logo

สปสช. และ HITAP ขอเชิญท่านมาร่วมเป็นส่วนสำคัญในการยกระดับบริการสุขภาพของประเทศไทย ด้วยการตอบแบบสอบถามในหัวข้อ “การปฏิบัติงานตามนโยบาย 30 บาทรักษาทุกที่ ด้วยบัตรประชาชนใบเดียว”

ต้องการข้อมูลเพิ่มเติม ติดต่อฝ่ายสื่อสารองค์กร HITAP
ระบบสุขภาพของไทยยุค Y2K เป็นอย่างไร

กระแส Y2K ชวนให้คนหันมาสนใจแฟชั่นและวัฒนธรรมในยุคปี ค.ศ. 1990 ถึง 2000 ต้น ๆ เช่น หนัง เพลง แฟชั่นการแต่งตัว วัฒนธรรมการใช้ชีวิต แต่มุมหนึ่งที่อาจไม่ได้รับสนใจนักอย่างระบบสุขภาพในช่วงเวลาดังกล่าวมีหลายหมุดหมายสำคัญทางประวัติศาสตร์ที่เกิดการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่เช่นกัน

วันนี้ HITAP ขอชวนย้อนเวลากลับไปอยู่ในเหตุการณ์ 4 หมุดหมายที่น่าสนใจในระบบสุขภาพช่วง Y2K

 

  1. ผู้ป่วยอนาถา (อดีต – ช่วง 1980)

ภาพรวมระบบสุขภาพในช่วงก่อน Y2K คือระบบสุขภาพก่อนที่จะมีระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าหรือก็คือก่อนบัตรทอง สถานการณ์จึงยังคงมีผู้คนที่ป่วยแล้วต้องหมดเนื้อหมดตัวกับค่ารักษาพยาบาลอยู่มาก ระบบที่ช่วยเหลือผู้ป่วยยากไร้ในอดีตซึ่งมีอยู่ในรูปแบบเริ่มตั้งแต่ในปี พ.ศ. 2518 สมัยรัฐบาลมีการจัดตั้งโครงการสงเคราะห์ประชาชนผู้มีรายได้น้อย (บัตรสปน.) ให้สิทธิรักษาฟรีกับผู้ยากไร้ นอกจากนี้ยังมีระบบที่เรียกกันว่า “คนไข้อนาถา” ซึ่งจะมีกระบวนการในการทำเรื่องขอความช่วยเหลือ มีนักสังคมสงเคราะห์เข้ามาทำงานขอให้ผู้อำนวยการโรงพยาบาลยกเว้นค่ารักษาเป็นครั้ง ๆ ไป หลายครั้งไม่ได้ฟรี และหลายครั้งต้องรอ ทำให้เกิดกรณีที่ผู้ป่วยรอรับการรักษาจนอาการหนักถึงขั้นพิการหรือเสียชีวิต

 

  1. โครงการอยุธยา “หมอสงวน” ต้นแบบบัตรทอง (1989 – 1994)

ท่ามกลางวัฒนธรรมที่เข้าสู่ Y2K จากเพลงคุ้นหูอย่างคู่กัดของพี่เบิร์ธสู่บุษบาของโมเดิร์นด็อกเป็นช่วงเวลาที่เริ่มตั้งไข่ของระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า ที่สังคมยังนึกภาพไม่ออกว่า “การรักษาฟรีอย่างเท่าเทียมและทั่วถึง” จะเกิดขึ้นได้อย่างไร ท่ามกลางสังคมที่รับรู้กันว่า ความเจ็บป่วยมากับค่ารักษาที่แสนแพง และอาจทำให้ชีวิตพลิกผันได้

นพ.สงวน นิตยารัมภ์พงศ์ เริ่มทำโครงการที่ชื่อว่า “โครงการอยุธยา” เพื่อทดลองเป็นต้นแบบของระบบประกันสุขภาพถ้วนหน้าครั้งสำคัญในช่วงปี พ.ศ. 2532 – 2537 โดยได้รับเงินสนับสนุนจากประเทศเบลเยียม เกิดเป็นระบบ “เหมาจ่ายรายโรค” ในอัตรา 70 บาท จ่ายครั้งเดียวแล้วติดตามรักษาโรคนั้นจนหายขาด

 

  1. 30 บาทรักษาทุกโรค – บัตรทอง – หลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า (1997-2004)

