logo
ต้องการข้อมูลเพิ่มเติม ติดต่อฝ่ายสื่อสารองค์กร HITAP
ตรวจสุขภาพทำใบขับขี่ วิจัยชี้ควรตรวจอะไรบ้าง?

กลายเป็นประเด็นร้อนเมื่อเกิดอุบัติเหตุจากคนขับที่เป็นโรคต้องห้ามจนสังคมตั้งคำถามถึงมาตรการตรวจสุขภาพทำใบขับขี่ที่มีปัญหา เบื้องลึกเบื้องหลังการตรวจสุขภาพอีกหนึ่งมาตรการด้านสุขภาพสำหรับลดอุบัติเหตุมีขึ้นเพื่ออะไร? ในต่างประเทศมีการจัดการอย่างไร และในประเทศไทยควรมีทิศทางอย่างไร? ย้อนเปิดงานวิจัย HITAP มีคำตอบ

จากบทความวิชาการ “ประสิทธิผลและความคุ้มค่าทางเศรษฐศาสตร์ของมาตรการคัดกรองสุขภาพเพื่อป้องกันอุบัติเหตุจราจรทางถนน” ที่ตีพิมพ์ลงวารสารวิจัยระบบสาธารณสุข ปีที่ 7 ฉบับที่ 4 ตุลาคม – ธันวาคม 2556 โดยสถาบันวิจัยระบบสาธารณสุข เผยถึงการศึกษามาตรการด้านสุขภาพเพื่อป้องกันและลดอุบัติเหตุซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของ “โครงการพัฒนาชุดสิทธิประโยชน์ด้านการคัดกรองทางสุขภาพระดับประชากรในประเทศไทย” โดย HITAP มีการศึกษาจากต่างประเทศเปรียบเทียบกับสถานการณ์ในประเทศไทย ดังนี้

ในสหราชอาณาจักรมีกฎหมายให้ประชาชนต้องรายงานอาการป่วยที่เกี่ยวกับการขอใบขับขี่ เช่น โรคลมชัก โรคหลอดเลือดสมองและโรคทางระบบประสาท โรคทางจิตเวช โรคทางสายตา และการมีความพิการทางร่างกาย ขณะที่สหรัฐอเมริกากำหนดให้ต้องยื่นใบตรวจสุขภาพที่ตรวจโดยแพทย์ประกอบด้วย การตรวจความชัดเจนในการมองเห็น การวัดลานสายตาและแฟ้มประวัติสุขภาพซึ่งแต่ละรัฐมีเกณฑ์ต่างกัน เช่น ในรัฐฟอริดามีการตรวจความชัดเจนในการมองเห็นสำหรับผู้มีอายุ 80 ปีขึ้นไป และ ในรัฐแมรีแลนด์ เป็น 65 ปีขึ้นไป ส่วนในออสเตรเลียประชาชนต้องรายงานสุขภาพเพื่อขอหรือต่อใบขับขี่ มีหน่วยงานกลางเป็นผู้ประเมิน แนะนำรายการตรวจสุขภาพและรายงานโรคที่ส่งผลต่อการขับขี่อีก 9 โรค เช่น ประวัติการหมดสติ โรคเกี่ยวกับการนอน โรคลมชัก โรคเบาหวาน มีการกำหนดระยะเวลางดขับขี่หลังทำหัตถการต่าง ๆ โดยต้องรายงานเร็วที่สุดหรือภายใน 7 วัน หากฝ่าฝืนแล้วเกิดอุบัติเหตุจะถูกตัดคะแนนวินัยจราจร นำไปสู่บทลงโทษเช่นยึดใบขับขี่เป็นเวลา 3 เดือนหรือ 6 เดือน ในสิงคโปร์ไม่มีการตรวจร่างกาย มีเพียงลงนามยืนยันว่าไม่ป่วยเป็นโรคลมชัก โรคทางจิตเวช หรือมีอาการทางระบบประสาท สามารถอ่านตัวหนังสือออกภายในระยะ 25 เมตร ไม่มีความพิการทางร่างกายที่จะเป็นอันตรายต่อการขับขี่และไม่มีภาวะตาบอดสี ใบขับขี่มีระยะเวลาตลอดชีพ ผู้มีอายุเกิน 65 ปี ต้องตรวจร่างกายโดยแพทย์ทุก 3 ปี ซึ่งแพทย์จะเป็นผู้พิจารณาว่าสมควรได้รับการต่อใบอนุญาตขับขี่หรือไม่

ขณะที่ในประเทศไทยการขอใบขับขี่ต้องใช้ใบรับรองแพทย์ โดยมีโรคต้องห้ามคือ โรคจิตหรือจิตฟั่นเฟือน ปัญญาอ่อน การติดยาเสพติดให้โทษ โรคพิษสุราเรื้อรัง โรคเรื้อนในระยะติดต่อ หรือในระยะที่ปรากฏอาการที่รังเกียจแก่สังคม วัณโรคระยะอันตราย โรคเท้าช้างในระยะที่ปรากฏอาการเป็นที่รังเกียจแก่สังคม และกำหนดให้มีการตรวจสมรรถภาพของร่างกาย การทดสอบตาบอดสี การทดสอบปฏิกิริยาในการตัดสินใจ การทดสอบสายตาทางลึก การทดสอบสายตาทางกว้างในการขอใบอนุญาตขับขี่ทุก 5 ปี

