logo
ต้องการข้อมูลเพิ่มเติม ติดต่อฝ่ายสื่อสารองค์กร HITAP
นำเสนอผลการสำรวจการใช้เครื่องช่วยฟังต่อผู้ให้บริการและผู้รับบริการ

คณะวิจัยโครงการการศึกษาระบบบริการหลังการให้เครื่องช่วยฟังและการใช้เครื่องช่วยฟังของคนพิการทางการได้ยินในระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติจัดสนทนากลุ่มผู้ให้บริการและผู้รับบริการเพื่อตรวจสอบความถูกต้องของงานวิจัยจากการสำรวจผู้พิการทางการได้ยินที่ได้รับเครื่องช่วยฟังจาก สปสช.

เมื่อวันที่ 18-19 สิงหาคม 2559 HITAP จัดการสนทนากลุ่มกับผู้ให้บริการและผู้รับบริการเครื่องช่วยฟัง เพื่อเป็นข้อมูลในการวิจัยเรื่องการศึกษาระบบบริการหลังการให้เครื่องช่วยฟังและการใช้เครื่องช่วยฟังของคนพิการทางการได้ยินในระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ โดยแบ่งเป็นวันที่ 18 สิงหาคม 2559 เป็นการสนทนากลุ่มผู้ให้บริการในประเด็นเรื่อง ผลการสำรวจการเข้ารับการติดตาม (Follow up) ของผู้มารับบริการเครื่องช่วยฟัง อุปสรรคที่ผู้รับบริการไม่มารับการ follow up การให้ข้อมูลเกี่ยวกับเครื่องช่วยฟังแก่ผู้มารับริการ ความเหมาะสมของเครื่องช่วยฟังต่อผู้ใช้บริการ การให้แบตเตอรี่และจำนวนสถานบริการ และสิ่งที่ผู้รับบริการอยากให้ปรับปรุงในการให้บริการ การประชุมครั้งนี้มีผู้เข้าร่วมจากหน่วยงานต่าง ๆ ได้แก่ โรงพยาบาลปทุมธานี โรงพยาบาลหาดใหญ่ โรงพยาบาลสระบุรี และโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบลไขแสงกำเนิดมี จังหวัดนนทบุรี

ส่วนวันที่ 19 สิงหาคม 2559 เป็นการสนทนากลุ่มกับผู้รับบริการ การสนทนากลุ่มประกอบด้วยการนำเสนอผลการศึกษาเชิงสำรวจกลุ่มผู้พิการทางการได้ยิน ผลการสำรวจแบ่งเป็นประเด็นต่าง ๆ ดังนี้ ประเภทเครื่องช่วยฟังที่ใช้ การใช้เครื่องช่วยฟัง ปัญหาจากการใช้เครื่องช่วยฟัง อุปสรรคในการใช้แบตเตอรี่ ความสามารถในการจ่ายแบตเตอรี่ และระยะเวลาการประกันเครื่อง/การเบิกเครื่องใหม่ โดยมีผู้เข้าร่วมจากหน่วยงานต่าง ๆ ได้แก่ สมาคมคนหูหนวกแห่งประเทศไทย และสำนักงานบริหารการศึกษาพิเศษ สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน กระทรวงศึกษาธิการ การสนทนากลุ่มทั้งสองกลุ่มนี้ ผู้ให้บริการและผู้รับบริการต่างเห็นตรงกันว่า หากภาครัฐจะสนับสนุนแบตเตอรี่ให้กับผู้ใช้โดยไม่เสียค่าใช้จ่ายนั้นเป็นนโยบายที่ดี แต่ควรจะมีระบบตรวจสอบที่ดีด้วย ผลการประชุมนี้จะนำไปตรวจสอบความถูกต้องของงานวิจัยจากการสำรวจผู้พิการทางการได้ยินที่ได้รับเครื่องช่วยฟังจากสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) 5 จังหวัด และเพื่อแลกเปลี่ยนและเสนอความคิดเห็นเกี่ยวกับประเด็นต่าง ๆ ร่วมกับผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย ส่วนผลการวิจัยนี้จะนำไปจัดทำข้อเสนอในการพัฒนาระบบบริการหลังการให้บริการเครื่องช่วยฟังภายใต้ระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ได้แก่ การหารูปแบบและความเป็นไปได้ในการให้บริการหลังการให้เครื่องช่วยฟังและศึกษาภาระงบประมาณการสนับสนุนการให้บริการหลังให้เครื่องช่วยฟัง

ติดตามรายงานการประชุมได้ที่ https://www.hitap.net/research/139482

29 สิงหาคม 2559

Next post > อบรมการประเมินความคุ้มค่าทางการแพทย์ ครั้งที่ 12 พัฒนาศักยภาพนักวิจัย

< Previous post การประชุมผู้เชี่ยวชาญเพื่อการประเมินความคุ้มค่าทางเศรษฐศาสตร์ของการใช้แปรงสีฟันไฟฟ้า

Related Posts

ข่าวสาร HITAP ล่าสุด