logo

HITAP ร่วมมือกับกรมการแพทย์ จัดการประชุมผู้เชี่ยวชาญและผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย ในโครงการ “การพัฒนาแนวทางการประเมินความคุ้มค่าฯ ปัญญาประดิษฐ์ทางการแพทย์ เพื่อบรรจุในชุดสิทธิประโยชน์ ในระบบประกันสุขภาพของประเทศไทย”

สปสช. และ HITAP ขอเชิญท่านมาร่วมเป็นส่วนสำคัญในการยกระดับบริการสุขภาพของประเทศไทย ด้วยการตอบแบบสอบถามในหัวข้อ “การปฏิบัติงานตามนโยบาย 30 บาทรักษาทุกที่ ด้วยบัตรประชาชนใบเดียว”

ต้องการข้อมูลเพิ่มเติม ติดต่อฝ่ายสื่อสารองค์กร HITAP

นักวิจัย HITAP นำเสนอผลงานวิจัยต่อคณะกรรมาธิการการสาธารณสุข



      เมื่อวันที่ 7 เมษายน 2552 ณ อาคารรัฐสภา 2 ภก.อดุลย์ โมฮารา นักวิจัยโครงการประเมินเทคโนโลยีและนโยบายด้านสุขภาพ (HITAP) นำเสนอผลการวิจัยเรื่อง “การประเมินผลกระทบจากมาตรการใช้สิทธิตามสิทธิบัตรยาในประเทศไทย ระหว่างปี 2549-2551” ต่อคณะอนุกรรมาธิการศึกษาวิเคราะห์ปัญหาการดำเนินการบังคับใช้สิทธิเหนือสิทธิบัตรยา ในคณะกรรมาธิการการสาธารณสุข วุฒิสภา
 ทั้งนี้ ข้อมูลการวิจัยเป็นที่สนใจของหน่วยงานต่าง ๆ เนื่องจากผลการศึกษาดังกล่าวสามารถวิเคราะห์และนำเสนอข้อมูลผลกระทบเป็นหลักฐานเชิงประจักษ์ โดยครอบคลุมผลกระทบทั้งด้านสุขภาพ ด้านเศรษฐกิจ และด้านสังคมจิตวิทยา ซึ่งการนำเสนอในครั้งนี้ ที่ประชุมได้มีประเด็นต่าง ๆ เพื่อแลกเปลี่ยนความคิดเห็น 2 เรื่อง ได้แก่

            1. เรื่องสภาพปัญหาการดำเนินการใช้สิทธิบัตร ซึ่งนักวิจัยให้ความเห็นว่า มาตรการนี้ สามารถเพิ่มการเข้าถึงยาให้แก่ผู้ป่วยได้จริง อย่างไรก็ตาม ในปัจจุบันพบว่า ยาที่ใช้ในการรักษาโรคมะเร็งอีก 3 รายการ ซึ่งแม้มีการประกาศใช้สิทธิไปแล้วกว่า 1 ปี แต่ปัจจุบันผู้ป่วยก็ยังไม่สามารถเข้าถึงยาได้ ดังนั้น จึงเสนอให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องเร่งรัดกระบวนการนำเข้ายาสามัญภายใต้มาตรการบังคับใช้สิทธิฯ ซึ่งที่ประชุมได้มอบหมายให้ผู้แทนจากสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยาวิเคราะห์ปัญหาและอุปสรรค เพื่อหาแนวทางแก้ไขต่อไป

             2. เรื่องมาตรการทางเลือกอื่น ๆ เพื่อเพิ่มการเข้าถึงยา ซึ่งนักวิจัยให้ความเห็นว่า มาตรการเพิ่มการเข้าถึงยามีหลากหลายวิธี ได้แก่ ระบบการคัดเลือกยาที่เหมาะสม ระบบการกระจายยาที่มีประสิทธิภาพ ซึ่งปัจจุบัน ประเทศไทยมีระบบเหล่านี้อยู่แล้ว อย่างไรก็ตาม ประเด็นที่ควรให้ความสำคัญคือ การพัฒนาระบบควบคุมราคายาของประเทศให้อยู่ในระดับเหมาะสมและสามารถเข้าถึงได้ ซึ่งในขณะนี้ โครงการประเมินเทคโนโลยีและนโยบายด้านสุขภาพ ร่วมกับสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา ได้ร่วมกันดำเนินโครงการวิจัยเพื่อศึกษามาตรการควบคุมราคายาในประเทศ โดยงานวิจัยชิ้นนี้คาดว่าจะแล้วเสร็จในปลายปีนี้
 อย่างไรก็ตาม การนำเสนองานวิจัยในครั้งนี้ จะนำผลการศึกษาไปใช้ประโยชน์เพื่อจัดทำข้อเสนอแนวทางแก้ไขปัญหาการดำเนินการบังคับใช้สิทธิฯ ของประเทศต่อไป

9 เมษายน 2552

Next post > นักวิจัยโครงการนำร่องการคัดกรองมะเร็งปากมดลูกแบบบูรณาการลงพื้นที่

< Previous post นักวิจัยในโครงการป้องกันการถ่ายทอดเชื้อ HIV จากแม่สู่ลูก ลงพื้นที่

Related Posts

ข่าวสาร HITAP ล่าสุด