logo
ต้องการข้อมูลเพิ่มเติม ติดต่อฝ่ายสื่อสารองค์กร HITAP
ปัญหาการจัดซื้อ “บอลลูนและขดลวด” สำหรับขยายหลอดเลือดหัวใจตีบในระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า

โรคหลอดเลือดหัวใจตีบหรือโรคหลอดเลือดแดงโคโรนารี (Coronary artery disease) เกิดจากผนังหลอดเลือดหัวใจที่หนาขึ้น โดยส่วนใหญ่เกิดจากการมีผลึกไขมันหรือมีพังผืดซึ่งเป็นผลมาจากความเสื่อมหรือมีปัจจัยอื่น ๆ ไปกระตุ้นให้เกิดภาวะหนาตัวขึ้น หลอดเลือดหัวใจตีบแคบลง ทำให้เลือดไปเลี้ยงกล้ามเนื้อหัวใจได้น้อยลง ส่งผลให้เกิดหัวใจขาดเลือด ถ้าหลอดเลือดอุดตันเลือดจะไหลไปเลี้ยงกล้ามเนื้อหัวใจไม่ได้ เกิดภาวะกล้ามเนื้อหัวใจตาย ผู้ป่วยโรคหลอดเลือดหัวใจตีบมักมีอาการแน่นหน้าอกระหว่างราวนม ลิ้นปี่ อาจร้าวไปที่คอ กราม แขนซ้ายด้านใน และอาจมีอาการอื่นร่วมด้วย เช่น เหงื่อออก ตัวเย็น เวียนศีรษะ หน้ามืด เหนื่อยหอบ ใจสั่น

การรักษาโรคหลอดเลือดหัวใจตีบมีการรักษาหลายรูปแบบ ได้แก่ การรักษาด้วยยา การผ่าตัดบายพาส การขยายหลอดเลือดหัวใจด้วยบอลลูนหรือขดลวดค้ำยัน (PTCA balloon & Coronary stent) เป็นต้น การขยายหลอดเลือดหัวใจฯ ดังกล่าวเป็นวิธีหนึ่งที่นิยมใช้ในปัจจุบัน เนื่องจากสามารถลดโอกาสในการเกิดภาวะแทรกซ้อนได้เมื่อเทียบกับการผ่าตัด ผู้ป่วยฟื้นตัวเร็ว อย่างไรก็ตามการขยายหลอดเลือดหัวใจด้วยบอลลูนอย่างเดียวอาจทำให้หลอดเลือดเกิดการตีบตันซ้ำได้อีก การใช้ขดลวดค้ำยันถึงแม้จะช่วยให้ผลการรักษาดีขึ้นแต่ช่วยลดปัญหาการตีบตันซ้ำได้ในระดับหนึ่งเท่านั้นเมื่อเทียบกับการใช้บอลลูนอย่างเดียว ปัจจุบันจึงมีการใช้ขดลวดเคลือบยา (Drug eluting stent) มากขึ้น ซึ่งมีประสิทธิภาพในการรักษาสามารถลดหรือยับยั้งกระบวนการสมานแผลของหลอดเลือดที่นำไปสู่การตีบตันซ้ำได้ แต่มีราคาค่อนข้างสูง อย่างไรก็ตามข้อเสียของการขยายหลอดเลือดหัวใจด้วยบอลลูนหรือขดลวดค้ำยันนี้ ยังไม่สามารถทำได้ในผู้ป่วยทุกๆ ราย หากแพทย์ไม่มีความชำนาญพอ

สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) ซึ่งเป็นผู้ดูแลระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า ประสบกับปัญหาค่าใช้จ่ายที่สูงขึ้นอย่างต่อเนื่องในเรื่องการเบิกจ่ายชดเชยอุปกรณ์และอวัยวะเทียม ซึ่งในปี 2556 มีจำนวน 235 รายการ มีมูลค่าประมาณ 4,500 ล้านบาท (อัตราการเติบโตของจำนวนชิ้นอุปกรณ์ที่จ่ายชดเชยเพิ่มขึ้น 11% เมื่อเทียบกับปี 2555) อุปกรณ์ในหมวดหัวใจและหลอดเลือดเป็นอุปกรณ์ที่มียอดจ่ายชดเชยสูงเป็นอันดับ 1 โดยมียอดจ่ายชดเชย 2,029 ล้านบาท เฉพาะบอลลูนและขดลวดเคลือบยา มียอดจ่ายมูลค่า 210 และ 369 ล้านบาท ตามลำดับ นอกจากนี้ ปัจจุบันปัญหาสำคัญสำหรับการจัดซื้อบอลลูนและขดลวดค้ำยัน คือ การขาดหลักฐานทางวิชาการที่บ่งบอกถึงประสิทธิผล (effectiveness) ของการใช้บอลลูนและขดลวดค้ำยัน ชนิดต่างๆ ในการรักษาผู้ป่วยแต่ละประเภทที่มีสภาวะของการเจ็บป่วยแตกต่างกันออกไป ตลอดจนความคุ้มทุน (cost-effectiveness) ของอุปกรณ์ดังกล่าวที่เหมาะสมกับบริบทของประเทศไทย รวมทั้งการขาดแนวทางในการกำหนดราคาและต่อรองราคา ส่งผลให้มักมีการจัดซื้อจากบริษัทเดิมในราคาเดิม และผู้ผลิตรายอื่นไม่สามารถเข้ามามีส่วนร่วมในการแข่งขันได้ รวมถึงอาจทำให้ได้ผลิตภัณฑ์ที่ใช้เทคโนโลยีที่ล้าสมัย ไม่มีประสิทธิภาพ หรือมีราคาสูงกว่าราคาที่ขายในตลาดโดยทั่วไป

HITAP ได้ทำการวิจัยเรื่อง “โครงการจัดทำคุณลักษณะที่เหมาะสมและมีประสิทธิภาพของสายสวนเพื่อขยายหลอดเลือดโคโรนารี่ด้วยบอลลูนและขดลวดค้ำยันฯ (PTCA Balloon & Coronary stent)” เพื่อพัฒนาข้อเสนอแนะเชิงนโยบายในการพัฒนากระบวนการจัดซื้อจัดหาบอลลูนและขดลวดค้ำยัน สำหรับผู้ป่วยในระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า รวมทั้งเสนอข้อกำหนดด้านคุณลักษณะและราคา ทั้งนี้ จากผลการศึกษาเบื้องต้นในส่วนของการสำรวจความคิดเห็นของแพทย์ต่อกระบวนการจัดซื้อจัดหาบอลลูนและขดลวดค้ำยัน พบว่าแพทย์ส่วนใหญ่ต้องการให้มีการจัดซื้อจัดหาอุปกรณ์ดังกล่าวภายใต้การดำเนินงานของโรงพยาบาลเอง เนื่องจากจะทำให้ได้อุปกรณ์ที่หลากหลายทั้งเรื่องขนาดและคุณสมบัติให้เลือกใช้เหมาะกับการรักษาผู้ป่วยแต่ละรายมากกว่าการจัดซื้อกลางโดยสปสช. นอกจากนี้ สปสช.ควรมีการกำหนดราคากลางที่เหมาะสมในการจัดซื้อและมีการปรับราคาทุกปีด้วย

ติดตามอ่านงานวิจัยเพิ่มเติมที่ https://www.hitap.net/research/163326

10 กันยายน 2558

Next post > การคุ้มครองผู้บริโภคด้านเครื่องสำอาง...มองมุมกว้างที่มากกว่าผิวขาวใส

< Previous post อย.ไทย อย.เทศ...เรียนรู้เพื่อก้าวต่อ

Related Posts

แสดงความคิดเห็น

ยกเลิกการตอบ

บทความที่เข้าชมมากที่สุด ในรอบ 3 เดือน