โย่ว และนี่คือปัญหาที่อยู่ในวัด ทุกข์ “พระ” โภชนาการ ปัญหาเร่งด่วนของโรคเรื้อรังในพระสงฆ์ที่ถูกมองข้าม

การประชุมเพื่อกำหนดกรอบและคำถามการวิจัย
เมื่อวันที่ 6 ตุลาคม 2552 ภญ.เสาวลักษณ์ ตุรงคราวี นักวิจัย HITAP ในฐานะนักวิจัยหลักในโครงการ “การประเมินนโยบายบัญชียา จ ข้อย่อยสอง ของบัญชียาหลักแห่งชาติ พ.ศ. 2551” โดยการสนับสนุนจากสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) พร้อมด้วย ดร.นพ.ยศ ตีระวัฒนานนท์ ดร.ภญ. ศรีเพ็ญ ตันติเวสส และ ผศ.ดร.ภญ.อุษา ฉายเกร็ดแก้ว ในฐานะนักวิจัยร่วม ได้เรียนเชิญผู้เชี่ยวชาญจากหน่วยงานต่างๆ ประกอบด้วย สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ, กรมบัญชีกลาง, สำนักงานประกันสังคม, กองควบคุมยา สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา, โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์, สถาบันมะเร็งแห่งชาติ, โรงพยาบาลพระมงกุฎเกล้า, โรงพยาบาลศิริราช และองค์การเภสัชกรรม เข้าร่วมประชุมเพื่อกำหนดกรอบและคำถามการวิจัย ณ ห้องประชุม HITAP 1 ชั้น 6 อาคาร 6 กรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข
สำหรับการประชุมในครั้งนี้จัดขึ้นเพื่อระดมความคิดเห็นจากผู้เชี่ยวชาญในการกำหนดกรอบและคำถามการวิจัยที่มีความชัดเจน ทั้งกำหนดแนวทางการวิจัย ระเบียบวิธีการวิจัยที่ควรใช้ และแหล่งข้อมูลสำคัญที่จำเป็นต่อการวิจัย
โดยในที่ประชุมได้มีการนำเสนอข้อมูลที่เกี่ยวข้องจากผู้เชี่ยวชาญจากหน่วยงานต่างๆ ประกอบด้วย ที่มาและความสำคัญของการประเมินนโยบายการดำเนินการใช้ยาในบัญชียาหลักแห่งชาติที่มีมูลค่าสูงในกลุ่มบัญชียา จ.(2) โดย ภญ.วรรนิษา เถียรทวี สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา ประสบการณ์ในการใช้ยาในบัญชียา จ.(2) ปัญหาและอุปสรรคที่พบ ในมุมมองของแพทย์ โดย นพ.วิโรจน์ เหล่าสุนทรศิริ สถาบันมะเร็งแห่งชาติ และประสบการณ์ในการใช้ยาในบัญชี จ.(2) ปัญหาและอุปสรรคที่พบ ในมุมมองของเภสัชกร โดย ภญ.ปณิตา จันทปัชโชติ โรงพยาบาลศิริราช ในเบื้องต้นที่ประชุมเห็นสมควรกำหนดกรอบการวิจัยเป็น 4 ประเด็นหลัก ดังนี้ (1) การประเมินหลักการและกระบวนการพัฒนานโยบายบัญชียา จ(2) (2) การประเมินระบบและกลไกการบริหารจัดการทั้งในระดับประเทศและระดับหน่วยงาน (3)การประเมินการเข้าถึงยาและผลลัพธ์ด้านสุขภาพ (4) การประเมินทางเศรษฐศาสตร์สาธารณสุข โดยทำการศึกษาและรวบรวมข้อมูลจากแหล่งต่างๆ ดังนี้ คณะอนุกรรมการและคณะทำงานบัญชียาหลักแห่งชาติ, ระบบประกันสุขภาพทั้ง 3 ระบบ, องค์การเภสัชกรรม, แพทย์, เภสัชกร, ผู้ป่วย,บริษัทยา, โรงพยาบาลระดับ ปฐมภูมิ ทุติยภมิและตติยภูมิ ในขั้นตอนต่อไปนักวิจัยจะรวบรวมข้อมูลเพิ่มเติมโดยใช้วิธีทบทวนเอกสาร สัมภาษณ์เชิงลึก และ/หรือการจัดประชุมกลุ่ม (focus group discussion) และนำเสนอต่อคณะผู้เชี่ยวชาญเพื่อกำหนดคำถามวิจัยและคัดเลือกรายการยาที่จะประเมินต่อไป