logo
ต้องการข้อมูลเพิ่มเติม ติดต่อฝ่ายสื่อสารองค์กร HITAP
ปอกเปลือกประเมิน “งดเหล้าเข้าพรรษา” เข้าหูใคร ได้ผลจริงหรือ ?

“งดเหล้าเข้าพรรษา” คงเป็นแคมเปญที่คุ้นหูคุ้นตาสำหรับคนไทยแทบทุกคน แล้วนักดื่มจะอย่างไรก็ดื่มหรือไม่ ถ้าอย่างนั้นภาษีที่เอาไปทำแคมเปญเสียเปล่า…หรือเปล่า? นั่นคือคำถามที่เราจะมาหาคำตอบกัน

เครื่องดื่มแอลกอฮอล์เป็นเครื่องดื่มแห่งการเฉลิมฉลอง แม้จะมีคนดื่มแต่น้อย ดื่มอย่างพอดี แต่ก็มีคนอีกจำนวนมากที่ตกเป็นทาสของแอลกอฮอล์ การดื่มจึงก่อให้เกิดต้นทุนทางสังคม เช่น ค่าใช้จ่ายในการรักษาความเจ็บป่วยของผู้ดื่ม เกิดเป็นปัญหาความเสี่ยงทางสุขภาพที่เพิ่มขึ้น ความเจ็บป่วยในบั้นปลาย รวมถึงอุบัติเหตุและการสูญเสียของคนที่ไม่ได้ดื่มด้วย ทำให้ระบบสุขภาพต้องแบกรับค่ารักษาพยาบาล ซ้ำยังสูญเสียบุคลากรที่จะช่วยพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมในอนาคต

เพื่อแก้ปัญหาดังกล่าวจึงมีการวางมาตรการควบคุมการบริโภคเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ให้ลดลง ตัวอย่างของมาตรการดังกล่าว คือ แคมเปญ “งดเหล้าเข้าพรรษา” ที่มีการรณรงค์ไปทั่วประเทศทางการโฆษณาผ่านสื่อสาธารณะ เช่น โฆษณา จน เครียด กินเหล้า และ ให้เหล้า = แช่ง แต่นอกเหนือจากนั้น ยังมีการจัดกิจกรรมเพื่อสร้างความเข้มแข็งในบางชุมชนเพื่อกระตุ้นให้ผู้ดื่มในชุมชนลดหรืองดการดื่มผ่าน “ชุมชนรูปธรรมงดเหล้าเข้าพรรษา” อีกด้วย ซึ่งแต่ละโครงการก็มีค่าใช้จ่ายมากน้อยแตกต่างกันไป

ทว่าแล้วการรณรงค์นี้ช่วยให้คนงดดื่มได้จริงหรือไม่ ? และเมื่อเทียบกันแล้ว การรณรงค์แบบไหนถือว่าคุ้มค่า ?

รายงานวิจัย “การพัฒนาแบบจำลองการประเมินความคุ้มค่าทางเศรษฐศาสตร์ของมาตรการสร้างเสริมสุขภาพในประเทศไทย : กรณีศึกษามาตรการควบคุมการบริโภคเครื่องดื่มแอลกอฮอล์” จะช่วยปอกเปลือกประเมินแคมเปญนี้ให้รู้ว่าการจัดกิจกรรมงดเหล้าเข้าพรรษาในชุมชนเพื่อขยายผลจากการรณรงค์ในระดับประเทศเพียงอย่างเดียวคุ้มหรือไม่ ?

อกนิฎฐา พูนชัย ผู้ช่วยวิจัย HITAP เล่าว่า ตอนนี้ในประเทศไทย ยังไม่มีแนวทางการประเมินความคุ้มค่าและไม่มีเพดานความคุ้มค่าเฉพาะของมาตรการสร้างเสริมสุขภาพ ดังนั้นเพื่อให้งานวิจัยชิ้นนี้สามารถตอบคำถามเชิงนโยบายได้ว่า มาตรการสร้างเสริมสุขภาพนี้คุ้มค่าหรือไม่เมื่อเทียบกับมาตรการรักษาฟื้นฟูอื่น ๆ ทีมวิจัยจึงใช้ระเบียบวิธีวิจัยมาตรฐานสำหรับการประเมินเทคโนโลยีด้านสุขภาพของไทย ช่วยให้ผลการศึกษาสามารถนำไปเปรียบเทียบกับเกณฑ์การตัดสินความคุ้มค่าของประเทศไทยได้

