logo
ต้องการข้อมูลเพิ่มเติม ติดต่อฝ่ายสื่อสารองค์กร HITAP

การรับฟังความคิดเห็นต่อร่างมาตรฐานการทำงาน

ในโครงการพัฒนาข้อเสนอเพื่อการปรับปรุงชุดสิทธิประโยชน์และระบบบริการด้านการสร้างเสริมสุขภาพและป้องกันโรค สำหรับปีงบประมาณ 2559

ภายใต้ระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า

บทนำ
การสร้างเสริมสุขภาพและป้องกันโรคเป็นกระบวนการสำคัญที่มุ่งให้ประชาชนมีศักยภาพในการดูแลรักษาสุขภาพ ลดโอกาสเกิดโรคและความเจ็บป่วย และมีคุณภาพชีวิตที่ดี ทั้งนี้ด้วยการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมส่วนบุคคลและการจัดการกับสิ่งแวดล้อมเป็นหลัก อย่างไรก็ตาม การดำเนินการดังกล่าวจำเป็นต้องได้รับการสนับสนุนจากระบบบริการสุขภาพรวมทั้งหน่วยงานต่างๆ ในปัจจุบันหน่วยงานที่มีบทบาทในการสร้างเสริมสุขภาพและป้องกันโรคในประเทศไทย มีหลากหลายไม่ว่าจะเป็น กระทรวงสาธารณสุข สำนักงานหลักประกันสุขภาพ (สปสช.) สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) สถาบันวิจัยระบบสาธารณสุข (สวรส.) สำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ (สช.) สถาบันวิชาการด้านสุขภาพเครือข่ายวิชาชีพด้านสุขภาพ องค์กรพัฒนาสาธารณประโยชน์ เครือข่ายประชาสังคมที่ทำงานเกี่ยวกับสุขภาพ ภาคเอกชน ฯลฯ

ในปี พ.ศ. 2557 กระทรวงสาธารณสุข และ สปสช. ได้เล็งเห็นความสำคัญในการพัฒนาชุดสิทธิประโยชน์ด้านการสร้างเสริมสุขภาพและป้องกันโรคและชุดดูแลสุขภาพตามกลุ่มวัยร่วมกัน เพื่อให้มีความสอดคล้องและสนับสนุนซึ่งกันและกัน จึงได้ร่วมมือกับโครงการประเมินเทคโนโลยีและนโยบายด้านสุขภาพ (HITAP) ในการพัฒนาข้อเสนอเพื่อการปรับปรุงชุดสิทธิประโยชน์ด้านการสร้างเสริมสุขภาพและป้องกันโรค สำหรับปีงบประมาณ 2559 ขึ้น โดยมีวัตถุประสงค์ของโครงการฯ คือ เพื่อจัดทำข้อเสนอรายการสิทธิประโยชน์ด้านการสร้างเสริมสุขภาพและป้องกันโรค สำหรับประชากรทุกกลุ่มอายุ ภายใต้หลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า สำหรับใช้เป็นแนวทางในการดำเนินงานในปีงบประมาณ 2559 โดยการพิจารณาข้อเสนอวางอยู่บนหลักฐานเชิงประจักษ์ด้านประสิทธิผลและ/หรือความคุ้มค่าทางเศรษฐศาสตร์และสุขภาพ รวมทั้งดำเนินงานอย่างเป็นระบบ โปร่งใส และมีส่วนร่วมจากผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย

นอกจากนี้ วัตถุประสงค์สำคัญอีกประการหนึ่งในโครงการฯ คือการจัดทำมาตรฐานการทำงาน (quality standard) เพื่อใช้เป็นแนวทางในการทำงานสำหรับผู้ที่เกี่ยวข้องให้มีมาตรฐาน เกิดประโยชน์ตามเป้าประสงค์ของการทำงานอย่างแท้จริง และเป็นแนวทางสำหรับผู้บริหารใช้ในการบริหารจัดการและวางแผนติดตามและประเมินผลการดำเนินงานทั้งในระดับประเทศและระดับสถานพยาบาล ดังนั้นการรับฟังความคิดเห็นจากภาคส่วนต่างๆ ที่เกี่ยวข้องจะทำให้มาตรฐานการทำงานมีความเหมาะสมสอดคล้องกับบริบทของประเทศไทยมากยิ่งขึ้น ทำให้เกิดประโยชน์สูงสุดในการนำมาตรฐานการทำงานไปใช้จริง

