logo
ต้องการข้อมูลเพิ่มเติม ติดต่อฝ่ายสื่อสารองค์กร HITAP
ฝ่าโควิด-19 ผ่าน “พฤติกรรมเปลี่ยนสุขภาพ” รู้จักอนาคตของการดูแลสุขภาพผ่านงานวิจัย

ท่ามกลางโควิด-19 นี้ ปัญหาหนึ่งที่หลายคนพบเจอในฐานะมนุษย์ออฟฟิศตั้งแต่นั่งทำงานที่สำนักงานจนเวิร์กฟอร์มโฮม ทำงานจากที่บ้านก็คือ ออฟฟิศซินโดรมทั้งหลาย ตั้งแต่การนั่งนานเกินไป ปวดหลัง ปวดคอ เหล่านี้เป็นเพียงจุดเริ่มของปัญหาสุขภาพระยะยาว และปัญหานี้ไม่ได้เกิดกับมนุษย์ออฟฟิศอย่างคุณเพียงคนเดียว แต่เป็นปัญหาที่เกิดขึ้นทั่วโลก งานวิจัยเพื่อปรับเปลี่ยนพฤติกรรมด้านสุขภาพจึงเกิดขึ้น วันนี้เราจะพาคุณมารู้จักกับงานวิจัยที่เป็นเหมือนอนาคตของการดูแลสุขภาพ รู้ตัวอีกทีพฤติกรรมของคุณอาจเปลี่ยนไปแล้วก็เป็นได้

 

เนือยนิ่งยิ่งเสี่ยงโรค

หากคุณเป็นคนหนึ่งที่พบเจอกับอาการปวดหลังจากการทำงานออฟฟิศ นั่นอาจเป็นเพียงจุดเริ่มต้นของปัญหาสุขภาพระยะยาว นั่นก็คือสิ่งที่เรียกกันโรค NCDs หรือก็คือกลุ่มโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง ซึ่งไม่ได้เกิดจากเชื้อโรค และไม่สามารถแพร่กระจายจากคนสู่คน แต่เป็นโรคที่เกิดจากพฤติกรรม ในช่วงหลายปีที่ผ่านมา กลุ่มโรคนี้ถือที่เป็นปัญหาใหญ่ของโลก (ก่อนโควิด-19)

กลุ่มโรคนี้ได้แก่ โรคทางระบบหัวใจ โรคหลอดเลือดสมอง โรคเบาหวาน โรคมะเร็งต่าง ๆ จะเห็นได้ว่า ถือเป็นโรคที่ก่อให้เกิดความสูญเสียเป็นอันดับต้น ๆ ให้กับคนไทยทั้งสิ้น

พฤติกรรมที่ก่อให้เกิดความเสี่ยงด้านสุขภาพมีหลายอย่างด้วยกัน อาทิ การสูบบุหรี่ ดื่มแอลกอฮอร์ รวมถึงการทำงาน ซึ่งหนึ่งในพฤติกรรมที่ก่อให้เกิดความเสี่ยงและอยู่ใกล้ตัวทุกคนก็คือ พฤติกรรมเนือยนิ่ง (sedentary behavior) คือการนั่งหรือนอนขณะทำกิจกรรมต่าง ๆ (ไม่รวมการนอนหลับ) โดยใช้พลังงานไม่เกิน 1.5 MET (Metabolic Equivalent of task – หน่วยที่ใช้ในการประมาณค่าของจำนวนออกซิเจนที่ร่างกายนำไปใช้) อธิบายให้เห็นภาพ 1 MET คือการอยู่เฉย ๆ นั่งหรือนอน มากกว่า 1.5 MET ก็คือขยับมากกว่าอยู่เฉย ๆ เช่น การเดิน การยกของเบา ๆ ก็ถือว่าลดพฤติกรรมเนือยนิ่งแล้ว

