logo

สปสช. และ HITAP ขอเชิญท่านมาร่วมเป็นส่วนสำคัญในการยกระดับบริการสุขภาพของประเทศไทย ด้วยการตอบแบบสอบถามในหัวข้อ “การปฏิบัติงานตามนโยบาย 30 บาทรักษาทุกที่ ด้วยบัตรประชาชนใบเดียว”

ต้องการข้อมูลเพิ่มเติม ติดต่อฝ่ายสื่อสารองค์กร HITAP
เลี่ยง “เชื้อดื้อยา” ด้วยการใช้ยาปฏิชีวนะอย่างเหมาะสม

ร่างกายของคนเราสามารถเกิดโรคขึ้นได้จากหลายสาเหตุ หนึ่งในนั้นก็คือการติดเชื้อจากแบคทีเรียที่ให้โทษต่อร่างกาย การที่จะรักษาการติดเชื้อจากแบคทีเรียได้ หลายคนอาจจะทราบว่าต้องใช้ “ยาฆ่าเชื้อ” หรือ “ยาปฏิชีวนะ” ทว่า การใช้ยาเหล่านี้เป็นเวลานานอาจทำให้ ”เชื้อดื้อยา” ได้ นั่นหมายความว่าแบคทีเรียเหล่านั้นแข็งแกร่งมากกว่าที่ยาตัวเดิม ปริมาณเท่าเดิมจะฆ่ามันได้นั่นเอง จึงทำให้ต้องเพิ่มขนานยาหรือเปลี่ยนไปใช้ยาที่ออกฤทธิ์รุนแรงกว่าในการกำจัดเชื้อ แต่ถ้าผู้ป่วยใช้ยาดังกล่าวเป็นเวลานานอีก แบคทีเรียก็มีโอกาสที่จะดื้อยาได้อีกเช่นกัน จนอาจทำให้ไม่มียาใดสามารถฆ่ามันได้ในที่สุด

 

ล่าสุด American College of Physicians ซึ่งเป็นหน่วยงานผู้เชี่ยวชาญด้านการแพทย์ในสหรัฐอเมริกา ได้ออกแนวทางปฏิบัติสำหรับระยะเวลาในการใช้ยาปฏิชีวนะรักษา 4 โรคในผู้ใหญ่ ที่พบได้บ่อยจากแบคทีเรีย ได้แก่ โรคหลอดลมอักเสบเฉียบพลันในผู้ที่มีการกำเริบของโรคปอดอุดกั้นเรื้อรัง โรคปอดอักเสบชุมชน โรคติดเชื้อในระบบทางเดินปัสสาวะ และโรคเซลล์เนื้อเยื่ออักเสบชนิดไม่มีหนอง เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดเชื้อดื้อยา ดังต่อไปนี้

 

1. แพทย์ไม่ควรใช้ยาปฏิชีวนะต่อเนื่องเกิน 5 วัน ในผู้ป่วยที่มีการกำเริบของโรคปอดอุดกั้นเรื้อรัง (chronic obstructive pulmonary disease (COPD) exacerbation) และผู้ป่วยโรคหลอดลมอักเสบเฉียบพลัน (acute bronchitis) ที่มีอาการที่ชี้ว่าอาจมีการติดเชื้อแบคทีเรีย ได้แก่ พบเสมหะสีเขียวเหลืองเพิ่มขึ้นร่วมกับอาการหายใจลำบากเพิ่มขึ้น และ/หรือมีปริมาณเสมหะมากขึ้น

 

2. ในโรคปอดอักเสบชุมชน (community-acquired pneumonia) ในผู้ใหญ่ที่ภาวะภูมิคุ้มกันเป็นปกติ ควรใช้ยาปฏิชีวนะอย่างน้อย 5 วัน หากต้องใช้ยาปฏิชีวนะมากกว่า 5 วัน แพทย์ควรประเมินว่าอาการทางคลินิกทรงตัวหรือไม่ โดยประเมินการกลับมาเป็นปกติของสัญญาณชีพที่เคยผิดปกติ ความสามารถในการรับประทานอาหาร และการรู้สึกตัวเป็นปกติ

