logo
ต้องการข้อมูลเพิ่มเติม ติดต่อฝ่ายสื่อสารองค์กร HITAP
จัดอบรมและศึกษาความเป็นไปได้ในการพัฒนาโครงการนำร่องเพื่อพัฒนาขีดความสามารถด้านการประเมินเทคโนโลยีและนโยบายด้านสุขภาพ ในประเทศแทนซาเนีย

ระหว่างวันที่ 7 – 10 เม.ย. 58 เจ้าหน้าที่ HITAP เดินทางไปประเทศแทนซาเนียเพื่อร่วมหารือความเป็นไปได้ในการพัฒนาขีดความสามารถด้านการประเมินเทคโนโลยีด้านสุขภาพเพื่อสนับสนุนการจัดสรรทรัพยากรด้านสุขภาพของประเทศแทนซาเนีย และจัดการอบรมเบื้องต้นให้แก่เจ้าหน้าที่และบุคลากรที่ดำเนินงานเกี่ยวข้องกับการประเมินเทคโนโลยีด้านสุขภาพ การดำเนินงานในครั้งนี้เกิดขึ้นจากการความร่วมมือของ องค์การ PATH ภายใต้โครงการ Access to Delivery Partnership (ADP) ของ โครงการพัฒนาแห่งสหประชาชาติ (UNDP) และสนับสนุนโดยไจก้า (Japan International Cooperation Agency-JICA).

เจ้าหน้าที่ HITAP และ PATH ได้สัมภาษณ์เชิงลึกผู้มีส่วนเกี่ยวข้องในระบบสุขภาพของประเทศแทนซาเนีย และมีขอบเขตงานที่เกี่ยวข้องกับการประเมินเทคโนโลยีด้านสุขภาพ (HTA) และการจัดลำดับความสำคัญของปัญหา/การลงทุนด้านสุขภาพ ได้แก่ เจ้าหน้าที่จาก the Quality Assurance Division กระทรวงสาธารณสุข ซึ่งมีหน้าที่จัดทำบัญชียาหลักแห่งชาติ เจ้าหน้าที่ในโครงการ the Global Fund’s Country Coordinating Mechanism (CCM) ซึ่งเป็นผู้ประสานงานระหว่าง Global Fund (GF) และกระทรวงสาธารณสุขเพื่อการลงทุนด้านสุขภาพตามของเขตของ GF ในประเทศแทนซาเนีย และเจ้าหน้าที่จาก the National Institute for Medical Research ซึ่งมีความเชี่ยวชาญในการจัดลำดับความสำคัญของงานวิจัยด้านสุขภาพในระดับประเทศ เพื่อทราบข้อมูลเบื้องต้นของระบบสุขภาพและประเมินความเป็นไปได้ในการนำการประเมินเทคโนโลยีและนโยบายด้านสุขภาพมาสนับสนุนการทำงาน และแสวงหาช่องทางริเริ่มโครงการนำร่องเพื่อเสริมสร้างขีดความสามารถด้านการประเมินเทคโนโลยีฯ ของประเทศแทนซาเนีย

นอกจากนั้นยังได้ร่วมกับหน่วยงาน Priority Cost Effective Lessons for System Strengthening (PRICELESS) ซึ่งเป็นหน่วยงานด้าน HTA ในประเทศแอฟริกาใต้ จัดการอบรมเรื่องการประเมินเทคโนโลยีด้านสุขภาพให้กับ เจ้าหน้าที่จากกระทรวงสาธารณสุข นักวิชาการ นักวิจัย แพทย์ และตัวแทนองค์กรให้ทุนระหว่างประเทศ รวมทั้งร่วมประชุมเพื่อหาวางแนวทางการพัฒนาระบบการประเมินเทคโนโลยีด้านสุขภาพของประเทศแทนซาเนียในอนาคต

จากการดำเนินงานพบว่าประเทศแทนซาเนียมีความต้องการใช้ HTA ในหลายส่วน สถานการณ์สำคัญ ได้แก่ การพัฒนาระบบประกันสุขภาพถ้วนหน้าในประเทศ และประเทศแทนซาเนียได้ครบวาระห้าปีของการปรับปรุงบัญชียาหลักแห่งชาติ ซึ่งเป็นโอกาสสำคัญที่ HTA จะเข้ามามีบทบาท ผู้เกี่ยวข้องในระบบสุขภาพสะท้อนให้เห็นปัญหาที่พบคือทรัพยากรในระบบสุขภาพส่วนใหญ่มาจากการสนับสนุนของหน่วยงานให้ทุนภายนอกประเทศ ซึ่งผู้ให้ทุนต่างก็มีหัวข้อและการลงทุนด้านสุขภาพที่หน่วยงานของตนให้ความสนใจ ทำให้การจัดลำดับความสำคัญของปัญหาและการลงทุนด้านสุขภาพไม่สอดคล้องกับความต้องการของประเทศ นอกจากนั้นระบบการบริหารงานแบบกระจายอำนาจสู่ท้องถิ่น ซึ่งได้ให้อำนาจการบริหารและการจัดบริการด้านสุขภาพแก่ท้องถิ่นยังส่งผลให้เกิดความแปลกแยกของการให้บริการด้านสุขภาพ กล่าวคือ แต่ละท้องถิ่นต่างก็ดำเนินการตามแผนของพื้นที่ซึ่งหลายครั้งละเลยปัญหาร่วมในระดับประเทศซึ่งต้องการการแก้ไขที่เป็นไปในทิศทางเดียวกัน

ทั้งนี้มีแนวโน้มว่าการดำเนินโครงการนำร่องเพื่อสนับสนุนการพัฒนาขีดความสามารถด้าน HTA ในประเทศแทนซาเนีย จะเริ่มจากการสนับสนุนการปรับปรุงบัญชียาหลักแห่งชาติในวาระที่กำลังจะมาถึงซึ่งคาดว่าจะเริ่มดำเนินการปลายปี พ.ศ. 2558 ส่วนบทบาทของ HITAP จะสนับสนุนให้ PATH ซึ่งเป็นผู้ประสานงานหลักร่วมมือกับ PRICELESS ซึ่งเป็นหน่วยงานที่ดำเนินงานอยู่ในทวีปแอฟริกา และมีความเชี่ยวชาญในระดับพื้นที่เป็นแกนในการประสานงานกับผู้เกี่ยวข้องในประเทศแทนซาเนียเพื่อพัฒนาโครงการเสริมสร้างขีดความสามารถด้าน HTA ต่อไป โดย HITAP จะให้คำแนะนำและการสนับสนุนตามความเหมาะสม

29 เมษายน 2558

Next post > ประชุมผู้เชี่ยวชาญโรคหืดในเด็ก ร่วมพัฒนาแนวทางการวินิจฉัยและรักษาที่เหมาะสม

< Previous post HITAP จัดอบรม HTA Workshop และเปิดเวทีเสวนาเรื่อง “HTA เพื่อการพัฒนาชุดสิทธิประโยชน์ ภายใต้ระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า”

Related Posts

ข่าวสาร HITAP ล่าสุด