ทว่าในทางปฏิบัติ วิถีชีวิตการทำงานนั่งโต๊ะตามสำนักงานนั้นทำให้ผู้คนมีพฤติกรรมเนือยนิ่งกันมากขึ้น และยิ่งเนือยนิ่งก็ยิ่งมีความเสี่ยงต่อการเกิดโรคนั่นเอง มาตรการต่าง ๆ ด้านสุขภาพเพื่อลดพฤติกรรมเนือยนิ่งจึงเกิดขึ้น เพื่อป้องกันโรคที่จะเกิดขึ้นทางอ้อม

 

เปลี่ยนพฤติกรรมเปลี่ยนสุขภาพ

เมื่อรู้แล้วว่าพฤติกรรมเนือยนิ่งเป็นปัจจัยเสี่ยงให้เกิดโรค สิ่งที่เกิดขึ้นตามมาก็คือการวิจัยเพื่อค้นหาให้ได้ว่ามาตรการด้านสุขภาพอะไรที่จะลดพฤติกรรมเนือยนิ่งได้ และทำแล้วมีได้ผลมากน้อยหรือคุ้มค่าอย่างไร ?

งานวิจัยที่กำลังค้นหาคำตอบเหล่านี้ก็คือ The Physical Activity at Work (PAW): a cluster randomised trial of a multicomponent short-break intervention to reduce sitting time and increase physical activity among office workers in Thailand หรือก็คือ ประสิทธิผลของการเพิ่มกิจกรรมทางกายในที่ทำงานต่อการลดระยะเวลาของพฤติกรรมเนือยนิ่งในประชากรวัยทำงาน: การวิจัยเชิงทดลองแบบสุ่มชนิดมีกลุ่ม โดยโครงการนี้มีทีมวิจัยจาก HITAP ร่วมกับมหาวิทยาลัยแห่งชาติสิงคโปร์ (NUS) และ HITOTSUBASHI University

นักวิจัยได้มีการทบทวนวรรณกรรมเพื่อศึกษามาตรการทางด้านสุขภาพที่ซับซ้อน (complex intervention) ซึ่งช่วยลดพฤติกรรมเนือยนิ่งได้ จากนั้นจึงนำมาสร้างแบบจำลองเพื่อคาดการณ์ผลลัพธ์ก่อนจะนำมาทดลองโดยนำมาตรการทั้งหมดทดลองในกลุ่มตัวอย่างเบื้องต้นขนาดเล็ก (pilot study) แล้วจึงนำมาตรการด้านสุขภาพที่พัฒนาสมบูรณ์แล้วมาใช้กับกลุ่มตัวอย่างจริง (main trial)

มาตรการด้านสุขภาพจะแบ่งได้ 4 ระดับคือ ระดับสิ่งแวดล้อม ได้แก่ การติดโปสเตอร์ข้อมูลด้านสุขภาพ ระดับองค์กร ได้แก่ การส่งข้อความจากระดับผู้บริหารเพื่อส่งเสริมการขยับร่างกายถึงผู้ร่วมโครงการ ระดับสังคมซึ่งเป็นมาตรการสำคัญ ได้แก่ การตั้งทีมร่วมกิจกรรมให้ร่วมขยับร่างกาย และระดับบุคคล ได้แก่ การแจกเครื่องวัดก้าว และการแจกรางวัลให้แก่ผู้ร่วมกิจกรรม

ในการทดลองเพื่อเก็บข้อมูลนั้นจะมีการแบ่งกลุ่มตัวอย่างออกเป็นกลุ่มควบคุมที่ไม่ได้รับมาตรการต่าง ๆ และกลุ่มทดลองที่ได้รับมาตรการต่าง ๆ เพื่อดูผลลัพธ์ผ่านการเก็บข้อมูล 2 แบบได้แก่ 1 แบบภววิสัยจากเครื่องวัดการเคลื่อนไหว และการตรวจเลือด 2 แบบอัตวิสัยผ่านการสัมภาษณ์เก็บข้อมูล