ยุคสมัยมาถึงช่วง Y2K แฟชั่นหนุ่ยสาวหันมาใส่เสื้อสีสันรัดรูปกับกางเกงเอวต่ำ ในด้านสังคมก็เป็นช่วงที่เศรษฐกิจย่ำแย่ในช่วงวิกฤติต้มยำกุ้ง จนถึงความกังวลถึงวันสิ้นโลกและปัญหาระบบคอมพิวเตอร์ในช่วงก้าวข้ามผ่านปี ค.ศ. 2000 แต่ช่วงเวลานั้นกลับเป็นช่วงเริ่มต้นของระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ

“30 บาทรักษาทุกโรค” จากแนวคิดของหมอสงวนได้รับการนำมาใช้หาเสียงโดยพรรคไทยรักไทย และกลายเป็นนโยบายทั่วประเทศหลังจากพรรคชนะการเลือกตั้ง โดยในช่วงแรกยังคงให้ประชาชนพกบัตรสีทองที่แสดงถึงสิทธิการรักษานี้ จนถึงวันนี้ยังมีชื่อเรียกอันเป็นที่รู้กันว่า “สิทธิ์บัตรทอง” โดยเริ่มจากโครงการนำร่องในพื้นที่ 6 จังหวัดและกลายเป็นนโยบายทั่วประเทศผ่านการประกาศใช้กฎหมาย พรบ.หลักประกันสุขภาพแห่งชาติ พ.ศ. 2545 นั่นเอง

 

  1. HTA – HITAP – กระบวนการพัฒนาชุดสิทธิประโยชน์ (2007 – ปัจจุบัน)

การมีอยู่ของหลักประกันสุขภาพแห่งชาติถูกตั้งคำถามจากหลายฝ่าย เพราะจำเป็นจะต้องใช้งบประมาณอย่างมหาศาลในการช่วยชีวิตคนทั่วประเทศ ความยั่งยืนของระบบคือความท้าทายอันยิ่งใหญ่ ทำอย่างไรจึงจะใช้งบประมาณที่มีอยู่ได้อย่างคุ้มค่าที่สุด

สิ่งที่เกิดขึ้นคือ “กระบวนการพัฒนาชุดสิทธิประโยชน์” ซึ่งมีการนำเอาการประเมินเทคโนโลยีด้านสุขภาพ (Health technology assessment – HTA) โดยเริ่มต้นขึ้นในปี พ.ศ. 2552 หรือก็คือ ค.ศ. 2009 ปลายยุค Y2K นั่นเอง ซึ่งเป็นกระบวนการที่เป็นระบบ โปร่งใส ผ่านการมีส่วนร่วมของผู้มีส่วนได้ส่ววนเสีย และตั้งอยู่บนพื้นฐานของหลักฐานทางวิชาการ ช่วยให้เกิดการลำดับความสำคัญ การพิจารณาคัดเลือกหัวข้อการวิจัยและทำให้เกิดชุดสิทธิประโยชน์ที่ให้ผู้ป่วยเข้าถึงการรักษาที่จำเป็นได้อย่างทั่วถึงและเท่าเทียม มีความคุ้มค่าในการใช้จ่ายงบประมาณทั้งหมด

และHITAP ก็ก่อตั้งขึ้นเพื่อทำงานวิจัยทำงานในเชิงวิชาการของการประเมินความคุ้มค่าของเทคโนโลยีด้านสุขภาพนี้ในปี พ.ศ. 2550 นี้เอง

 

อ้างอิง

https://kb.hsri.or.th/dspace/bitstream/handle/11228/5034/hsri-journal-v13n1-p34-46.pdf?sequence=1&isAllowed=y

https://www.prachachat.net/d-life/news-641182

https://www.hitap.net/news/173374

https://www.hfocus.org/content/2015/07/10300

15 กุมภาพันธ์ 2566

Next post > โย่ว และนี่คือปัญหาที่อยู่ในวัด ทุกข์ “พระ” โภชนาการ ปัญหาเร่งด่วนของโรคเรื้อรังในพระสงฆ์ที่ถูกมองข้าม

< Previous post ทำ HTA ให้ “สมจริง” ด้วยข้อมูลจากสถานการณ์จริง ทำได้อย่างไร เหมาะสมไหม

Related Posts

แสดงความคิดเห็น

ยกเลิกการตอบ