จากมาตรการสร้างเสริมสุขภาพเกี่ยวกับแอลกอฮอล์ที่มีอยู่มากมายในประเทศไทย ตัวอย่างเช่น กฎหมายควบคุมการดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ตั้งแต่จำกัดการเข้าถึงและการซื้อ การโฆษณา กำหนดราคาภาษี การคัดกรองฟื้นฟูบำบัดคนติดสุรา จนถึงกฎหมายเพิ่มโทษเมาแล้วขับ ผู้เชี่ยวชาญที่เป็นตัวแทนจากหลายฝ่ายซึ่งทำงานในประเด็นสุขภาพก็ได้คัดเลือกเอาโครงการงดเหล้าเข้าพรรษา ทั้งในส่วนที่ดำเนินการผ่านสื่อสาธารณะ และส่วนที่เป็นการจัดกิจกรรมในชุมชน เป็นกรณีตัวอย่างในการประเมินเพื่อสร้างแบบจำลองการประเมินความคุ้มค่าทางเศรษฐศาสตร์ของมาตรการสร้างเสริมสุขภาพในประเทศไทย เนื่องจากเป็นโครงการที่ทำนานหลายปี มีการลงทุนทั้งด้านบุคลากร งบประมาณและทรัพยากรในการดำเนินสูง

 

แบบจำลองมองความจริง

หากต้องการวัดผลอะไรสักอย่าง การวัดเป็นจำนวนตัวเลข อาจเป็นตัวเลือกแรก ๆ เนื่องจากตัวเลขเป็นมาตรฐานที่ทุกคนเข้าใจ แต่ในชีวิตจริง ใช่ว่าทุกอย่างจะแปลงเป็นสมการและตัวเลขได้สมบูรณ์ เพราะมีตัวแปรมากมายซึ่งหลายอย่างก็วัดไม่ได้ กรณีของมาตรการเพื่อควบคุมการบริโภคแอลกอฮอล์ ก็เช่นกัน เราไม่อาจหยั่งรู้ทุกอย่างได้ นักวิจัยจึงต้องหา “ตัวแทน” ด้วยการ “จำลอง” ความจริงด้วยวิธีการทางเศรษฐศาสตร์ คัดเลือกเอาตัวแปรที่สำคัญจริง ๆ มาเป็นตัวแทน สร้างชุดความสัมพันธ์ให้ตัวแปรนั้น ผ่านทฤษฎีต่าง ๆ จนกลายเป็น “แบบจำลองทางเศรษศาสตร์” เพื่อเข้าถึงความจริงให้ใกล้เคียงที่สุดเท่าที่จะทำได้ ซึ่งเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นในงานวิจัยชิ้นนี้

แต่การสร้างแบบจำลองเพื่อประเมินมาตรการสร้างเสริมสุขภาพและป้องกันโรค ก็มีลักษณะเฉพาะตัวที่ต่างไปจากมาตรการชนิดอื่น ในงานวิจัยชิ้นนี้ใช้แบบจำลองทางเศรษศาสตร์ที่พัฒนาขึ้นโดยใช้ข้อมูลระดับบุคคลของประเทศสกอตแลนด์แต่มีการปรับค่าตัวแปรเพื่อให้เป็นข้อมูลบริบทของประเทศไทย และสามารถจำลองผลลัพธ์ทั้งต้นทุนและสุขภาพตลอดชีวิต จึงจำเป็นจะต้องใช้ข้อมูลจากการศึกษาหลายชิ้นมาร่วมด้วย โดยในกระบวนการนี้ นักวิจัย HITAP ได้คัดเลือกงานวิจัยที่มีความน่าเชื่อถือ

“เรามีการพัฒนาแบบจำลองโดยนำแบบจำลองทางเศรษฐศาสตร์สำหรับประเมินมาตรการสร้างเสริมสุขภาพและป้องกันโรคจากสกอตแลนด์ มาปรับให้เข้ากับบริบทของประเทศไทย” นักวิจัยกล่าว “ข้อมูลที่ใส่เข้ามาในแบบจำลองนี้ก็เป็นข้อมูลจากผลการศึกษาอื่น ๆ ในประเทศไทย

