logo
ต้องการข้อมูลเพิ่มเติม ติดต่อฝ่ายสื่อสารองค์กร HITAP
สำรวจ “ร่ายกาย” อ้วนลงพุงหรือไม่? กระทบเศรษฐกิจแค่ไหน? พร้อมรับมือก่อนอันตรายถึงชีวิต!!

วันนี้ (5 พฤศจิกายน 2558) หนังสือพิมพ์มติชนได้นำเสนอข่าวเกี่ยวกับ โรคอ้วนและโรคอ้วนลงพุง (Metabolic Syndrome) เป็นปัญหาสุขภาพที่สำคัญ ซึ่งปัจจุบันในไทยและต่างประเทศพบโรคอ้วนเพิ่มมากขึ้น โดยดร.แมเรียน เฟล็คช์เนอร์-มอร์ส หัวหน้าคณะผู้วิจัยด้านโภชนาการและโรคอ้วน มหาวิทยาลัยอูล์ม ประเทศเยอรมนี เผยว่า อัตราความอ้วนลุกลามจากประเทศแถบตะวันตกมาสู่ตะวันออก หากไม่มีการป้องกันโรคอ้วนจะเป็นปัญหาในภูมิภาคนี้แน่นอน ทั้งนี้แนวโน้มคนน้ำหนักเกินยังเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ข้อมูลจากองค์การอนามัยโรคปี 2015 พบคนอายุ 18 ปีขึ้นไปจำนวนกว่า 2.3 พันล้านคนทั่วโลกมีน้ำหนักเกิน ในจำนวนดังกล่าวกว่า 700 ล้านคนเป็นโรคอ้วน ซึ่งมากกว่าปี 2014 ที่มีคนน้ำหนักเกิน 1.9 พันล้านคนทั่วโลก คนเป็นโรคอ้วนกว่า 600 ล้านคน

สาเหตุที่เป็นโรคอ้วนมากขึ้นนั้น เพราะกินมากเกินไป กินไม่คำนวณแคลอรี และไม่ออกกำลังกาย ยิ่งเมื่ออายุตั้งแต่ 40 ปีขึ้นไปที่มวลกล้ามเนื้อลดลงร่างกายต้องการพลังงานลดลง การกินอาหารเท่าเดิมจะทำให้น้ำหนักขึ้นได้ง่าย เช่นเดียวกับสัดส่วนผู้หญิงที่อ้วนมากกว่าผู้ชาย เนื่องจากผู้หญิงมีมวลไขมันมากกว่า มีมวลกล้ามเนื้อน้อยกว่า ทำให้น้ำหนักเพิ่มง่ายกว่า

ขณะที่ในประเทศไทย ข้อมูลจากกระทรวงสาธารณสุขชี้ว่า คนไทยประมาณ 17.4 ล้านคนมีน้ำหนักเกิน โดยพบสัดส่วนผู้หญิงอ้วนมากกว่าผู้ชายถึงสองเท่า โดยงานวิจัย HITAP “การศึกษาผลกระทบในเชิงเศรษฐศาสตร์และคุณภาพชีวิตจากโรคอ้วนในประเทศไทย” พบว่า ปัญหาโรคอ้วนในประเทศไทยส่งผลกระทบต่อภาวะเศรษฐกิจอย่างมาก คิดเป็นมูลค่าความสูญเสียทางเศรษฐกิจจากโรคอ้วนกว่า 12,000 ล้านบาทในแต่ละปี หรือเท่ากับ 2.2 % ของค่าใช้จ่ายด้านสุขภาพทั้งหมดของประเทศ หากเป็นโรคอ้วนจะทำให้เกิดโรคต่างๆ ได้ง่าย เช่น โรคเบาหวานชนิดที่ 2 หัวใจและหลอดเลือด มะเร็งบางชนิด ความดัน ไขมันในเลือด ไขมันพอกตับ กล้ามเนื้อและระบบร่างการเสื่อม และเสียชีวิตก่อนวัยอันควร นอกจากนั้นยังส่งผลกระทบต่อการทำงาน ทำให้ขาดงานบ่อย ทำงานได้ไม่เต็มที่ ตลอดจนระดับคุณภาพชีวิตลดลงด้วย

หากไม่อยากอ้วนและเป็นโรคข้างต้น ต้องปรับ 3 พฤติกรรม ได้แก่ 1.การนอนพักผ่อนให้เพียงพอ 2.การกิน ให้คำนวณแคลอรีอาหาร หรือลดปริมาณอาหารต่อมื้อลง กินอาหารที่ดีต่อสุขภาพ ลดหวานและเค็ม เพิ่มการกินผักและผลไม้ที่รสไม่หวานมาก 3.ออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ อย่างน้อยวันละ 15 นาที สามารถลดอัตราการเสียชีวิตได้ 14 % ยืดอายุให้ยาวขึ้น 3 ปี ซึ่งมีผลการวิจัยยืนยันว่า การลดน้ำหนักเพียง 5-10 % ช่วยลดปัจจัยเสี่ยงโรคเรื้อรัง ยืดอายุ เพิ่มคุณภาพชีวิต และป้องกันไม่ให้อ้วน จะทำให้มีพฤติกรรมสุขภาพที่เหมาะสมยิ่งขึ้น

5 พฤศจิกายน 2558

Next post > ผลวิจัย HITAP ชี้ให้วัคซีนป้องกันเอชไอวีกับกลุ่มเสี่ยงคุ้มสุด และพฤติกรรมหลังรับวัคซีนคือตัวแปรสำคัญ!

< Previous post “นักทัศนมาตร” สิ่งที่ขาดหายไปเมื่อต้องตัดแว่น! (ตอนที่ 2)

Related Posts

แสดงความคิดเห็น

ยกเลิกการตอบ

บทความที่เข้าชมมากที่สุด ในรอบ 3 เดือน