จากการวิจัยเมื่อเทียบมาตรการด้านสุขภาพในต่างประเทศกับประเทศไทยแล้วพบว่า การคัดกรองทางสุขภาพเพื่อควบคุมและป้องกันอุบัติเหตุจราจรทางถนนในระดับประชากรที่มีประสิทธิผลสำหรับประเทศไทย ได้แก่ การทดสอบสายตาในผู้สูงอายุ การทดสอบความเหนื่อยล้าในกลุ่มผู้ขับขี่รถสาธารณะ และการคัดกรองผู้ขับขี่ขณะมึนเมาสุรา

ทั้งนี้คณะวิจัยมีข้อเสนอต่อผู้กำหนดนโยบายว่าควรยกเลิกการตรวจร่างกายที่ไม่เกี่ยวข้องกับการขับขี่ แต่ควร

  • เพิ่มการตั้งด่านตรวจแอลกอฮอล์ให้ครอบคลุมทุกพื้นที่ โดยมาตรการนี้จะมีส่วนลดอุบัติเหตุจากการดื่มแอลกอฮอล์ถึงร้อยละ 15 และมีความคุ้มค่าทางเศรษฐศาสตร์เป็นอย่างมาก
  • เพิ่มการตรวจสภาพความเหนื่อยล้าของผู้ขับขี่รถสาธารณะ และเพิ่มการติดตั้งเครื่องมือวัดระดับแอลกอฮอล์ล็อคสตาร์ทซึ่งมีติดตั้งเฉพาะในกลุ่มของบริษัทเอกชนขนาดใหญ่ และ
  • เพิ่มการตรวจความชัดเจนในการมองเห็นกับประชากรที่มีอายุ 60 ปีขึ้นไป อย่างไรก็ตามประเทศไทยเคยมีการออกใบขับขี่ตลอดชีพ หากดำเนินการมาตรการนี้ก็จำเป็นจะต้องเรียกคืนใบขับขี่ตลอดชีพที่เคยออกมาก่อนหน้านี้

ทั้งหมดนี้ต้องศึกษาความเป็นไปได้และผลกระทบรวมถึงความคุ้มค่าทางเศรษศาสตร์ในบริบทของประเทศไทยต่อไป

อย่างไรก็ตาม มาตรการในการลดอุบัติเหตุบนท้องถนนนั้นมีหลากหลายซึ่งต้องมีการทำควบคู่กันเพื่อให้เกิดผลลัพธ์ ซึ่งในประเทศไทยเหตุร้ายบนท้องถนนมักเกิดกับกลุ่มรถจักยนต์และเกิดในกลุ่มผู้ขับขี่วัยรุ่นทำให้มาตรการด้านสุขภาพไม่ส่งผลถึงกลุ่มนี้โดยตรง ในมุมของประชาชนทั่วไปแล้วอาจพิจารณาถึงมาตรการคัดกรองสุขภาพในไทยรวมถึงต่างประเทศอาจมีส่วนช่วยในการตัดสินใจตรวจเช็คตัวเองเพื่อความปลอดภัยบนท้องถนนได้อีกทางด้วย

สามารถอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมของบทความวิชาการ “ประสิทธิผลและความคุ้มค่าทางเศรษฐศาสตร์ของมาตรการคัดกรองสุขภาพเพื่อป้องกันอุบัติเหตุจราจรทางถนน” ได้ที่นี่ https://www.hitap.net/documents/18712 การตรวจคัดกรองสุขภาพยังมีอีกมากมายเพื่อช่วยให้ประเทศไทยมีระบบสาธาณสุขที่ดียิ่งขึ้น สามารถติดตามรายละเอียดของ “โครงการพัฒนาชุดสิทธิประโยชน์ด้านการคัดกรองทางสุขภาพระดับประชากรในประเทศไทย” ได้ที่นี่https://www.hitap.net/research/17573

 

เรื่องโดย อธิเจต มงคลโสฬศ

ขอบคุณภาพจาก Hoffmann-tipsntrips pixabay.com และ Designed by Photoroyalty / Freepik

6 ธันวาคม 2560

Next post > วันหลักประกันสุขภาพถ้วนโลก ที่ปรึกษา HITAP ย้ำชัด “สุขภาพดีคือสิทธิ ต้องทั่วถึง เท่าเทียมและยั่งยืน”

< Previous post โฆษณานม คุณรู้หรือไม่สังคมไทยควบคุมกำกับแค่ไหน

Related Posts

แสดงความคิดเห็น

ยกเลิกการตอบ

บทความที่เข้าชมมากที่สุด ในรอบ 3 เดือน