logo
ต้องการข้อมูลเพิ่มเติม ติดต่อฝ่ายสื่อสารองค์กร HITAP
ประชุมผู้เชี่ยวชาญครั้งที่ 3 การพัฒนาแบบจำลองการประเมินความคุ้มค่าทางเศรษฐศาสตร์ ของมาตรการสร้างเสริมสุขภาพในประเทศไทย: กรณีศึกษามาตรการควบคุมการบริโภคเครื่องดื่มแอลกอฮอล์

นักวิจัย HITAP นำเสนอผลการวิจัยเรื่องการพัฒนาแบบจำลองการประเมินความคุ้มค่าทางเศรษฐศาสตร์ของมาตรการสร้างเสริมสุขภาพ โดยใช้มาตรการการรณรงค์โครงการงดเหล้าเข้าพรรษาเป็นกรณีศึกษา โดยมีผู้เชี่ยวชาญจากหน่วยงานต่าง ๆ ร่วมกันอภิปรายและให้ข้อเสนอแนะต่อผลการวิจัย

เมื่อวันที่ 22 พฤศจิกายน 2560 HITAP จัดประชุมผู้เชี่ยวชาญการพัฒนาแบบจำลองการประเมินความคุ้มค่าทางเศรษฐศาสตร์ของมาตรการสร้างเสริมสุขภาพในประเทศไทย กรณีศึกษามาตรการรณรงค์งดเหล้าเข้าพรรษา นำโดย ภญ. พัทธรา ลีฬหวรงค์ นักวิจัยหลักของโครงการและทีมวิจัยนำเสนอผลการศึกษาการวิเคราะห์ต้นทุนอรรถประโยชน์ (Cost-utility analysis: CUA) ของมาตรการรณรงค์งดเหล้าเข้าพรรษาปี 2559 ผลการศึกษาวิจัยพบว่ามาตรการฯ ทั้งที่ดำเนินโครงการระดับ air war และระดับ ground war มีความคุ้มค่าในบริบทของประเทศไทยทั้งกลุ่มเพศชายและเพศหญิงในทุกช่วงอายุที่ศึกษา

สำหรับงานวิจัยนี้มีวัตถุประสงค์  เพื่อพัฒนาแนวทางการประเมินผลของการดำเนินมาตรการสร้างเสริมสุขภาพในด้านความคุ้มค่าทางเศรษฐศาสตร์ โดยใช้กรณีศึกษามาตรการควบคุมการบริโภคเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ โดยการพัฒนาแบบจำลองเพื่อทำนายผลกระทบด้านสุขภาพจากการบริโภคเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ และประเมินประสิทธิผลของมาตรการดังกล่าว ในหน่วยของปีชีวิต (Life year) ปีสุขภาวะ (Quality adjusted life year: QALY) ต้นทุนตลอดชีพ (Lifetime costs) และต้นทุนของมาตรการ โดยแบบจำลองที่นำมาใช้ในการวิเคราะห์ได้มีการปรับมาจาก Scottish Alcohol Policy Model ที่พัฒนาจากข้อมูลระดับบุคคลของประเทศสกอตแลนด์ (สหราชอาณาจักร) เพื่อทำนายผลกระทบด้านสุขภาพและต้นทุนการนอนโรงพยาบาลจากการบริโภคเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ได้แก่ การนอนโรงพยาบาลจากสภาวะของโรคที่เกี่ยวข้องกับการดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ และการเสียชีวิตทั้งจากสภาวะของโรคที่เกี่ยวข้องกับการดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์และจากสาเหตุอื่น ๆ จากแบบจำลองที่พัฒนาขึ้นจะนำไปใช้ในการวิเคราะห์ขั้นต่อไปโดยใช้ข้อมูลด้านระบาดวิทยา ข้อมูลต้นทุนและคุณภาพชีวิต จากการเก็บข้อมูลและจากการทบทวนวรรณกรรมของประเทศไทยเพื่อปรับแบบจำลองให้เข้ากับบริบทของประเทศไทย และคำนวณผลกระทบด้านสุขภาพและต้นทุนตลอดชีพจากการบริโภคเครื่องดื่มแอลกอฮอล์

ทั้งนี้ข้อมูลที่ใช้ในการปรับแบบจำลองมาจากการสำรวจและฐานข้อมูลระดับประเทศ โดยสมมติฐานและตัวแปรต่าง ๆ ที่ใช้ในแบบจำลองได้ผ่านการปรึกษาผู้เชี่ยวชาญ รวมถึงได้ทำการวิเคราะห์ความไม่แน่นอนของผลลัพธ์ที่มีสาเหตุมาจากตัวแปรที่ใช้ในแบบจำลอง (parameter uncertainty) นอกจากนี้การวิเคราะห์ผลของมาตารการฯ ต่อผลลัพธ์ด้านสุขภาพในระยะยาว (ตลอดชีวิต) โดยยังไม่รวมผลลัพธ์ด้านอื่น ๆ เช่น การขาดประสิทธิภาพการทำงาน และผลกระทบต่อผู้อื่น และด้านอื่น ๆ ที่ไม่ใช่ด้านสุขภาพ

ติดตามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ https://www.hitap.net/research/167942

1 ธันวาคม 2560

Next post > The beginning of new friendship between HITAP and GAVI

< Previous post ประชุมผู้เชี่ยวชาญโครงการพัฒนาข้อเสนอเพื่อการปรับปรุงการตรวจสุขภาพ และประกันสุขภาพคนต่างด้าวในประเทศไทยครั้งที่ 2

Related Posts

ข่าวสาร HITAP ล่าสุด