคัญ ประกอบด้วย
1. การผ่าตัดคลอด ควรทำในรายที่มีข้อบ่งชี้ทางการแพทย์ คือเมื่อทารกไม่สามารถคลอดทางช่องคลอดได้อย่างปลอดภัย หรือมารดามีภาวะแทรกซ้อนขั้นรุนแรงที่จะทำให้การคลอดทางช่องคลอดมีความเสี่ยง
2. ประชาชนควรทราบว่า การผ่าตัดคลอดมีความเสี่ยงต่อทั้งมารดาและทารกมากกว่าการคลอดทางช่องคลอด ซึ่งอาจจะเป็นผลที่เกิดจากการผ่าตัดหรือการให้ยาระงับความรู้สึก
3. ก่อนการผ่าตัดคลอด สตรีตั้งครรภ์ทุกรายควรได้รับข้อมูลที่ถูกต้อง ครบถ้วน และเหมาะสมเกี่ยวกับประโยชน์และความเสี่ยงของการผ่าตัดคลอดจากบุคลากรทางการแพทย์จนเข้าใจดี และลงนามยินยอมเข้ารับการผ่าตัด
4. การผ่าตัดคลอดตามคำร้องขอของมารดา (maternal request) เป็นการผ่าตัดคลอดที่เกิดจากความต้องการของสตรีตั้งครรภ์หรือญาติ โดยไม่มีข้อบ่งขี้ทางการแพทย์ สูตินรีแพทย์ควรสอบถามเหตุผล รับฟังความต้องการ อภิปรายความเสี่ยงและประโยชน์ของการผ่าตัดคลอดให้สตรีตั้งครรภ์รับทราบจนเข้าใจดีแล้ว หากยังยืนยันที่จะทำผ่าตัดคลอด ให้ลงนามในเอกสารแสดงความจำนงและใบยินยอมรับการผ่าตัด กรณีที่สูตินรีแพทย์ไม่เห็นด้วยที่จะทำผ่าตัดคลอด ให้แนะนำหรือส่งต่อสตรีตั้งครรภ์ไปพบสูตินรีแพทย์ท่านอื่น
5. การผ่าตัดคลอดแบบวางแผนล่วงหน้า (scheduled elective cesarean section) เป็นการทำผ่าตัดที่มีการเตรียมการและระบุวัน เวลาไว้ชัดเจน แนะนำให้ทำผ่าตัดที่อายุครรภ์ตั้งแต่ 39 สัปดาห์เป็นต้นไป
6. การที่แพทย์แนะนำหรือชักจูงให้สตรีตั้งครรภ์มาผ่าตัดคลอดโดยไม่มีข้อบ่งชี้ทางการแพทย์ ไม่ว่าจะด้วยเหตุผลใดถือเป็นการกระทำที่ผิดจริยธรรมทางการแพทย์
7. อัตราการผ่าตัดคลอดที่เหมาะสมของแต่ละสถานพยาบาลอาจแตกต่างกัน ขึ้นกับบริบทและสถานการณ์ที่รับผิดชอบ
8. สถานพยาบาล หน่วยงาน และองค์กรที่เกี่ยวข้องควรเก็บข้อมูลการคลอดแบบ Robson classification เพื่อประโยชน์ในการประเมินและติดตามข้อมูลสำหรับการวางแผนการพัฒนาและเพิ่มประสิทธิภาพของการดำเนินงานเพื่อลดการผ่าตัดคลอดที่ไม่จำเป็น

อย่างไรก็ดี จากสถิติในปัจจุบันโดยอิงจากบทความวิจัยเรื่อง “Trend of Cesarean Section Rates and Correlations with Adverse Maternal and Neonatal Outcomes: A Secondary Analysis of Thai Universal Coverage Scheme Data” ที่นำโดย ศ.ดร.พญ.ทิพวรรณ เลียบสื่อตระกูล ภาควิชาสูติศาสตร์และนรีเวชวิทยา คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น พญ.จารวี สุขมณี นักวิจัยจากโครงการประเมินเทคโนโลยีด้านสุขภาพ (HITAP) และคณะ ซึ่งได้รับการแผยแพร่ใน The American Journal of Perinatology Reports ทำให้เห็นภาพว่าในประเทศไทยจะมีอัตราการผ่าตัดคลอดเพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่องในช่วงไม่กี่ทศวรรษที่ผ่านมา