“เราคัดเลือกใช้ข้อมูลพื้นฐานและระบาดวิทยาของคนไทยระดับประเทศมาพัฒนาแบบจำลอง โดยพยายามให้ข้อมูลที่นำมาใช้เป็นตัวแทนของคนในประเทศให้มาก ซึ่งจะส่งผลให้ข้อมูลที่ออกมามีความน่าเชื่อถือและเป็นข้อมูลของคนไทยจริง ๆ นอกจากนี้การนำข้อมูลหรือที่เรียกว่าพารามิเตอร์มาใช้ในแบบจำลองก็ได้ผ่านความเห็นชอบจากผู้เชี่ยวชาญที่เกี่ยวข้อง”

ในบทความนี้จะขอยกตัวอย่างฐานข้อมูลของประเทศไทยที่นำมาใช้ในการปรับแบบจำลอง มีดังนี้

ข้อมูลพฤติกรรมสุขภาพและโรคหรือปัจจัยเสี่ยงของคนไทยจากการสำรวจสุขภาพประชาชนไทยโดยการตรวจร่างกาย ครั้งที่ 5 พ.ศ. 2557 (National Health Exam Survey; NHES) ดำเนินการโดยแผนงานสำรวจสุขภาพประชาชนไทย สำนักงานวิจัยเพื่อการพัฒนาหลักประกันสุขภาพไทย สถาบันวิจัยระบบสาธารณสุข ซึ่งเก็บข้อมูลด้วยการตรวจร่างกายในกลุ่มตัวอย่าง จำนวน 23,760 คน และมีข้อมูลพฤติกรรมการดื่มแอลกอฮอล์รวมอยู่ด้วย ค่าคะแนนจากแบบประเมิน AUDIT, การดื่มอย่างหนัก (Binge drinking) และปริมาณแอลกอฮอล์ที่ดื่มต่อวันและสัปดาห์

ข้อมูลพื้นฐานของความเสี่ยงต่อการเกิดโรคหัวใจและหลอดเลือดซึ่งพฤติกรรมการดื่มเป็นปัจจัยเสี่ยงสำคัญที่ทำให้เกิดโรค โดยใช้ตัวแปรจากการศึกษาระยะยาวถึงอิทธิพลของปัจจัยเสี่ยงต่อการเกิดโรคหัวใจ หลอดเลือด และเมแทบอลิซึมในพนักงานการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (Electricity Generating Authority of Thailand study (EGAT)

 

งดเหล้าเข้าหูหรือไม่?

ข้อมูลที่จะนำมาใส่เข้าแบบจำลองทางเศรษฐศาสตร์ถือเป็นสิ่งสำคัญ ยิ่งใช้ข้อมูลที่มีคุณภาพ ผลการศึกษาก็จะยิ่งสะท้อนความเป็นจริง ในการประเมินโครงการงดเหล้าเข้าพรรษาครั้งนี้ ข้อมูลด้าน “ผลลัพธ์ของแคมเปญ” อันได้แก่ พฤติกรรมการดื่มที่เปลี่ยนไป ระยะเวลาในการงดการดื่ม ซึ่งก็มีข้อสรุปอยู่ในการศึกษา “การประเมินผลโครงการรณรงค์งดเหล้าเข้าพรรษาระดับพื้นที่ ปี พ.ศ. 2558” โดยศูนย์วิจัยโรคสุราซึ่งมีการประเมินในปี 2557 และ 2558 ใน 4 พื้นที่ของ 4 ภูมิภาค ใช้วิธีการศึกษาที่เรียกว่า ”การศึกษาแบบกึ่งทดลอง[1]

การศึกษาเปรียบเทียบพื้นที่ที่มีเฉพาะการรณรงค์ระดับประเทศ (โฆษณาต่าง ๆ ตามสื่อหลัก) กับพื้นที่ที่มีกิจกรรมระดับพื้นที่ชุมชนควบคู่ด้วย เช่น ชุมชนรูปธรรมงดเหล้า การจัดแข่งกีฬาต่าง ๆ หรือกิจกรรมชื่นชมให้กำลังใจผู้งดเหล้า (แต่ละพื้นที่มีรูปแบบกิจกรรมของตัวเอง) พบว่า การมีกิจกรรมในชุมชนควบคู่กับระดับประเทศส่งผลให้คนงดดื่มในช่วงเข้าพรรษาจนครบ 1 ปีได้มากกว่า และพบว่าพื้นที่ที่มีการรณรงค์ระดับชุมชนด้วยจะช่วยให้นักดื่มที่ดื่มในระดับความเสี่ยงต่าง ๆ สามารถงดดื่มเหล้าเฉลี่ย 12 เดือนได้ร้อยละ 23.21 – 34.69 ในเพศชาย และมากถึงร้อยละ 46.65 – 65.13 ในเพศหญิง

