logo

สปสช. และ HITAP ขอเชิญท่านมาร่วมเป็นส่วนสำคัญในการยกระดับบริการสุขภาพของประเทศไทย ด้วยการตอบแบบสอบถามในหัวข้อ “การปฏิบัติงานตามนโยบาย 30 บาทรักษาทุกที่ ด้วยบัตรประชาชนใบเดียว”

ต้องการข้อมูลเพิ่มเติม ติดต่อฝ่ายสื่อสารองค์กร HITAP
ประชุมผู้เชี่ยวชาญโครงการพัฒนาข้อเสนอเพื่อการปรับปรุงการตรวจสุขภาพ และประกันสุขภาพคนต่างด้าวในประเทศไทยครั้งที่ 2

HITAP จัดประชุมผู้เชี่ยวชาญโครงการพัฒนาข้อเสนอเพื่อการปรับปรุงการตรวจสุขภาพและประกันสุขภาพคนต่างด้าวในประเทศไทยครั้งที่ 2 เพื่อจัดลำดับความสำคัญของปัญหาสุขภาพคนต่างด้าวที่ควรมีการตรวจสุขภาพและประกันสุขภาพ  โดยมี ภญ.ธนพร บุษบาวไล นักวิจัยหลักของโครงการฯ พร้อมทีมผู้ช่วยนักวิจัย นำเสนอโครงการ

เมื่อวันที่ 17 พฤศจิกายน 2560 HITAP จัดประชุมผู้เชี่ยวชาญ โครงการพัฒนาข้อเสนอเพื่อการปรับปรุงการตรวจสุขภาพและประกันสุขภาพคนต่างด้าวในประเทศไทยครั้งที่ 2 โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อจัดลำดับความสำคัญของปัญหาสุขภาพคนต่างด้าวที่ควรมีการตรวจสุขภาพและประกันสุขภาพ โดยมีผู้เชี่ยวชาญและผู้มีส่วนเกี่ยวข้องต่าง ๆ เข้าร่วมประชุมแลกเปลี่ยนความคิดเห็นและให้ข้อเสนอแนะในการจัดลำดับความสำคัญของโรคที่เป็นปัญหาสุขภาพของคนต่างด้าว ซึ่งเกณฑ์ในการจัดลำดับความสำคัญฯ ประกอบด้วย 1) ปัญหาสุขภาพที่มีความสำคัญ พบบ่อยในคนต่างด้าว หรือปัญหาสุขภาพที่ทำให้คุณภาพชีวิตแย่ลง เกิดความพิการหรือเสียชีวิต 2) ปัญหาสุขภาพที่สามารถตรวจพบได้ง่าย และมีบริการทางการแพทย์รองรับทั้งในด้านการป้องกันและการรักษา รวมถึงมีความเป็นไปได้ในทางปฏิบัติ และ 3) เป็นปัญหาสุขภาพที่มีความแตกต่างในทางปฏิบัติระหว่างคนต่างด้าวและคนไทย

สำหรับกระบวนการจัดลำดับความสำคัญของปัญหาสุขภาพคนต่างด้าว ในขั้นแรกให้ผู้เชี่ยวชาญคัดเลือก 20 โรคหรือปัญหาที่มีความสำคัญ โดยแบ่งเป็นโรคติดต่อ 10 โรค และโรคไม่ติดต่อ 10 โรค หลังจากนั้น ขั้นที่สองและสาม ให้ผู้เชี่ยวชาญเรียงลำดับโรคจำนวน 10 โรค (ที่คัดเลือกได้จากขั้นแรก) ตามความสำคัญทั้งโรคติดต่อและโรคไม่ติดต่อ และนำมาวิเคราะห์ผล สรุปปัญหาที่มีความสำคัญ ซึ่งผู้เชี่ยวชาญได้อภิปรายร่วมกันและให้ข้อสรุปถึงปัญหาที่มีความสำคัญโดยเป็นโรคติดต่อ อาทิ วัณโรค โรคเอดส์ การฉีดวัคซีนเพื่อสร้างเสริมภูมิคุ้มกัน และโรคไม่ติดต่อ อาทิ การตั้งครรภ์ โรคเบาหวาน ความผิดปกติในทารกแรกเกิด โดยผู้เชี่ยวชาญให้ความเห็นตรงกันว่ายังไม่สามารถจัดอันดับความสำคัญของโรคได้ เพราะทุกโรคมีความสำคัญและยังไม่มีข้อมูลเพียงพอที่จะระบุได้ว่าโรคใดมีความสำคัญมากที่สุดหรือน้อยที่สุด

ทั้งนี้จากการคัดเลือกโรคที่มีความสำคัญทั้งโรคติดต่อ และโรคไม่ติดต่อรวม 20 โรคนั้น ทีมวิจัยของโครงการฯ จะนำไปพิจารณา ทบทวนวรรณกรรมที่เกี่ยวข้องกับประสิทธิภาพ และความคุ้มค่าทางเศรษฐศาสตร์ของมาตรการการตรวจสุขภาพและมาตรการทางการแพทย์ พัฒนาร่างมาตรการการตรวจสุขภาพและชุดสิทธิประโยชน์ที่เหมาะสมที่ได้จากการทบทวนวรรณกรรม ประมาณการผลกระทบทางด้านงบประมาณ และนำเสนอผลดังกล่าวร่วมกับผู้มีส่วนได้ส่วนเสียเพื่อรับฟังความคิดเห็นต่อไป

30 พฤศจิกายน 2560

Next post > ประชุมผู้เชี่ยวชาญครั้งที่ 3 การพัฒนาแบบจำลองการประเมินความคุ้มค่าทางเศรษฐศาสตร์ ของมาตรการสร้างเสริมสุขภาพในประเทศไทย: กรณีศึกษามาตรการควบคุมการบริโภคเครื่องดื่มแอลกอฮอล์

< Previous post HITAP จัดอบรม Infectious Disease Modelling Course

Related Posts

ข่าวที่เข้าชมมากที่สุด ในรอบ 3 เดือน

ข่าวสาร HITAP ล่าสุด