logo

สปสช. และ HITAP ขอเชิญท่านมาร่วมเป็นส่วนสำคัญในการยกระดับบริการสุขภาพของประเทศไทย ด้วยการตอบแบบสอบถามในหัวข้อ “การปฏิบัติงานตามนโยบาย 30 บาทรักษาทุกที่ ด้วยบัตรประชาชนใบเดียว”

ต้องการข้อมูลเพิ่มเติม ติดต่อฝ่ายสื่อสารองค์กร HITAP
ย้อนรอยวิจัย HITAP ชี้ “กม.ช่วยวัยรุ่นตั้งครรภ์เรียนจบ” ทำไมต้องช่วย?

รัฐบาลเตรียมออกกฎหมายให้สถาบันการศึกษาอนุญาตให้นักเรียน นักศึกษาตั้งครรภ์ได้เรียนต่อจนจบ ห้ามลงโทษและตำหนิ สอดคล้องกับ งานวิจัยโดย HITAP  ปี 2556 ชี้สังคมและสถานศึกษาช่วยวัยรุ่นท้องเรียนจบ เพิ่มโอกาสทำงาน ลดปัญหาเศรษฐกิจและสังคมได้

เมื่อวันที่ 3 ตุลาคมที่ผ่านมา คณะรัฐมนตรีอนุมัติหลักการร่างกฎกระทรวงศึกษาธิการโดยมีสาระสำคัญเพื่อให้สถานศึกษาต้องจัดให้มีการดูแล ช่วยเหลือ ให้คำปรึกษา คุ้มครองนักเรียน นักศึกษาที่ตั้งครรภ์โดยคำนึงถึงสิทธิรวมถึงความลับและความเป็นส่วนตัวของผู้เรียน โดยมีการกำหนดให้สถานศึกษาต้องจัดการศึกษาให้แก่นักเรียนหรือนักศึกษาที่ตั้งครรภ์จนจบหลักสูตรการศึกษาภาคบังคับหรือการศึกษาขั้นพื้นฐาน ยืดหยุ่นวิธีการจัดการเรียนรู้ หลีกเลี่ยงการลงโทษและไม่ตำหนิกรณีนักเรียนหรือนักศึกษาประสงค์จะหยุดพักการเรียนในระหว่างตั้งครรภ์และหลังคลอดเพื่อดูแลบุตร มาตราการเหล่านี้ก็เพื่อแก้ปัญหาสืบเนื่องที่มาจากการท้องในวัยรุ่น

สาระสำคัญดังกล่าวสอดคล้องกับข้อเสนอแนะเชิงนโยบายของโครงการวิจัย “การทบทวนสถานการณ์การตั้งครรภ์ในวัยรุ่นไทย 2556” ของ HITAP นั่นคือการเสนอให้กระทรวงศึกษาธิการมีมาตรการในการสนับสนุนการศึกษาอย่างต่อเนื่องสำหรับวัยรุ่นที่ตั้งครรภ์เพื่อช่วยเพิ่มศักยภาพให้แก่แม่วัยรุ่นสามารถเลี้ยงดูลูกและครอบครัว รวมถึงเพิ่มโอกาสในประกอบอาชีพที่มั่นคง มีรายได้เพียงพอในอนาคต

การศึกษานี้พบว่า การท้องในวัยรุ่นส่งผลกระทบ ด้านสุขภาพทั้งกับตัววัยรุ่นที่อายุน้อยซึ่งร่างกายยังไม่พร้อมสำหรับการตั้งครรภ์และสุขภาพของเด็กที่เกิดมาก็มีความเสี่ยงในหลาย ๆ ด้านจากการคลอดก่อนกำหนดที่ส่งผลต่อสุขภาพ และลักษณะการเลี้ยงดูที่ยังไม่พร้อมของตัววัยรุ่น  นอกจากนี้ยังพบผลกระทบด้านสังคม ตัววัยรุ่นต้องหยุดเรียนกลางคันจากหลายสาเหตุ อาทิ การถูกกดดันจากสังคม คนในชุมชนและสถานศึกษา ซึ่งเหตุดังกล่าวส่งผลต่ออนาคตของแม่วัยรุ่นในการหางาน พบเหตุลักษณะเดียวกันในวัยรุ่ยชายด้วย นำมาซึ่งปัญหารายจ่ายไม่พอกับรายรับกลายเป็นความเครียดในครอบครัวที่นำไปสู่ความรุนแรง ส่งปัญหาต่อเนื่องไปยังตัวเด็กและสังคมด้านอื่น ปัญหาสำคัญที่ตามมาคือ การทอดทิ้งเด็กทารกไว้ในที่สาธารณะ ยังรวมถึงการทอดทิ้งเด็กไว้กับโรงพยาบาล สถานสงเคราะห์ และทิ้งเด็กไว้ให้กับปู่ ย่า ตา ยายหรือญาติซึ่งอาจจะไม่ได้รับการดูแลเอาใจใส่เท่าที่ควร

แม้ไม่มีสถิติที่ชัดเจนว่าเป็นการทอดทิ้งเด็กโดยแม่วัยรุ่นมากน้อยเพียงใด และแนวโน้มเป็นอย่างไร แต่ก็มีข้อมูลในภาพรวมโดยหน่วยงานต่างๆ เช่น เว็บไซต์สำนักงานส่งเสริมสังคมแห่งการเรียนรู้และคุณภาพเยาวชน (สสค.)[1] ที่ชี้ว่า มีเด็กกำพร้า 88,730 คน ถูกทอดทิ้งตามโรงพยาบาล สถานรับเลี้ยงเด็ก และที่สาธารณะ โดยมีสาเหตุจากแม่ที่อยู่ในวัยเรียน และแม่ที่ไม่สามารถเลี้ยงลูกได้ นอกจากนี้มีการศึกษาจำนวนมากที่ชี้ว่า เด็กที่ถูกทอดทิ้งส่วนใหญ่จะมีปัญหาเรื่องพัฒนาการทั้งทางร่างกาย จิตใจ และสติปัญญาที่ล่าช้ากว่าเด็กทั่วไป

การแก้ปัญหาการท้องในวัยรุ่นยังมีข้อเสนอแนะอีกมากมายเพื่อแก้ไขรากของปัญหาทั้งหมด กฎหมายฉบับนี้เป็นเพียงแนวป้องกันสุดท้าย เพื่อไม่ให้เกิดผลกระทบต่อสังคมในระยะเท่านั้น

[1] http://www.qlf.or.th/Home/Contents/147

อ่านรายละเอียดข้อเสนอแนะเชิงนโยบาย ผลกระทบจากการตั้งครรภ์ในวัยรุ่นไทย เพิ่มเติมได้ที่ https://www.hitap.net/documents/22619

อ่านรายงานสถานการณ์การตั้งครรภ์ในวัยรุ่นไทย 2556 เพิ่มเติมได้ที่นี่ https://www.hitap.net/documents/21405

5 ตุลาคม 2560

Next post > เปิดงานวิจัย ทำไมต้องเพิ่มสิทธิ์บัตรทอง “คัดกรองมะเร็งลำไส้ใหญ่”?

< Previous post ป้องกันไข้หวัดใหญ่ระบาด เด็กคือตัวแปรสำคัญของแนวทางป้องกันในอนาคต

Related Posts

แสดงความคิดเห็น

ยกเลิกการตอบ