พิจารณาถึงตรงนี้ คงพอได้คำตอบเบื้องต้นแล้วว่า การจัดกิจกรรมงดเหล้าเข้าพรรษาในชุมชน ได้ผล มองอย่างเป็นธรรมคงไม่มีมาตรการรณรงค์ใดได้ผลแบบสมบูรณ์ หรือทำให้คนเปลี่ยนพฤติกรรมแบบ 100 เปอร์เซ็นต์ ความหลากหลายทั้งวัฒนธรรมและเงื่อนไขในการดำเนินนโยบายในแต่ละพื้นที่ทั่วประเทศที่แตกต่างกัน เกิดเป็นผลลัพธ์เฉลี่ยอยู่ที่ร้อยละ 23.21 – 34.69 ในเพศชาย และร้อยละ 46.65 – 65.13 ในเพศหญิง หรือก็คือรัฐบาลชวนให้คนงดเลิกเหล้า 10 คนได้ผล 3 – 4 คนก็ถือว่าไม่เลวร้าย

แต่ก็ยังมีคำถามสำคัญแล้วต้นทุนของการรณรงค์คือเท่าไหร่ ? เมื่อเทียบกันแล้วรณรงค์รูปแบบใดจึงคุ้มกว่า ? กระบวนการทางเศรษฐศาสตร์จะช่วยให้คำตอบได้

 

ต้นทุนเท่าไหร่ ? รณรงค์อย่างไรคุ้มกว่า ? งานวิจัยมีคำตอบ

เมื่อได้ข้อมูลที่ได้กล่าวไปข้างต้นครบถ้วน นักวิจัยจะนำข้อมูลทั้งหมดมาปรับในแบบจำลองเพื่อให้สามารถประเมินสิ่งที่เกิดขึ้นในประเทศไทยได้ ผลที่ได้ก็คือแบบจำลองที่พร้อมจะให้คำตอบได้ว่า ผลของโครงการงดเหล้าเข้าพรรษานั้น เมื่อทำให้คนมีพฤติกรรมเปลี่ยนไปแล้ว สิ่งที่เกิดขึ้นต่อมาในทางเศรษฐศาสตร์นั้นจะเป็นอย่างไร ลดความเจ็บป่วยได้อย่างไรบ้าง ? มีชีวิตยืนยาวขึ้นอย่างไร ? และสุดท้ายเมื่อเทียบกันแล้วการรณรงค์แบบไหนใช้ต้นทุนมากน้อยเท่าไร ? ได้ประโยชน์แค่ไหน ?

อธิบายแบบให้เข้าใจมากขึ้น แบบจำลองการประเมินความคุ้มค่าจะทำนายผลลัพธ์ของโครงการที่คาดว่าจะเกิดขึ้นกับต้นทุนที่จะเกิดขึ้นตลอดชีวิตของกลุ่มเป้าหมาย จากนั้นก็คำนวณว่า ต้นทุนที่เพิ่มขึ้นต่อ 1 ปีสุขภาวะที่เพิ่มขึ้นเป็นเท่าไร ? ถ้ามีต้นทุนไม่เกิน 160,000 บาทต่อ 1 ปีสุขภาวะที่เพิ่มขึ้น จึงจะคุ้มค่า

ตามเกณฑ์ข้างต้น งานวิจัยชิ้นนี้พบว่า โครงการรณรงค์งดเหล้าเข้าพรรษาที่ดำเนินการในระดับประเทศและระดับชุมชน คุ้มค่า เมื่อเทียบกับการรณรงค์ระดับประเทศอย่างเดียวทั้งเพศชายและเพศหญิง