เห็นได้จากอัตราที่เพิ่มขึ้นจาก 20% ในปี 2549 เป็น 32.7% ในปี 2561 ซึ่ง ณ ปัจจุบันอัตราการผ่าคลอดในประเทศไทยอาจคิดได้เป็น 35% ของการคลอดทั้งหมด และหากนับในแถบเอเชียไทยถือว่ามีอัตราสูงเป็นอันดับ 3 รองจากจีนและเกาหลีใต้ ซึ่งเป็นไปในทิศทางเดียวกันกับในหลายประเทศทั่วโลก โดยจากการเก็บข้อมูลกว่า 150 ประเทศพบว่า การผ่าตัดคลอดมีสัดส่วนถึง 18.6% ซึ่งแต่ละประเทศมีอัตราที่แตกต่างกันไป ตั้งแต่ 1.4% ไปจนถึง 56.4%

ไม่เพียงเท่านั้นกรณีของไทยมีการคาดการณ์ด้วยว่าอัตราการผ่าตัดคลอดจะเพิ่มสูงขึ้นจนกลายเป็น 60% ในอีก 6 ปี ข้างหน้า (2573) หากยังไม่มีกระบวนการรับมือกับปัญหาและการจัดการใด ๆ ที่เป็นรูปธรรม

ฉะนั้นภายใต้สถานการณ์ขณะนี้ที่อัตราการเกิดของไทยลดลงต่ำมาก โดยเฉพาะปี 2565 ที่อัตราการเจริญพันธุ์รวมของหญิงไทยคนหนึ่งเฉลี่ยมีบุตรเพียง 1.1 คน ใกล้เคียงกับประเทศเอเชียตะวันออกหลายประเทศ เช่น ญี่ปุ่น ซึ่งมีอัตราอยู่ที่ 1.2, จีน 1.1, สิงคโปร์ 1.1, ไต้หวัน 1.0 ซึ่งหากย้อนไปครึ่งทศวรรษก่อน หญิงไทยเคยมีอัตรามีบุตรเฉลี่ยมากกว่า 5 คน

เพื่อไม่ให้ไทยเดินไปสู่สภาวะการณ์ที่เด็กไทยเกิดน้อย และจำนวนไม่น้อยมีความ “ชำรุด” อันจะส่งผลให้ในยุคต่อไปความยั่งยืนและสุขภาพที่ดีของประชากรจะลดน้อยลดลงไปเรื่อย ๆ การให้ข้อมูลที่ครบถ้วนกับครอบครัวในการเตรียมความพร้อมที่จะมีบุตร ควรเริ่มตั้งแต่การดูแลสุขภาพก่อนคลอดและที่สำคัญคือการใส่ใจในการเลือก “วิธีคลอด” ที่เหมาะสมกับสภาพสุขภาพของแม่และทารก จึงเป็นสิ่งสำคัญซึ่งจะช่วยให้สุขภาพของเด็กที่เกิดมามีความสมบูรณ์แข็งแรงพร้อมเป็นกำลังในการขับเคลื่อนสังคมในอนาคต

 

ข้อมูลอ้างอิง

11 มกราคม 2567

Next post > E^2U ฝ่ายวิจัยภายใต้ HITAP สร้างทางเลือก ‘นโยบายสุขภาพ’ บนความสัมพันธ์ ‘สวล.-ศก.’

< Previous post เลิกเหล้าได้ ไม่ต้องรอเข้าพรรษา naltrexone และ acamprosate ยาเลิกเหล้าที่เราถามหา

Related Posts

แสดงความคิดเห็น

ยกเลิกการตอบ