 

3. โรคกระเพาะปัสสาวะอักเสบชนิดไม่ซับซ้อนจากแบคทีเรีย (uncomplicated bacterial cystitis) ในผู้หญิงควรได้รับ

  • ยา nitrofurantoin เป็นเวลา 5 วัน หรือ
  • ยา trimethoprim–sulfamethoxazole (TMP–SMZ) เป็นเวลา 3 วัน
  • ยา fosfomycin ครั้งเดียว

อันที่จริง ยา fluoroquinolones ก็มีประสิทธิผลที่ดีแต่มีแนวโน้มทำให้เกิดผลข้างเคียงสูง จึงแนะนำว่าไม่ควรนำไปใช้นอกจากผู้ป่วยเคยมีประวัติเชื้อดื้อยามาก่อน

 

4. โรคกรวยไตอักเสบชนิดไม่ซับซ้อน (uncomplicated pyelonephritis) แนวทางปฏิบัติแนะนำว่าผู้ป่วยควรได้รับ

  • ยา fluoroquinolones เป็นเวลา 5-7 วัน หรือ
  • ยา TMP–SMZ เป็นเวลา 14 วัน

ทั้งนี้ ขึ้นอยู่กับความไวต่อยาปฏิชีวนะของผู้ป่วย ทั้งนี้ การรักษาโรคนี้ด้วยยาปฏิชีวนะไม่จำเป็นต้องให้ผู้ป่วยรักษาตัวอยู่ที่โรงพยาบาล

 

5. โรคเซลล์เนื้อเยื่ออักเสบชนิดไม่มีหนอง (non-purulent cellulitis) ควรได้รับยาปฏิชีวนะที่ใช้ได้ผลกับเชื้อ streptococci เช่น ยาที่มีส่วนผสมของ Oxazolidinone เป็นต้น โดยใช้ยาติดต่อกัน 5-6 วัน โดยเฉพาะในผู้ป่วยสามารถสำรวจอาการตัวเองได้ และมีการตรวจติดตามใกล้ชิดในสถานพยาบาลระดับปฐมภูมิ

 

ทั้งนี้ ข้อมูลที่ American College of Physicians ได้ออกเป็นแนวทางปฏิบัติมาไม่สามารถนำไปใช้กับผู้ป่วยที่มีอาการแทรกซ้อนอื่น ๆ หรือผู้ที่อยู่นอกเหนือจากกลุ่มคนที่ได้ระบุไว้ในแต่ละข้อ ดังนั้น สำหรับผู้ป่วยที่กำลังหาข้อมูลเพื่อนำไปใช้ในการรักษา ไม่ควรหาซื้อยาดังกล่าวมารับประทานเองโดยไม่มีคำแนะนำจากแพทย์ ส่วนแพทย์ผู้ให้การรักษา ควรตรวจหาสาเหตุของโรคดังกล่าวให้แน่ชัดว่าเกิดจากแบคทีเรียหรือสาเหตุอื่น ๆ เพื่อนำไปสู่การรักษาที่ถูกวิธี รวมถึงตรวจสอบโรคร่วมที่ผู้ป่วยกำลังเผชิญอยู่สำหรับการตัดสินใจเลือกใช้ยาที่เหมาะสม

 

แหล่งที่มา https://www.acpjournals.org/doi/10.7326/M20-7355

16 มิถุนายน 2564

Next post > เราควรจัดสรรวัคซีนแอสตร้าเซนเนก้าในประเทศไทยอย่างไร

< Previous post คุณคิดอย่างไรกับการใช้ใบรับรองการฉีดวัคซีนโควิด-19 ในประเทศของเรา?

Related Posts

แสดงความคิดเห็น

ยกเลิกการตอบ