เมื่อได้ข้อมูลแล้วจึงนำมาวิเคราะห์ผลซึ่งงานวิจัยก็กำลังอยู่ในขั้นตอนนี้ ทุกท่านสามารถติดตามความคืบหน้าผลการวิจัยได้เร็ว ๆ นี้ได้ที่นี่ https://www.hitap.net/research/180788 และรับชมการนำเสนองานวิจัยได้ที่นี่ https://www.hitap.net/documents/181515

 

ความท้าทายของอนาคต

การเปลี่ยนพฤติกรรมทางด้านสุขภาพยังคงเป็นเรื่องท้าทาย เทียบกับการรักษาอื่น ๆ เช่น การใช้ยา ผลที่เกิดสามารถวัดได้ แต่การปรับเปลี่ยนพฤติกรรมนั้นต่างออกไป ลองจินตนาการถึงการที่คนคนหนึ่งจะปรับเปลี่ยนพฤติกรรมมาวิ่งมากขึ้นสามารถเกิดจากอะไรได้บ้าง คำตอบย่อมมีได้หลากหลาย ความหลากหลายนี้เองจึงเป็นที่มาของมาตรการด้านสุขภาพที่ซับซ้อน คือต้องใช้หลายมาตรการควบคู่กันในการทำให้คนเกิดการปรับเปลี่ยนพฤติกรรม

นอกจากนี้ ความท้าทายในด้านของการวิจัยคือต้องนำมาตการเหล่านั้นมาทดสอบแบบแบ่งกลุ่มซึ่งก็มักจะมีปัจจัยแวดล้อมซึ่งมีความไม่ตรงไปตรงมาอยู่ เหล่านี้จึงเป็นความท้าทายสำหรับงานวิจัยที่จะทำให้เกิดมาตรการที่ปรับเปลี่ยนพฤติกรรมอย่างได้ผล

อีกความท้าทายเพื่ออนาคตทางด้านสุขภาพคือการใช้เครื่องมือวัดผลที่แม่นยำจากเทคโนโลยีที่พัฒนาขึ้น โดยงานวิจัยนี้มีการใช้เครื่องวัดก้าวที่เราคุ้นเคยกันในปัจจุบัน ควบคู่ไปกับเครื่องวัดการเคลื่อนไหวซึ่งมีความแม่นยำสูงเพื่อเทียบผลให้เห็นชัดเจนขึ้น อีกไม่นานคงมีอีกหลายงานวิจัยที่ใช้การเก็บข้อมูลลักษณะนี้เพื่อช่วยในการศึกษามากยิ่งขึ้น

อนาคตของการวิจัยและสุขภาพมีความท้าทายใหม่รอคอยอยู่ การปรับเปลี่ยนพฤติกรรมผ่านมาตการหลากหลายรูปแบบกำลังถูกหล่อหลอมเข้ากับการนำเทคโนโลยีล้ำยุคที่พัฒนาจนสามารถนำมาใช้ในการศึกษาวิจัยได้อย่างแม่นยำเป็นที่ยอมรับ ทำให้เกิดความรู้ใหม่ ๆ ที่รู้ตัวอีกที คุณอาจมีพฤติกรรมด้านสุขภาพที่เปลี่ยนไปแล้วก็เป็นได้

5 สิงหาคม 2564

Next post > เปิดงานวิจัยประเมินวัคซีนโควิด-19 “วัคซีนดีที่สุดเป็นอย่างไร ใครได้ก่อนช่วยควบคุมโรคได้”

< Previous post “ชุดสิทธิประโยชน์ใหม่ 2564” จากงานวิจัยสู่นโยบายสุขภาพ

Related Posts

แสดงความคิดเห็น

ยกเลิกการตอบ

บทความที่เข้าชมมากที่สุด ในรอบ 3 เดือน