ในด้านต้นทุน พบว่าการรณรงค์งดเหล้าเข้าพรรษาผ่านสื่อสาธารณะเพียงอย่างเดียวมีต้นทุนน้อยกว่าคนละ 1 บาทต่อปี แต่ถ้าเพิ่มการจัดกิจกรรมงดเหล้าเข้าพรรษาในชุมชนด้วยจะมีต้นทุนเพิ่มขึ้นคนละ 33 บาทต่อคนต่อปี ในด้านของชีวิตที่ยืนยาวขึ้นก็พบว่า หากเพิ่มกิจกรรมระดับชุมชนด้วยเพศชายจะมีปีชีวิตเพิ่มขึ้นระหว่าง 1.03 – 3.72 ปี และเพศหญิงเพิ่มขึ้นระหว่าง 0.64 – 0.72 ปี ปีสุขภาวะในเพศชายจะเพิ่มขึ้น 0.58-1.37 ปีและเพศหญิง 0.17-0.26 ปี เมื่อเปรียบเทียบกับเกณฑ์ความคุ้มค่าของประเทศไทยก็พบว่าการจัดกิจกรรมในชุมชนมีความคุ้มค่าเมื่อเปรียบเทียบกับการรณรงค์ผ่านสื่อสาธารณะเพียงอย่างเดียว

“จริง ๆ ที่มันคุ้มก็เพราะต้นทุนมาต่ำ คือสื่อกระแสหลักอย่างเดียวต้นทุนจะอยู่ที่ 1 บาทต่อคนต่อปี แต่ถ้าเป็นรณรงค์ระดับชุมชนด้วยต้นทุนจะไม่เกิน 35 บาทต่อคนต่อปี ต้นทุนมันต่ำก็เลยคุ้ม แต่สิ่งสำคัญที่ทำให้มาตรการมีความคุ้มค่าคือต้องเน้นว่า ในชุมชนจริง ๆ เราจะคิดว่ากิจกรรมชุมชนจัดครั้งนึง คนที่เข้าไปอยู่ในกิจกรรมจะสามารถลดได้ตลอดทั้งชีวิตซึ่งอาจจะเกินไปนิด เราจึงเสนอแนะให้เน้นกิจกรรมงดเหล้าเข้าพรรษานี้ในชุมชนที่มีประสิทธิผล ต้องจัดอย่างเป็นรูปธรรมและต้องต่อเนื่องทุกปี ถ้าไม่จัดทุกปีอาจจะทำให้ผลไม่ตรงเพราะข้อมูลที่ติดตามเป็นข้อมูลครบปี ดังนั้นจึงต้องจัดทุกปีและเข้มข้นขึ้นทำให้คนรักษาการงดเหล้าได้ทุกปี” 

ในภาพรวมระดับประเทศ แคมเปญรณรงค์ “งดเหล้าเข้าพรรษา” กำลังค่อย ๆ เปลี่ยนแปลงสังคม เปลี่ยนชีวิตนักดื่มแบบเสพติด ให้กลับมาเป็นชีวิตหนึ่งที่มีคุณค่าต่อครอบครัวของเขาเอง และต่อประเทศชาติได้

 

ผู้ที่สนใจรายละเอียดเพิ่มเติมสามารถอ่านรายงานวิจัยฉบับสมบูรณ์โครงการ “การพัฒนาแบบจำลองการประเมินความคุ้มค่าทางเศรษฐศาสตร์ของมาตรการสร้างเสริมสุขภาพในประเทศไทย : กรณีศึกษามาตรการควบคุมการบริโภคเครื่องดื่มแอลกอฮอล์” ได้ที่นี่ https://www.hitap.net/documents/174176

[1] การศึกษาแบบกึ่งทดลอง ( Quasi – Experimental Design) )การศึกษาความสัมพันธ์ของตัวแปรสาเหตุ กับตัวแปรของผลที่เกิดขึ้น โดยไม่มีกลุ่มควบคุม หรือศึกษาจากกลุ่มตัวอย่างที่มีอยู่ตามธรรมชาติ แต่มีการออกแบบการศึกษา ที่แก้ไขความคลาดเคลื่อนไว้ก่อน

25 สิงหาคม 2562

Next post > เปิดโลก “นศ.เภสัชออกค่าย” มาวิจัย HTA มุมมองที่เปลี่ยนไปจาก “สุขภาพชาวบ้าน” ถึง “นโยบายสุขภาพ”

< Previous post 10 คำถามง่าย ๆ ช่วยบอกคุณ(หรือคนใกล้ตัว) กำลังติดเหล้าหรือไม่ และข้อแนะนำ

Related Posts

แสดงความคิดเห็น

ยกเลิกการตอบ

บทความที่เข้าชมมากที่สุด ในรอบ 3 เดือน