วัตถุประสงค์
เพื่อรับฟังความคิดเห็นข้องจากภาคส่วนต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง เกี่ยวกับปัญหา อุปสรรคและช่องว่างของร่างมาตรฐานการทำงาน รวมทั้งเสนอแนะข้อมูลเพิ่มเติมที่เกี่ยวข้องกับร่างมาตรฐานการทำงานใน 4 หัวข้อ ต่อไปนี้
1.  ร่างมาตรฐานการทำงานการป้องกันโลหิตจางในเด็ก
2.  ร่างมาตรฐานการทำงานการตรวจกลุ่มอาการดาวน์ในหญิงตั้งครรภ์
3.  ร่างมาตรฐานการทำงานการประเมินความเสี่ยงต่อการเกิดโรคหัวใจและหลอดเลือด
4.  ร่างมาตรฐานการทำงานการตรวจคัดกรองภาวะหัวใจเต้นผิดจังหวะชนิด Atrial Fibrillation

ขอบเขตของข้อมูล
ร่างมาตรฐานการทำงานทั้ง 4 ฉบับนี้ประกอบไปด้วย รายละเอียดขั้นตอนการดำเนินงาน ผู้ปฏิบัติงาน สถานที่ปฏิบัติงาน แนวทางการบริหารจัดการ และแนวทางการติดตามและประเมินผลการดำเนินงาน โดยอ้างอิงข้อมูลจากแนวทางเวชปฏิบัติในระดับประเทศ หลักฐานทางวิชาการ และความคิดเห็นของผู้เชี่ยวชาญในสาขาที่เกี่ยวข้อง

ผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้องในการแสดงความคิดเห็น
ผู้ที่มีสิทธิในการให้ข้อมูลและแสดงความคิดเห็นต่อร่างมาตรฐานการทำงานต้องมาจากภาคส่วนต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง ได่แก่ บุคลากรทางการแพทย์และผู้ปฎิบัติงานในสถานพยาบาลทุกระดับ (โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล โรงพยาบาลชุมชน โรงพยาบาลทั่วไป และโรงพยาบาลศูนย์) หน่วยงานที่เกี่ยวข้องภายใต้กระทรวงสาธารณสุข (กรมควมคุมโรค กรมการแพทย์ กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ กรมอนามัย กรมสุขภาพจิต ฯลฯ) และประชาชนทั่วไป

ผู้พิจารณาความคิดเห็น
คณะทำงานเพื่อพิจารณาผลการทบทวนวรรณกรรมและข้อเสนอเชิงนโยบายเบื้องต้นสำหรับโครงการพัฒนาข้อเสนอเพื่อการปรับปรุงชุดสิทธิประโยชน์และระบบบริการด้านการสร้างเสริมสุขภาพและป้องกันโรค ซึ่งมี นายแพทย์สุริยะ วงศ์คงคาเทพ รองปลัดกระทรวงสาธารณสุข เขต 5 เป็นประธานคณะทำงานฯ

ช่องทางการรับฟังความคิดเห็น
1. ส่งจดหมายมาที่ “โครงการประเมินเทคโนโลยีและนโยบายด้านสุขภาพ ชั้น 6 อาคาร 6 กรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข ถ.ติวานนท์ อ.เมือง จ.นนทบุรี 11000” (ระบุมุมซอง “ข้อเสนอแนะมาตรฐานคุณภาพการทำงาน”)
2. ส่งจดหมายอิเล็กทรอนิกส์มาที่
[email protected] (ร่างมาตรฐานการทำงานการป้องกันโลหิตจางในเด็ก)
[email protected] (ร่างมาตรฐานการทำงานการตรวจกลุ่มอาการดาวน์ในหญิงตั้งครรภ์)
[email protected] (ร่างมาตรฐานการทำงานการประเมินความเสี่ยงต่อการเกิดโรคหัวใจและหลอดเลือด)
[email protected] (ร่างมาตรฐานคุณภาพการทำงานการตรวจคัดกรองภาวะหัวใจเต้นผิดจังหวะชนิด Atrial Fibrillation)

ระยะเวลาในการรับฟังความคิดเห็น
เปิดรับฟังความคิดเห็นตั้งแต่วันนี้ ถึง 28 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2558

9 ธันวาคม 2557

Next post > ทีมวิจัยนำเสนอผลประเมินความคุ้มค่าเบื้องต้น รายการยาต่อคณะทำงานเศรษฐศาสตร์สาธารณสุข

< Previous post 12ท่ายากสำหรับผู้สูงอายุ

Related Posts

ข่าวสาร HITAP ล่าสุด