logo
ต้องการข้อมูลเพิ่มเติม ติดต่อฝ่ายสื่อสารองค์กร HITAP
นักวิจัยโครงการนำร่องการคัดกรองมะเร็งปากมดลูกแบบบูรณาการลงพื้นที่

นักวิจัยโครงการนำร่องการคัดกรองมะเร็งปากมดลูกแบบบูรณาการลงพื้นที่

      เมื่อวันที่ 2 เมษายน 2552 ที่ผ่านมา นักวิจัยในโครงการ “การประเมินผลสัมฤทธิ์และปัจจัยที่มีผลต่อโครงการนำร่องการคัดกรองมะเร็งปากมดลูกด้วยวิธีวีไอเอควบคู่กับวิธีแปปสเมียร์ ในจังหวัดเชียงใหม่ และจังหวัดนครศรีธรรมราช”  นำโดย  รศ.ดร.ภก. เนติ สุขสมบูรณ์ ที่ปรึกษานักวิจัย HITAP พร้อมด้วย  พญ.นันทา อ่วมกุล ผู้อำนวยการสำนักที่ปรึกษา กรมอนามัย ในฐานะที่ปรึกษาโครงการวิจัย และ นพ.กิตติพงศ์ แซ่เจ็ง ผู้อำนวยการกองอนามัยเจริญพันธุ์ ได้ลงพื้นที่จังหวัดเชียงใหม่ เพื่อทำความเข้าใจและชี้แจงกระบวนการทำงานวิจัยกับแพทย์ พยาบาล เจ้าหน้าที่อนามัย และเจ้าหน้าที่สาธารณสุขจังหวัด ตลอดจนอาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน(อสม.) ในพื้นที่ให้บริการ

ส่วนอีกพื้นที่หนึ่งคือ จังหวัดนครศรีธรรมราช ทีมวิจัยจะลงพื้นที่เพื่อทำความเข้าใจและชี้แจงกระบวนการทำงาน ในวันที่ 17 เมษายน 2552 ก่อนที่จะเริ่มดำเนินการเก็บข้อมูลจริงในพื้นที่ในเดือนมิถุนายน 2552 เป็นต้นไป

สำหรับโครงการนี้ HITAP ได้ดำเนินการวิจัยร่วมกับหน่วยระบาดวิทยา คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ โดยได้รับการสนับสนุนจากกองอนามัยเจริญพันธุ์ กรมอนามัย

ในปัจจุบัน ประเทศไทยมีรูปแบบการป้องกันและควบคุมมะเร็งปากมดลูกที่แตกต่างกันตามสภาพพื้นที่  โดยกรมอนามัย ต้องการริเริ่มจัดระบบคัดกรองแบบบูรณาการด้วยวิธีวีไอเอควบคู่กับแปปเสมียร์ให้เป็นมาตรฐานเดียวกันและมีประสิทธิภาพสูงสุด โดยให้เจ้าหน้าที่ในพื้นที่ที่ดูแลและให้บริการ เข้ามามีส่วนร่วมในการคิดและวางระบบตั้งแต่การรณรงค์และค้นหาผู้มารับการตรวจคัดกรอง ให้บริการ ส่งต่อ และติดตามผล  สำหรับนักวิจัย HITAP จะมีส่วนช่วยในการรวบรวมสถิติต่างๆ รวมถึงปัจจัยรอบด้านที่ช่วยให้การดำเนินงานสำเร็จ ตลอดจนสิ่งที่เป็นปัญหาหรืออุปสรรคในการดำเนินงาน  โดยศึกษาในจังหวัดนำร่อง 2 แห่ง คือ เชียงใหม่ และนครศรีธรรมราช

แนวคิดดังกล่าวเกิดขึ้นจากงานวิจัยของ HITAP ที่พบว่า วิธีการตรวจคัดกรองแบบผสมผสาน หรืออาจเรียกว่า การบูรณาการ คือ การตรวจด้วยวิธีวีไอเอ (VIA) หรือการใช้กรดน้ำส้มสายชูเจือจางป้ายที่ปากมดลูก ทุก 5 ปี สำหรับสตรีที่มีอายุตั้งแต่ 30 ถึง 45 ปี ร่วมกับการตรวจคัดกรองด้วยวิธีแปปสเมียร์ (Pap smear) ทุก 5 ปี สำหรับสตรีที่มีอายุมากกว่า 45 จนถึง 60 ปี จะช่วยให้ตรวจพบผู้ที่มีความผิดปกติของเยื่อบุปากมดลูกได้มากกว่าการตรวจด้วยวิธีใดวิธีหนึ่ง เพราะถึงแม้วิธี VIA จะสามารถตรวจและรักษาได้เสร็จสิ้นภายในครั้งเดียว ซึ่งสะดวกกว่าวิธี Pap smear ที่มีขั้นตอนในการตรวจและฟังผลหลายครั้ง แต่วิธี VIA ไม่เหมาะกับหญิงไทยทุกคน โดยเฉพาะผู้ที่มีอายุมากกว่า 45 ปีขึ้นไป เนื่องจากเยื่อบุปากมดลูกจะมีการเปลี่ยนแปลง ทำให้ความแม่นยำในการตรวจน้อยลง ดังนั้นจึงควรใช้วิธี Pap smear ในสตรีอายุมากกว่า 45 ปีขึ้นไป

20 เมษายน 2552

Next post > “ เสวนาวิชาการเพื่อวิเคราะห์ปัญหาการสื่อสารสาธารณสุขในประเทศไทย : กลไกการสื่อสารสุขภาพ...ความจริง หรือ บิดเบือน ”

< Previous post นักวิจัย HITAP นำเสนอผลงานวิจัยต่อคณะกรรมาธิการการสาธารณสุข

Related Posts

ข่าวสาร HITAP ล่าสุด